เมืองไทย 360 องศา
แม้จะเข้าโหมดการซักฟอก เริ่มดึงเกมเข้าสู่สภาอีกครั้ง หลังจากที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่มีพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล เป็นแกนหลัก ได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล จำนวน 6 คน ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ และ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)
ล่าสุด มีรายงานว่า ฝ่ายรัฐบาลเตรียมที่จะให้มีการอภิปราย 3 วัน คือ ในวันที่ 31 สิงหาคม ถึง 2 กันยายน และลงมติกันในวันที่ 3 กันยายน ซึ่งนับจากนี้ก็คงได้ยินเสียงโม้ เสียงขู่ดังมาจากแต่ละฝ่ายเป็นรายวัน เป็นการโหมโรงก่อนถึงวันจริงเหมือนที่เคยเห็นมาตลอดสำหรับ “ศึกน้ำลาย” ในแต่ละครั้ง
เมื่อเห็นการเคลื่อนไหวแบบนี้แล้วก็คงไม่ต้องเดากันมาก ฝ่ายค้านต้องการอาศัยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กำลังระบาดหนักในระลอกใหม่ “ล็อกเป้า” ถล่ม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยชี้เห็นถึงความล้มเหลวในการบริหารจัดการรับมือ ขณะที่อีกคนที่น่าจะโดนไม่น้อย แม้ว่าจะเป็น “เป้ารอง” ก็ตาม อย่าง นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องรับผิดชอบโดยตรง ซึ่งก็ต้อง “โดนหนัก” เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี หากโฟกัสเฉพาะเรื่อง “เสียงโหวตซักฟอก” เมื่อพิจารณาจาก “เป้าหมาย” ของรัฐมนตรีรายบุคคลที่ถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ “กระจาย” กันไปในทุกพรรคร่วมรัฐบาลหลัก ทั้งพรรคพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย และ ประชาธิปัตย์ มันก็ยิ่งทำให้พรรคร่วมรัฐบาล “มีเอกภาพ” ในการโหวตมากกว่าเดิม อาจจะมีบ้างที่ต้องจับตาว่าจะมีรัฐมนตรีบางคนบางพรรคที่ได้รับเสียงน้อยกว่าคนอื่นหรือไม่ เหตุการณ์จะ “ซ้ำรอย” เดิมจากการอภิปรายครั้งแล้วหรือไม่ จากกรณีของพรรคภูมิใจไทย ที่ถูก ส.ส.พลังประชารัฐ บางคนไม่โหวตให้ แม้ว่าพิจารณาจากแบ็กกราวนด์จะมองเป็นเรื่องเอาคืนทางการเมือง แต่ก็ต้องจับตาดูกันอีกรอบ แต่ถึงอย่างไรยังมีเวลาให้ติดตามอีกสองสามสัปดาห์ ยังมีเวลาประเมินสถานการณ์กันอีกครั้ง
ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งที่น่าจับตามองไม่แพ้กัน ก็คือ การเคลื่อนไหวของ “ม็อบสามนิ้ว” นอกสภาที่เริ่มเดินเครื่อง “แรง” ขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งกลายมาเป็น “ม็อบเผารายวัน” และแน่นอนว่า ก่อนหน้านี้ เริ่มจากการเคลื่อนไหวของบรรดา “ม็อบสามนิ้ว” ที่มีคน “ชักใย” เพื่อมีเจตนาโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเป้าหมายปลายทาง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการชุมนุมที่ผ่านมา จะมีการเร่งเร้ากันทุกทาง โดยเฉพาะการปล่อยข่าวทางโซเชียลฯ คู่ขนานกันมาทุกทาง แต่ถึงอย่างไรเมื่อเป้าหมายยังพุ่งไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์ มันก็ยังทำให้ไม่มีแนวร่วมเพิ่มขึ้นกว่าเดิม ตรงกันข้ามยิ่งเมื่อการชุมนุมของกลุ่มเครือข่าย “ม็อบสามนิ้ว” ที่กลายสภาพมาเป็น “ม็อบป่วนเมือง” เป็นม็อบของพวก “เด็กอาชีวะ” ที่มีแต่ความคึกคะนอง หาแก่นสารในทางอุดมการณ์ไม่ได้
การเคลื่อนไหวชุมนุมในลักษณะก่อความวุ่นวาย มีลักษณะของการ “เผารายวัน” เป็นภาพที่ปรากฏออกมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง การปะทะกับตำรวจในลักษณะของการ “มีเจตนา” มันก็ยิ่งทำให้ “พลัง” ของการเคลื่อนไหวไม่สามารถสร้างกระแสได้ในวงกว้างได้มากกว่าเดิม อีกทั้งผลที่สำรวจยังออกมาในแบบว่า “มีคนอยู่เบื้องหลัง” มันก็ยิ่งอยู่กับที่
ขณะเดียวกัน ในช่วงที่มีการเคลื่อนไหวของ “ม็อบสามนิ้ว” ก็เริ่มมีการปรากฏตัวของ “ม็อบเสื้อแดง” ในเครือข่ายของ นายทักษิณ ชินวัตร ที่เคลื่อนไหวในลักษณะ “ผสมโรง” โดยอาศัยช่วงเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังโดนโรคระบาดโควิดกระหน่ำในระลอกใหม่ จึงได้เห็นการออกมานำม็อบอีกรอบ ของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ในรูปแบบของ “คาร์ม็อบ” กระหน่ำซ้ำลงไปอีก
แต่ถึงอย่างไรหากพิจารณากันตามความเป็นจริง หลังจากม็อบเคลื่อนไหวชุมนุมมานานนับสัปดาห์ และกลายเป็น “ม็อบรายวัน” แต่เมื่อพิจารณาจาก “ปริมาณ” และพลัง มันก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ตรงกันข้ามกับภาพลักษณ์ที่ “ก่อความรุนแรง” มันก็ยัง “จุดไม่ติด” อยู่ดี เพราะภาพที่ออกมามันเป็น “ม็อบการเมือง” เป็นม็อบที่ถูกมองว่าเคลื่อนไหวให้ “ทักษิณกลับมา” จึงกลายเป็น “ภาพหลอน” วนอยู่ในความทรงจำเก่าๆ ของคนไทยจำนวนมาก
อีกด้านหนึ่งแม้ว่าจะพยายามอาศัยสถานการณ์โรคระบาดโจมตีให้เห็นถึงความล้มเหลวของการบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่เมื่อมองไปรอบข้างทั่วภูมิภาค มันก็เลวร้ายไมได้ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย หรือแม้แต่เวียดนาม ที่เคยได้รับคำชมว่าจัดการได้ดี มาวันนี้อาจจะหนักกว่าไทยด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะเรื่องวัคซีนที่เริ่มฉีดไปได้ไม่ถึงสิบล้านคน
ดังนั้น หากพิจารณาในภาพรวมๆ แล้ว แม้ว่าเวลานี้สำหรับ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำลังเจอกับภาวะหนักหน่วงที่สุด แต่ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากภาพการเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้ามที่โหมเข้ามากันทุกทาง ก็ยังไม่อาจสร้างกระแสแนวร่วมที่เป็นหนึ่งในวงกว้างมากพอที่จะถึงขั้น “โค่น” เขาลงจากอำนาจในเวลานี้ได้ รวมไปถึงจากการซักฟอกที่กำลังเกิดขึ้นในสภาอีกด้วย เป็นเพราะฝ่ายค้านเล่นเกม “ทวนกระแส” ป่วนอย่างเดียว !!