xs
xsm
sm
md
lg

เผยผลสำรวจโควิด-19 ทำคนไทยตกงานกว่า 5.8 ล้านคน น้ำท่วมซ้ำ หวั่นคนตกงานพุ่ง สสส. ผุดกิจกรรม “เสาร์สร้างสรรค์” สอนทักษะพัฒนาความรู้ 3 ด้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2564 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม “เสาร์สร้างสรรค์” ภายใต้โครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะ โดยนายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ รองประธานกรรมการบริหารแผนเปิดรับทั่วไปและนวัตกรรม คณะ 6 สสส. กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สร้างผลกระทบโดยตรงกับคนไทยอย่างรุนแรง โดยเฉพาะวัยแรงงาน เพราะเศรษฐกิจหยุดชะงัก ขาดศักยภาพในการพึ่งพาตนเอง กระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของครัวเรือน ส่งผลต่อสุขภาวะของประชาชน จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2564 พบประชากรกลุ่มวัยทำงาน เป็นผู้ว่างงานกว่า 7.6 แสนคน และเป็นผู้เสมือนว่างงาน หรือทำงานในภาคเกษตรกว่า 4.3 ล้านคน และมีผู้ที่มีงานทำแต่ไม่ได้รับค่าจ้างกว่า 7.8 แสนคน ที่สำคัญยังพบว่า กลุ่มวัยทำงานส่วนมากไม่มีเงินใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน มีทักษะเชิงเดี่ยวไม่สามารถปรับตัวเพื่อประกอบอาชีพอื่นได้ในทันที จากการระบาดของโควิด-19 ที่ยาวนาน ประกอบกับวิกฤตน้ำท่วมล่าสุด จึงมีแนวโน้มที่จะมีคนว่างงานและคนที่มีรายได้น้อยลงเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตที่ดีลดลง เพราะขาดรายได้ ขาดโอกาส ขาดความรู้ในการพัฒนาศักยภาพตัวเอง

นายวีรพงษ์ กล่าวว่า สสส. ริเริ่มโครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะ สนับสนุนทุนเพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมสร้างเสริมสุขภาพกว่า 100 โครงการ ผ่านหน่วยจัดการ (Node) 5 หน่วยจัดการครอบคลุมทุกภูมิภาค การจัดกิจกรรม “เสาร์สร้างสรรค์” ครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดพื้นที่ให้หน่วยจัดการเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ วิธีการทำงาน กลไกการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้ประเด็นการทำงาน 3 ด้าน คือ 1.ความมั่นคงทางอาหาร : ทางรอดท่ามกลางวิกฤต 2.การสร้างความรอบรู้ ทักษะ การจัดการสุขภาพ : เพื่อเผชิญวิกฤต และ 3.การส่งเสริมอาชีพและรายได้กับการลดผลกระทบจากวิกฤต มุ่งเสริมความรู้ สร้างทักษะ เพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะวัยแรงงาน นำความรู้ไปพัฒนาการศักยภาพตัวเองสู่การมีทักษะในการปรับตัวให้อยู่รอดในทุกวิกฤต โดยมีเป้าหมายผู้เข้าร่วมกิจกรรม 1,000 คน


นางสาววรางคนางค์ นิ้มหัตถา ประธานสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) และหัวหน้าหน่วยจัดการส่งเสริมเกษตรในเมือง สสส. กล่าวว่า การส่งเสริมเกษตรในเมือง เพื่อความมั่นคงทางอาหารในชุมชน ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่เปิดโอกาสให้คนเมืองได้เริ่มต้นสู่การพึ่งพาตนเอง ที่เริ่มจากการผลิตอาหาร สู่การฟื้นฟูคุณภาพชีวิต โดยส่งเสริมการทำงานของชุมชน 4 ข้อ ดังนี้ 1.พัฒนาเพิ่มขีดความสามารถด้านความรู้ ทักษะการทำเกษตรในเมือง การพึ่งตนเองด้านอาหารในเมือง จากการเพราะปลูกพืชผัก เลี้ยงไก่ไข่ โดยมีทีมพี่เลี้ยงที่มีความเชี่ยวชาญลงพื้นที่ให้ความรู้ 2.สร้างแหล่งผลิตอาหารเพื่อสุขภาวะในชุมชน ยกระดับการพึ่งพาตนเอง ลดค่าใช้จ่ายครัวเรือน มีทักษะการทำการเกษตรกับการพัฒนาสุขภาวะองค์รวม ทั้งร่างกาย จิตใจ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 3.แบ่งปันอาหารสู่กลุ่มเปราะบางในพื้นที่อย่างเท่าเทียม และจำหน่ายอาหารในราคาถูกแก่คนในชุมชน และ 4.พัฒนาเศรษฐกิจในชุมชน โดยเสริมศักยภาพชุมชนให้พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปส่งออกสู่พื้นที่อื่นๆ ได้

นางสาววรางคนางค์ กล่าวว่า การส่งเสริมการทำเกษตรในเมือง ได้นำร่องใน 6 จังหวัด 30 ชุมชน ได้แก่ กรุงเทพฯ 19 ชุมชน ปทุมธานี 3 ชุมชน สมุทรปราการ 3 ชุมชน สมุทรสาคร 2 ชุมชน ชลบุรี 2 ชุมชน และนนทบุรี 1 ชุมชน คนในชุมชนสร้างแหล่งผลิตอาหารได้ด้วยตัวเอง สามารถลดรายจ่ายในครัวเรือนได้ถึง 300-500 บาทต่อวัน มีคนในชุมชนเข้าร่วมเป็นแกนนำกว่า 1,000 คน มุ่งเป้ากระจายความมั่นคงด้านอาหารไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบในชุมชนเมืองทั่วประเทศ ลดความเปราะบางด้านอาหารแม้ต้องเผชิญภาวะวิกฤต


นายสุวิทย์ หมาดอะดำ หัวหน้าหน่วยจัดการฟื้นฟูคุณภาพชีวิต และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤต เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะจังหวัดภาคใต้ สสส. กล่าวว่า การฟื้นฟูคุณภาพชีวิต และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤต เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะจังหวัดภาคใต้ มีขั้นตอนทำงาน 3 ข้อ ดังนี้ 1.ชักชวนผู้นำชุมชนและผู้ที่สนใจในพื้นที่มาร่วมเป็นแกนนำสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้แก่คนในชุมชน 2.พัฒนาทักษะแกนนำ เสริมความเข้าใจเรื่องการสร้างแหล่งผลิตอาหารในชุมชน รวมถึงการจัดการการเงินในชุมชน โดยให้ฝึกวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาด้านการเงินรายบุคคล และ 3.กระจายอาหารสู่คนในชุมชนอย่างทั่วถึง สามารถลดรายจ่ายในครัวเรือน 20-40 บาทต่อวัน ขณะนี้ มีพื้นที่นำร่องใน 5 จังหวัด 15 พื้นที่ ได้แก่ สงขลา 3 พื้นที่ สตูล 3 พื้นที่ ปัตตานี 3 พื้นที่ ยะลา 3 พื้นที่ และนราธิวาส 3 พื้นที่ มีคนในชุมชนเข้าร่วมเป็นแกนนำกว่า 300 คน โดยตั้งเป้าหมายจะขยายพื้นที่เพื่อกระจายความมั่นคงด้านอาหารไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ ภายในปี 2565

สำหรับกิจกรรม “เสาร์สร้างสรรค์” ถ่ายทอดสดในวันเสาร์ที่ 2, 16 และ 30 ตุลาคม เวลา 14.00-16.00 น. ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ สร้างสรรค์โอกาส และ สสส.








กำลังโหลดความคิดเห็น