กระอัก! “อานนท์” เจอหนัก ถูกสองศาลใหญ่สั่งขังต่อ-ไม่ให้ประกันคดี ม.112 ขณะอัยการแจ้งเพิ่มอีก 2 ข้อหา นักวิชาการมองปรากฏการณ์ “ป้าเป้า” น่าเป็นห่วง “อดีตบิ๊กข่าวกรอง” ฟาดใคร? “คนโกง” อยากได้ รธน.40
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (2 ต.ค. 64) เพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH โพสต์ประเด็น อานนท์กระอัก! สองศาลใหญ่สั่งขังต่อ-ไม่ให้ประกันคดี ม.112 ขณะอัยการแจ้งเพิ่มอีก 2 ข้อหา
โดยเนื้อหาอ้างถึง เฟซบุ๊ก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้โพสต์แบนเนอร์พร้อมข้อความ ซึ่งจากการเปิดเผยบางช่วงที่สำคัญ ว่า
วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เวลา 11.00 น. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีนัดไต่สวนคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 7 ของ “อานนท์ นำภา” ทนายความและนักกิจกรรม ในคดีมาตรา 112 จากกรณีปราศรัยครบรอบ 1 ปี ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 64 ที่ลานหอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ ต่อมาศาลได้อนุญาตให้ฝากขังอานนท์ต่อไปอีก 7 วัน
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 64 อัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังอานนท์ในคดีนี้เป็นครั้งที่ 7 เป็นระยะเวลา 12 วัน ศาลจึงได้นัดไต่สวนคำร้องในวันนี้
เวลา 10.40 น. การไต่สวนคำร้องขอฝากขังเริ่มต้นขึ้น โดยอานนท์ได้เข้าร่วมผ่านระบบการประชุมทางจอภาพ ถ่ายทอดสัญญาณมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทางพนักงานอัยการได้แถลงว่า
หลังได้จัดส่งสำนวนและหลักฐานต่างๆ ในคดีไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณา เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 64 คณะทำงานของอัยการสูงสุดมีความเห็นอนุญาตให้ฟ้องอานนท์ในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ส่วนในฐานความผิดอื่นๆ ได้ตีกลับสำนวนมาให้อัยการ เพื่อส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมต่อไป
จากเหตุผลดังกล่าว เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 64 พนักงานอัยการจึงได้ยื่นคำร้องขอฝากขังอานนท์ต่อศาลอาญาเป็นครั้งที่ 7 ระยะเวลา 12 วัน นับตั้งแต่วันที่ 2-13 ต.ค. 64 โดยอัยการแถลงเพิ่มเติมว่า ในคดีนี้ ส่วนหนึ่งได้ความเห็นจากอัยการสูงสุดแล้วเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 64 ส่วนความผิดในข้อกล่าวหาอื่นๆ ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบในการทำคดีเพื่อป้องกันความผิดพลาด บกพร่อง และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ในคดีอื่น นอกจากข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 อัยการมองว่า พนักงานสอบสวนยังรวบรวมหลักฐานไม่ครบถ้วน โดยจะขอตีกลับสำนวนให้พนักงานสอบสวนดำเนินการเพิ่มเติมให้ครบถ้วน ดังนี้
ให้แจ้งข้อกล่าวหากับอานนท์เพิ่มเติมในฐานความผิด ฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2. ให้แจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้ครบถ้วน 3. ให้รวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งเป็นพยานบุคคลให้ครบถ้วน
ต่อมา ทนายความผู้ต้องหาได้ซักถามอัยการ โดยอัยการได้เบิกความว่า การเสนอสำนวนคดีให้พิจารณาเป็นระเบียบการทำงานภายในไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับผู้ต้องหา
อัยการได้ตอบทนายว่า การแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมและการสั่งฟ้องผู้ต้องหาสามารถทำได้ แม้ศาลจะมีคำสั่งยกคำร้องขอฝากขังในครั้งนี้ ทนายความผู้ต้องหายังได้ซักถามอัยการอีกว่า “หากศาลยกคำร้องหรือได้ประกัน อัยการเกรงว่าผู้ต้องหาจะออกมาใช้เสรีภาพทางการเมืองหรือไม่” ด้านอัยการตอบว่า “ไม่” ขณะ อานนท์แถลงต่อศาลเป็นคนสุดท้าย โดยได้กล่าวกับศาลว่า “ขอให้ศาลใช้ดุลยพินิจให้เป็นธรรม”
หลังเสร็จสิ้นการไต่สวนคำร้อง ศาลได้นัดฟังคำสั่งในเวลา 14.00 น. ทนายความได้ร้องขอต่อศาลเพื่อพูดคุยกับอานนท์เป็นการส่วนตัว และศาลอนุญาต อานนท์เล่าว่า ขณะนี้ตนเองอยู่ในแดน 3 ของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งต้องอยู่ร่วมกับผู้ต้องขังคนอื่นๆ ภายในห้องขังเดียวกัน รวม 40 คน
ต่อมา เวลา 14.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งให้ฝากขังอานนท์ครั้งที่ 7 เป็นเวลา 7 วัน มีรายละเอียดในคำสั่ง ดังนี้ “เห็นว่า แม้ผู้ต้องหาจะคัดค้านว่าพนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนสอบสวนและความเห็นให้พนักงานอัยการแล้ว แต่พนักงานอัยการก็มีอำนาจสั่งตามที่เห็นสมควร ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 143 วรรคสอง (ก) เมื่อไม่ปรากฏว่าการสอบสวนเพิ่มเติมได้ดำเนินการแล้วเสร็จในวันนี้ กรณีจึงเป็นเหตุจำเป็นให้ขังผู้ต้องหาต่อไป อนุญาตให้ฝากขังต่อไปอีก 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค. 64”
ด้านทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวอานนท์ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้หลังทราบผลการฝากขัง โดยขอวางหลักประกันมูลค่า 300,000 บาท และอ้างเหตุผลประกอบเกี่ยวกับการที่พนักงานอัยการได้แถลงในการไต่สวนคำร้องขอฝากขังในวันนี้ ว่าสามารถแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับผู้ต้องหาได้
ขณะเดียวกัน ทนายความยังได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวอานนท์ ในคดี “ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ ครั้งที่ 1” ต่อศาลอาญา รัชดาฯ อีกคดีหนึ่งด้วย เนื่องจากเป็นคดีที่เขาถูกศาลออกหมายขัง และยังไม่ให้ประกันตัวระหว่างพิจารณา
ต่อมาในเวลาประมาณ 16.40 น. นายมนัส ภักดิ์ภูวดล ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์ โดยระบุว่า “พิเคราะห์แล้วว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม”
เวลา 17.40 น. นายอรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์เช่นกัน โดยอ้างว่าในคำร้องที่ยื่นต่อศาลนั้น ลายมือและสีน้ำหมึกของผู้มอบฉันทะซึ่งเป็นทนายความผู้ยื่นทำเรื่องขอประกัน #แตกต่างจากของผู้รับมอบฉันทะให้ฟังคำสั่งศาลในวันนี้
โดยได้ระบุคำสั่งว่า “กรณีลายมือและสีหมึกในส่วนของผู้รับมอบฉันทะ แตกต่างจากสำนวนของผู้มอบฉันทะ โดยผู้มอบฉันทะไม่ได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้ จึงไม่อาจเชื่อได้ว่า มีผู้รับมอบฉันทะจริง”
จากคำสั่งให้ฝากขังของศาลอาญากรุงเทพใต้ และคำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวของศาลทั้งสองแห่งในวันนี้ ทำให้อานนท์จะยังถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไปอีก รวมระยะเวลาถูกคุมขังมาแล้วกว่า 52 วัน
ขณะเดียวกัน รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr ระบุว่า
“จากคนที่ไม่มีใครรู้จัก ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน แต่วันนี้ ในประเทศนี้ คงไม่มีใครที่ไม่เคยได้ยินชื่อป้าเป้ามาก่อนเลยแม้แต่คนเดียว
ป้าเป้าเป็นตัวอย่างของ ปรากฏการณ์ที่เราเรียกว่า “tribalism” ที่กำลังครอบงำประเทศไทยอยู่ในขณะนี้ เป็นเพราะป้าเป้าโจมตีรัฐบาล ไม่ว่าป้าเป้าจะทำอะไรในม็อบ จะใช้คำหยาบอย่างไร หยาบขนาดไหน หรือจะถลกผ้าถุงโชว์ตำรวจควบคุมฝูงชน ในสายตาของกลุ่ม 3 นิ้ว การกระทำทุกอย่างของป้าเป้า ล้วนดีงาม
ล่าสุด ป้าเป้าถอดเสื้อผ้า เปลือยกายล่อนจ้อน นอนยกขาใส่ตำรวจ คนทั่วไปที่ไม่มีอคติ แค่เห็นภาพที่เบลอแล้ว ก็ยังไม่ไหว และนึกว่า ป้าเป้าเป็นคนที่น่าสงสาร เพราะต้องเป็นคนที่มีอาการป่วยทางจิตแน่ๆ แต่บรรดา แกนนำม็อบ 3 นิ้ว นักวิขาการ 3 นิ้ว ยังอุตส่าห์เลือกมุมวิจารณ์ อย่างเก๋ไก๋ ว่า เป็นเสรีภาพของการแสดงความเห็นอย่างสันติ บางคนยังสามารถตีความแทนป้าเป้าว่า เป็นการแสดงความเห็นว่า รัฐบาลบริหารประเทศจนประชาชนไม่มีอะไรเหลือแล้ว แม้แต่เสื้อผ้ายังไม่มีใส่ ว่าเข้าไปนั่น
ในทางตรงข้าม ล่าสุด เพลงที่ประพันธ์โดย คุณพงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ขับร้องโดย คุณอาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ตูน บอดี้สแลม ชื่อเพลง “ดุจดั่งสายฟ้า” ลงใน youtube เป็นเพลงสดุดี เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เพลงนี้เมื่อฟังด้วยใจเป็นธรรม ต้องบอกว่า จากคำร้องและทำนอง เพลงนี้เป็นเพลงที่ดีเพลงหนึ่ง ผู้ขับร้องก็ร้องได้ดี แต่อาจจะไม่ใช่เพลงที่คนอายุต่ำกว่า 30 ปีจะชอบ และคงไม่ใช่เพลงที่จะได้รับความนิยมจนรู้จักกันทั้งประเทศ ดังเช่นเพลงพระราชนิพนธ์ ความฝันอันสูงสุด หรือเพลง สดุดีมหาราชา แต่ก็ขอย้ำว่า เป็นเพลงที่ดีเพลงหนึ่ง
สำหรับผู้ที่นิยม “ป้าเป้า” เราคงคาดเดาออกว่า การแสดงความเห็นของพวกเขาต่อเพลงนี้จะเป็นอย่างไร ทั้งใน youtube ทั้งในเพจส่วนตัว ไม่น่าเชื่อว่าคนเราสามารถมีตรรกะที่ผิดปกติขนาดนี้ได้ ผิดปกติอย่างสุดโต่งเสียด้วย
ในอนาคต สังคมที่ดีกว่าเดิมของพวกเขา คนในสังคมคงเป็นอย่างนี้กันหมด ไม่กล้าคิดเลยว่า อนาคตของประเทศจะเป็นอย่างไร”
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผ่านเฟซบุ๊ก Nantiwat Samart หัวข้อ รัฐธรรมนูญ ยาสารพัดนึก
โดยระบุว่า “เคยตั้งคำถามกันบ้างมั้ย ทำไมนักการเมืองขยันแก้รัฐธรรมนูญกันจริง ข้ออ้างของนักการเมืองคือ รัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่เป็นสากล
รัฐธรรมนูญเยอรมันและญี่ปุ่นเขียนโดยประเทศที่ชนะสงคราม ห้ามทั้งสองประเทศมีกำลังทหารไว้ทำสงคราม แต่ ส.ส.ทั้งสองประเทศก็ไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นักการเมืองบอกประชาชนได้มั้ยว่า แก้รัฐธรรมนูญแล้วประชาชนจะได้อะไรบ้าง หรือความเป็นอยู่ของประชาชนจะดีขึ้นได้ยังไง ในเมื่อได้ ส.ส.หน้าเดิมๆ คนเดิมๆ นักการเมืองที่โกงกิน คอร์รัปชันเข้าสภา
รัฐธรรมนูญปี 60 เป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง ป้องกันนักการเมืองผูกขาดอำนาจ ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 8 ปี ให้เสรีกับ ส.ส.ในการลงมติโดยไม่ต้องฟังมติพรรค ไม่เป็นทาสในเรือนเบี้ยของพรรค
นายทุนพรรค นักการเมืองที่ร้องหารัฐธรรมนูญปี 40 เฟ้อทุกวัน อยากได้รัฐธรรมนูญปี 40 เพราะสามารถซื้อ ควบรวม ยุบพรรคอื่นให้มาร่วมกับพรรคใหญ่เพื่อให้ได้เสียงข้างมากเด็ดขาด มีฝ่ายค้านก็ไม่มีความหมาย ไม่สามารถแสดงบทบาทตรวจสอบรัฐบาลได้ เกิดการโกงโดยบริสุทธิ์ใจ เปิดช่องให้โกงกินประเทศ”
แน่นอน, ประเด็นที่น่าสนใจ คือ อุทาหรณ์ที่ได้จากทั้งสามโพสต์ และเป็นเรื่องที่น่าคิดสำหรับคนไทยอย่างยิ่ง
เรื่องแรก กรณี อานนท์ นำภา ที่เวลานี้ถูกดำเนินคดีหลายคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คดี ป.อาญา ม.112 ที่ทำผิดหลายครั้งต่างกรรมต่างวาระ จากการปราศรัยในการชุมนุมม็อบราษฎร ที่พยายามเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ปรากฏว่า พฤติกรรมการปราศรัยเรียกร้อง มีพยานหลักฐานเข้าข่ายผิด ม.112 หรือ หมิ่นเบื้องสูงนั่นเอง
อุทาหรณ์ก็คือ ผลจากรูปแบบการเรียกร้อง ที่ใช้วิธีการชุมนุมประท้วง ที่ต้องปราศรัยกับผู้ชุมนุม ซึ่งต้องพูดปลุกเร้าให้ผู้ชุมนุมฮึกเหิม เห็นด้วย จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพาดพิงสถาบันฯ ทั้งนี้ในบรรดาแกนนำม็อบไม่แต่เฉพาะ “อานนท์” เท่านั้น แกนนำกลุ่มม็อบราษฎรหลายคน ก็ตกอยู่ในชะตากรรมไม่ต่างกัน คือ ทำผิด ม.112
อันทำให้เห็นว่า การใช้วิธีม็อบกดดัน ก็ไม่ต่างอะไรกับ การบีบบังคับ ยื่นคำขาด ในขณะที่สถานการณ์ไม่มีอะไรเอื้อเลยแม้แต่น้อย ทั้งความเห็นด้วยของประชาชน ที่เป็นมวลชนเป้าหมาย รวมทั้งการจัดม็อบเอง ก็มุ่งไปที่การจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันฯ และเผาทำลายสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้อง ไม่ต่างกับความพยายามขับไล่แต่อย่างใด?
สุดท้ายมวลชนที่เข้าร่วมในช่วงแรก ก็เริ่มห่างหายไป เพราะรู้แล้วว่า การจัดม็อบไม่มีอะไรมากไปกว่า ความต้องการแสดงออกถึงการต่อต้านสถาบันฯเท่านั้น ที่เหลือ จึงมีแต่บรรดาการ์ด “ฮาร์ดคอร์” ที่ดูเหมือนสนุกกับการปะทะกับเจ้าหน้าที่ คฝ.เท่านั้น
แล้วที่สำคัญ ไม่ว่าแกนนำทั้งหลายจะถูกบงการจากใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่ แต่สิ่งที่พวกเขาจะต้องรับผิดชอบตัวเองก็คือ การทำผิดกฎหมายร้ายแรง
ส่วนปรากฏการณ์ “ป้าเป้า” ถ้าจะว่าไปแล้ว ก็คือ ความต้องการ “โจมตี” ฝ่ายตรงข้ามด้วยอะไรก็ได้ ที่อีกฝ่ายถูกประจานให้เสียหาย ไม่ว่าจะถูกหรือผิด และนี่คือ สิ่งที่หลายคนเริ่มเห็นธาตุแท้ของกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวปฏิรูปสถาบันฯ แล้วว่า ไม่ควรค่าที่จะแอบอ้างต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แม้แต่น้อย
และประเด็น แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ก็เห็นได้ชัดว่า สิ่งแรกที่พวกเขาต้องการแก้ก็คือ ผลประโยชน์ตัวเอง และธาตุแท้นักการเมือง ก็มีอยู่แค่สองเรื่อง คือ ทำอย่างไรให้ชนะเลือกตั้ง และได้เข้ามาจัดตั้งรัฐบาล เพื่อผลประโยชน์การเมือง
ส่วนผลประโยชน์ “ประชาชน” ถือเป็นเรื่องรอง และเป็นข้ออ้างให้ชอบธรรมเท่านั้น ไม่เชื่อก็ลองถามตัวเองดู ว่าประชาชน หรือ ใครกันแน่ที่เล่นการเมืองแล้วรวย???
เหนืออื่นใด ทั้งหมดที่กล่าวมา ไม่ใช่เรื่องที่จบลงแล้ว แต่เป็นเรื่องที่แค่เริ่มต้น และจะอยู่กับคนไทยไปอีกยาวเลยทีเดียว ไม่เชื่อคอยดู!