เมืองไทย 360 องศา
เริ่มวันแรกสำหรับญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ซึ่งการอภิปรายของพรรคร่วมฝ่ายค้านจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคมไปจนถึงวันที่ 3 กันยายน และลงมติกันในวันที่ 4 กันยายน
สำหรับ 6 รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ นอกเหนือจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแล้ว ยังมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จากพรรคพลังประชารัฐ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จากพรรคพลังประชารัฐ และ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าหลายคนคงได้เห็นผ่านตากันไปบ้างแล้ว แม้ว่าไม่ค่อยอยากประเมินว่าผลการอภิปรายนั้นมีเนื้อหาสาระ หรือมีหลักฐานชวนให้ติดตามสนใจหรือไม่ เชื่อว่าน่าจะมีคำตอบตรงกันอยู่แล้วว่า “ไม่ได้น้ำได้เนื้อ” เลยแม้แต่น้อย เพราะทั้งหมดเท่าที่เห็นล้วนแล้วแต่เป็นแบบ “โวหาร” กล่าวหา เป็นการ “ตัดแปะ” ข่าวจากสื่อในช่วงที่ผ่านมาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการ “ด้อยค่าวัคซีน” บางยี่ห้อ รวมไปถึงการเชื่อมโยงไปถึง “เจ้าสัว” บางคน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบอกว่า “มีเงินทอนวัคซีน” ที่ฝ่ายค้าน โดยเฉพาะนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย อภิปรายกล่าวหา แต่ก็ไม่มีหลักฐานอะไรมายืนยันได้ชัดเจน
แน่นอนว่าเป้าหมายในการซักฟอกคราวนี้ก็คงไม่ต่างจากทุกครั้ง ก็คือยังคงพุ่งไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นหลัก เพื่อต้องการให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือ อย่างน้อยก็เพื่อทำลายศรัทธาลงไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้ว่าหากพิจารณาในความเป็นจริงแล้วถือว่า “ยังห่างไกลมาก” ซึ่งในความหมายดังกล่าวสาเหตุล้วนมาจาก “เงื่อนไข” จากพรรคร่วมฝ่ายค้านเป็นหลักนั่นแหละ
เพราะหากบอกว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐบาลชุดนี้ และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ได้อย่างมั่นคงนั้น หากพิจารณากันแบบตรงไปตรงมาก็ต้องชี้หน้ากล่าวว่ามาจากประสิทธิภาพของของฝ่ายค้านนั่นเอง
ที่ผ่านมาพิจารณาได้จากผลงานในสภามาตรวจสอบการทำงานถือว่าทำได้น่าผิดหวัง อาจเป็นเพราะยุคสมัยมันเปลี่ยนไป ที่ชาวบ้านไม่จำเป็นต้องพึ่งพาข้อมูลหลักฐานจากนักการเมือง ตรงกันข้ามในยุคสมัยนี้นักการเมืองต่างหากที่มักพึ่งพาข้อมูลแบบ “ตัดแปะ” จากสื่อออนไลน์ ที่มีการค้นหาตรวจสอบมีประสิทธิภาพมากกว่า
ถ้าไม่เชื่อก็ลองทนฟังการอภิปรายในสภาติดต่อกันสักหนึ่งชั่วโมงว่าจะมีความอดทนได้นานขนาดนั้นหรือไม่ เนื่องจากไม่มีความน่าสนใจ ไม่มีหลักฐานเด็ดๆ ที่นำมาเป็น “หมัดน็อก” รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายได้เลย โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เป็นเป้าหมายหลักของฝ่ายค้านในครั้งนี้ เพราะเท่าที่ฟังมาตลอดทั้งวัน ล้วนแล้วแต่เป็นการใช้ “โวหาร” ใช้คำพูดเหน็บแนมกล่าวหา เสียดสี และเป็นข้อมูลเก่าๆ ที่เคยได้รับรู้มานานหลายเดือนแล้ว ไม่มีอะไรใหม่ขึ้นมาเลย
อย่างไรก็ดี ที่น่าจับตาสำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้น่าจะเป็นช่วงของการ “ลงมติ” กันมากกว่า ว่าจะออกมาแบบไหน จะเป็นการลงมติไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน สำหรับฝ่ายรัฐบาลนั้นก็น่าติดตามว่าจะมีรายการ “แทงข้างหลัง” เกิดขึ้นหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นจากส.ส.พรรคเดียวกัน โดยเฉพาะจากพรรคพลังประชารัฐ ที่เริ่มมีรายการปล่อยข่าว “เลื่อยขา” กันเอง เพื่อกดดันให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี หลังการอภิปราย
หรือว่าระหว่างพรรค ข้ามพรรค ที่ต้องจับตาก็คือ คราวนี้ส.ส.กลุ่ม “ดาวฤกษ์” ในพรรคพลังประชารัฐ จะโหวตให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ จากพรรคภูมิใจไทยหรือไม่ หลังจากคราวที่แล้ว ไม่ยกมือให้มาแล้วจนหมางใจกันมาพักหนึ่ง
แต่ที่น่าจับตาไม่แพ้กันก็คือ การ “โหวตสวน” ของพรรคฝ่ายค้านด้วยกันเองว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน เมื่อเทียบกับการโหวตคราวที่แล้ว ที่มีส.ส.จากพรรคฝ่ายค้าน เช่น พรรคเพื่อไทยหลายคนที่เป็น “งูเห่า” ขาประจำโหวตให้ฝ่ายรัฐบาล และคราวนี้ให้จับตาดูการโหวตในพรรคก้าวไกลอีกพรรคหนึ่งด้วยว่าจะมี งูเห่าแตกแถวออกมาเพิ่มอีกหรือไม่ หลังจากมีรายการ “ด่าทอ” กันอย่างรุนแรง และคราวนี้ให้จับตาการ “ซักฟอก” กันเองในสภา ระหว่างส.ส.พรรคเดียว เช่น พรรคก้าวไกล เกิดขึ้นหรือไม่
แม้ว่าการซักฟอกเพิ่งจะเริ่มเป็นวันแรก ยังมีเวลาอีกสองสามวันให้ติดตาม แต่เพียงแต่เปิดหัวออกมาแบบนี้ มันก็พอเดาออกถึงวันต่อๆไปว่าจะเป็นไปในลักษณะของการกล่าวหา การใช้โวหารเสียดสีด่าทอ แต่ไม่มีหลักฐานการทุจริตมัดแน่น เหมือนกับการเขียนข้อความในญัตติ เอาเป็นว่าให้รอดูกันไป แต่เท่าที่เห็น มันก็มีแนวโน้มให้ปรามาสกันล่วงหน้าได้แล้ว !!