รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.เห็นชอบความร่วมมืออาเซียน-สหราชอาณาจักร ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ-การค้า-การลงทุน 11 สาขา
วันนี้ (14 ก.ย.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบร่างปฏิญญาร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนาคตระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ (สหราชอาณาจักร) (Joint Declaration on Future Economic Cooperation between the Association of Southeast Asian Nations (ASEAN) and the United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland (UK) ซึ่งจะมีการรับรองในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-สหราชอาณาจักร ครั้งที่ 1 ในวันที่ 15 กันยายนนี้ โดยประเทศบรูไนเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
ปฏิญญาร่วมฯ ฉบับนี้ จัดทำขึ้นเพื่อกำหนดทิศทางการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนร่วมกัน ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่นและครอบคลุม สามารถฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน โดยมีสาขาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ 11 ด้าน ได้แก่ (1) การฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 (2) การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานอาเซียน-สหราชอาณาจักร และการคงไว้ซึ่งการเปิดตลาด (3) ความเป็นเลิศด้านกฎระเบียบ (4) นวัตกรรมดิจิทัล (5) การให้บริการทางการเงิน (6) การเติบโตอย่างยั่งยืน (7) โครงสร้างพื้นฐาน (8) ทักษะและการศึกษา (9) การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (10) การส่งเสริมบทบาททางเศรษฐกิจของสตรี และ (11) การเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน สำหรับแนวทางการดำเนินงานจะขับเคลื่อนภายใต้โครงการและกิจกรรม ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความสนใจและประโยชน์ร่วมกันของอาเซียนและสหราชอาณาจักร โดยมีโครงการสนับสนุนทางการเงินที่สหราชอาณาจักรได้ผูกพันให้กับอาเซียนแล้วเป็นพื้นฐานในการดำเนินการและต่อยอด และเกื้อหนุนการดำเนินการตามแผนงานต่างๆ ของอาเซียน เช่น แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ.2025 (พ.ศ.2568) แผนแม่บทอาเซียนด้านดิจิทัล ค.ศ. 2025 (พ.ศ. 2568) และแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของอาเซียน ปี ค.ศ. 2016-2025 (พ.ศ. 2559-2568)
รองโฆษกฯ รัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดทำปฏิญญาร่วมฯ ครั้งนี้ เป็นการประกาศเจตนารมณ์ทางการเมือง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำมาใช้เป็นกรอบในการพัฒนาความร่วมมือ ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ทำให้อาเซียนสามารถรับมือกับความท้าทายทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยใช้ประโยชน์จากโอกาสทางการค้าในด้านต่างๆ รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นต่างๆ ที่สหราชอาณาจักรมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้วย