xs
xsm
sm
md
lg

โหวตซักฟอกไม่น่าลุ้น จับตาอาฟเตอร์ช็อก !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา - พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
เมืองไทย 360 องศา

ผ่านมาสองสามวันแล้ว สำหรับการอภิปรายญัตติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม ไปจนถึงวันที่ 4 กันยายน ซึ่งเป็นวันลงมติ และหากให้ประเมินกันล่วงหน้าตามสถานการณ์และความเคลื่อนไหวที่อยู่ตรงหน้า ก็ต้องบอกว่า “ไม่มีลุ้น” นั่นคือ ผ่านฉลุย โดยเฉพาะผลโหวตของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่เป็นหนึ่งใน 6 รัฐมนตรีที่ถูกยื่น “ซักฟอก” ในครั้งนี้


อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะไปไกลกว่านี้ ก็ต้องทบทวนรายชื่อรัฐมนตรีที่ถูกพรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจเป็นรายบุคคล นอกเหนือจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้ว ยังมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พรรคพลังประชารัฐ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พรรคพลังประชารัฐ และ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์

อย่างที่บอกตั้งแต่ต้นว่า ได้เห็นการอภิปรายมาสองสามวัน ทำให้มองเห็นอนาคตในวันลงมติได้อย่างดี เนื่องจากเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ฝ่ายค้านยังสามารถรักษามาตรฐานแบบเดิมได้อย่างคงเส้นคงวา เหมือนที่ผ่านมา ก็คือ “ไม่มีมาตรฐาน” เหมือนเดิม แต่ที่ถือว่าล้ำหน้าไปกว่าเดิม ก็คือ “คำด่าที่แรงจนต้องเบือนหน้าหนี” จนบางครั้งไม่แน่ใจว่า ส.ส.พวกนี้สำคัญผิดไปหรือเปล่าว่า คำด่า และคำเสียดสีเป็นการอภิปรายที่สามารถเรียกความสนใจ หรือยกมาตรฐานการเป็น “ดาวสภา”

เพราะพิจารณาจากการอภิปรายมาสองสามวัน สิ่งที่ชาวบ้านต้องการรับรู้ ก็คือ หลักฐานการทุจริต การชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวจากการบริหารงานอย่างเป็นรูปธรรม ตามที่มีการเขียนระบุเอาไว้ในญัตติซักฟอก ที่ล้วนเป็นข้อหาฉกรรจ์ แต่ผลที่ออกมากลับเป็นตรงกันข้าม ไม่สมราคาคุยที่โหมโรงกันใหญ่โตว่าหากเปิดออกมาแล้วต้อง “น็อกแน่” อะไรประมาณนั้น เพราะเท่าที่เห็นล้วนเป็นการอภิปรายตาม “ข่าวตัดแปะ” หรือข้อความตาม “เฟกนิวส์” แทบทั้งสิ้น หรือแม้กระทั่งการ “เปิดหัว” อ่านญัตติของผู้นำฝ่ายค้านอย่าง สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ก็ทำได้อย่างน่าผิดหวัง แค่อ่านยังผิดๆ ถูกๆ แล้วแต่ยังมีหน้าไปกล่าวหาคนอื่นว่า “โง่” เสียอีก

เอาเป็นว่าสำหรับการอภิปรายในสภาฯ และต่อเนื่องไปจนถึงการลงมติ ในวันที่ 4 กันยายนนั้น ไม่น่ามีปัญหาอะไร แม้ว่าเป้าหมายหลักในครั้งนี้จะพุ่งเป้าไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นหลัก และเป้าหมายรองลงมา ก็อาจจะเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ที่เกี่ยวข้องดูแลกับเรื่องการแก้ปัญหาโรคระบาดโควิด-19

แต่เมื่อฝ่ายค้านยังไม่สามารถหาหลักฐานการทุจริต หรือมี “ใบเสร็จ” มาแสดงได้อย่างชัดเจน มันก็ไม่มีอารมณ์ร่วมจากสังคมที่มากพอ เพราะส่วนมากที่เห็น ก็ล้วนแล้วแต่ใช้โวหาร สรรหาคำด่ามามากกว่า หรือแม้แต่ความพยายามในการกล่าวหาในเรื่องความล้มเหลวในการบริหารจัดการ มันก็กล่าวหาได้ แต่เมื่อมันเป็นวิกฤตโรคระบาดกันทั้งโลก และสถานการณ์ล่าสุดทั้งเรื่องแนวโน้มผู้ติดเชื้อที่เริ่มลดลง และปริมาณวัคซีนที่เริ่มไหลลื่นเข้ามาตามกำหนด ก็สามารถลดแรงกดดันลงไปได้มาก เพราะหากฝ่ายค้านยิ่งโจมตีมากมันก็เหมือนกับว่า “ไม่ต้องการให้สถานการณ์ดีขึ้น” กลายเป็นคำถามไปอีกทางหนึ่งก็ได้

ขณะที่รัฐมนตรีรายอื่นๆ มันก็ไม่ต่างจาก “น้ำจิ้ม” ที่พ่วงแถมเข้ามามากกว่า เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจทุกครั้ง “จุดตาย” ก็คือเรื่องการทุจริตที่ต้องมีหลักฐานชัดเจน แต่เท่าที่ประเมินในเวลานี้ ก็ยังมองไม่เห็น

อย่างไรก็ดี ที่น่าจับตามองกลับเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจะเกิดขึ้นนอกสภาฯ คือ ภายในรัฐบาลมากกว่าจะมีรายการ “อาฟเตอร์ช็อก” ตามมาหรือไม่ หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศลั่นว่า “ไม่ปรับคณะรัฐมนตรี ไม่ยุบสภาฯ และไม่มีการเปลี่ยนตัวนายกฯ” พร้อมกับเตือนเสียงเข้มไปถึง “คนปล่อยข่าว” ให้ “ระวังตัวให้ดี”

แน่นอนว่า ทั้งท่าทีและคำพูดดังกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา ถือว่า “ตั้งใจพูด” และมีลักษณะท่าทีที่แข็งกร้าว กับกระแสข่าวความเคลื่อนไหวในความพยายามปล่อยข่าวว่าจะมีการ “โหวตโค่น” โดยมีการประสานจับมือกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ หัวหน้าพรรค ในการตรวจสอบความเคลื่อนไหวดังกล่าว และเมื่อพิจารณาจากคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ระบุว่า แม้ว่าจะไม่มี แต่อาจจะ “หลงหูหลงตาไปบ้าง” นั่นเท่ากับว่า “มีจริง” ส่วนจะเป็นใครนั้นเชื่อว่าเขารู้กันอยู่แล้ว ถึงได้บอกว่า น่าจับตารายการ “อาฟเตอร์ช็อก” ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่

ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากความเคลื่อนไหวเวลานี้ ก็ยังเชื่อว่าการโหวตซักฟอกในสภาฯ คงไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น แต่ที่น่าจับตาก็คือ การเคลื่อนไหวในรัฐบาลนับจากนี้ โดยเฉพาะในพรรคพลังประชารัฐ ว่าจะมีรายการ “เช็กบิล” ตามมาหรือไม่ !!


กำลังโหลดความคิดเห็น