xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กนัต” ชี้เป็นสิทธิ์ “บิ๊กแอร์” รื้อ 3 โครงการ ทอ.ย้ำ LINK-TH จำเป็น-ใช้งานได้จริง รอ กมธ.ฟันธงใครถูก-ผิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ อดีต ผบ.ทอ. (แฟ้มภาพ)
“บิ๊กนัต” แจง กมธ.ป.ป.ช.ปมถูกรื้อ 3 โครงการยักษ์ ทอ. ย้ำเดิมตั้งโครงการตามหลักยุทธศาสตร์-พึ่งพาตนเอง ระบุ LINK-TH จำเป็น-ใช้งานได้จริง ชี้ พัฒนามามากกว่า 10 ปี มั่นใจที่ทำไว้ถูกต้องตาม กม. โนคอมเมนต์มีนอกมีในหรือไม่ ชี้เป็นสิทธิ ผบ.ทอ.ปัจจุบัน รอกระบวนการตรวจสอบฟันธงใครผิดใครถูก

วันนี้ (21 ส.ค. 64) พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 64 ได้เข้าร่วมชี้แจงข้อมูลต่อ คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เป็นประธาน ซึ่งมีการพิจารณาตรวจสอบการจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพอากาศ 3 โครงการ มูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท ได้แก่ โครงการพัฒนาและปรับปรุงระบบป้องกันทางอากาศ ระยะที่ 7 (N-SOC C2), โครงการพัฒนาป้องกันฐานที่ตั้งทางทหารของกองทัพอากาศ (GBAD) และโครงการจัดหาทดแทนวิทยุพื้นดิน-อากาศ ที่มีการปรับปรุงขอบเขตความต้องการของโครงการ (SOPR) และขอบเขตของงาน (TOR) เข้าข่ายไม่เป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 (พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ) หรือไม่

พล.อ.อ.มานัต กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้สอบถามถึงที่มาที่ไปของทั้ง 3 โครงการ มีการแก้ไข TOR รวมไปถึงยืนยันเจตนารมณ์ตามแนวทางจัดหาพร้อมการพัฒนา (Purchase and Development : P&D) ตลอดจนสมุดปกขาวกองทัพอากาศ (RTAF White Paper) พ.ศ. 2563, หลักนิยมกองทัพอากาศ พ.ศ. 2562, ยุทธศาสตร์กองทัพอากาศ 20 ปี (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2563) และแนวความคิดในการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธีของกองทัพอากาศ ซึ่งจัดทำขึ้นในช่วงที่ตนเป็น ผบ.ทอ. อันเป็นแกนหลักที่ ทอ.ในการดำเนินโครงการต่างๆ ของ ทอ.มาตลอดมากกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เป็นเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติที่ต้องการให้ประเทศไทยพึ่งพาตนเอง และตามแผนการ ทอ.ที่ต้องการมีระบบที่เป็นกรรมสิทธิ์ของเราเอง สามารถแก้ไขพัฒนาต่อยอดได้

พล.อ.อ.มานัต กล่าวต่อว่า ต้องทำความเข้าใจว่าทั้ง 3 โครงการ คือ N-SOC C2, GBAD และวิทยุ นั้นมีแกนกลางร่วมกันคือระบบ LINK-TH (ระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธีกับเครื่องบินที่สั่งการโดยภาษานักบินรบไทย) ถือเป็นก้านสมองของทั้ง 3 โครงการดังกล่าว ทุกอย่างต้องถูกวางไว้บน LINK-TH เพื่อให้เป็นระบบและสามารถทำงานได้จริง ที่สำคัญคือ กรรมสิทธิ์ทั้งหมดเป็นของ ทอ. โดยก่อนที่จะมีชื่อเป็นทางการว่า LINK-TH ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551 ที่มีการใช้ Alpha Jet เป็นฝูงบินต้นแบบ บุคลากรของ ทอ.ทุ่มเทกับโครงการนี้มาก แต่ทาง กมธ.ป.ป.ช.ก็ให้ข้อมูลว่าผู้แทน ทอ.ที่มาชี้แจงก่อนหน้านี้ ได้ระบุว่าระบบ LINK-TH ยังไม่สามารถใช้งานได้จริง ซึ่งตนก็ไม่ได้ไปแย้งตรงนั้น เพียงแต่เล่าข้อเท็จจริงถึงเนื้องาน และการมีส่วนร่วมของตนตั้งแต่ก่อน จนถึงช่วงที่ตนเป็น ผบ.ทอ.ว่า ได้เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2551 และปัจจุบันก็มีของจริงที่ใช้อยู่กับเครื่องบิน Alpha อยู่

พล.อ.อ.มานัต ขยายความถึงระบบ LINK ด้วยว่า เป็นระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธีกับเครื่องบินนั้นทุกชาติควรจะมีเป็นของตัวเอง การมี LINK มากมายหลากหลาย ไม่สามารถที่จะนำระบบทุกระบบมารวมกันได้ ระบบสั่งการต่างๆ จะยุ่งยากมาก หรือทำไม่ได้เลย ก็ควรที่จะมีระบบหรือ LINK เดียวกัน เหมือนมนุษย์มีสมองเป็นระบบสั่งการ จะสั่งการไปที่เส้นประสาท หรือสั่งการอวัยวะต่างๆ ก็มาจากก้านสมองก้านเดียว ไม่สามารถแยกหลายระบบได้ เช่นเดียวกับเครื่องบินรบ ที่หากใช้ LINK ต่างกัน ระบบสื่อสารก็ต่างกัน ถึงเวลาปฏิบัติภารกิจต้องแปลภาษาจาก LINK หนึ่งเป็นอีก LINK หนึ่ง ย่อมเป็นอุปสรรคในทางปฏิบัติ

อดีต ผบ.ทอ. กล่าวต่อว่า ความจำเป็นในการกำหนดแนวทาง P&D รวมถึงการยึด LINK-TH เป็นแกนกลางของโครงการต่างๆที่จะเกิดขึ้น เพื่อตอบยุทธศาสตร์ ทอ. รวมไปถึงยุทธศาสตร์ชาติ ที่สะท้อนไปจนถึง SOPR และ TOR ว่าทำกันอย่างไร มีเจตนารมณ์เช่นไร ตลอดจนปัญหาที่เกิดขึ้นหากมีการแก้ไขสาระสำคัญของโครงการที่กำหนดไว้เแล้วว่า จะมีผลกระทบไปถึงหลายโครงการที่วางแผนงานมาหลายปีแล้วว่า ระบบ LINK-TH ต้องเกิดในปี 2564-65 ทั้งนี้ วิธีการงบประมาณของประเทศมีการจัดทำล่วงหน้า เมื่อผ่านออกมาเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปีแล้วก็จะเข้ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ก่อนที่จะเบิกจ่ายงบประมาณได้ต้องมีการตั้งโครงการ มีการเขียนแนวความคิดความต้องการของโครงการ (COPR) ในการจัดหาหรือการปรับปรุงขีดความสามารถยุทโธปกรณ์ ที่สอดคล้องกับ SOPR ก่อนจะมาเป็น TOR หากมีการแก้ไขก็ต้องแก้ไขตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำที่สอดคล้องกัน ที่สำคัญ ต้องตรงกับข้อเท็จจริงที่ ทอ.นำเสนอในการของบประมาณรายจ่ายประจำปีกับฝ่ายนิติบัญญัติด้วย ซึ่งก็มีข้อสังเกตการณ์การแก้ไข SOPR และ TOR ของ 3 โครงการที่ ทอ.ดำเนินการอยู่นั้นเป็นการแก้เพียงจุดใดจุดหนึ่งที่ปลายทางเท่านั้น

“เราทำโดยกระบวนการทางกฎหมายตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ก็ต้องถามว่าการแก้ไข SOPR และ TOR ของ 3 โครงการได้ทำอย่างถูกต้องตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำหรือไม่ หรือแก้ไขเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น เหมือนต้นไม้ต้นใหญ่ที่ถูกตัดปลายรากแก้วที่ไม่นานก็ยืนต้นตาย” พล.อ.อ.มานัต ระบุ

พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผบ.ทอ.คนปัจจุบัน (แฟ้มภาพ)
ต่อข้อถามว่า การเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของโครงการในลักษณะนี้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า อาจมีประเด็นเกี่ยวกับผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ พล.อ.อ.มานัต กล่าวเพียงว่า เรื่องนี้ต้องรอให้ทาง กมธ.ป.ป.ช.สรุปผล และแจ้งให้สาธารณะทราบ รวมไปถึงกระบวนการในการตรวจสอบในส่วนอื่นๆ ด้วย

เมื่อถามว่า การที่ พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผบ.ทอ.คนปัจจุบัน กำลังจะเกษียณอายุราชการในช่วงเดือน ก.ย. 64 ซึ่งตรงกับช่วงสิ้นปีงบประมาณ 2563 จะมีผลถึงการดำเนินของทั้ง 3 โครงการหรือไม่อย่างไร พล.อ.อ.มานัต กล่าวว่า ประเด็นนี้ต้องไปว่ากันในส่วนของผู้ที่ยังอยู่ในราชการ ส่วนตนเกษียณอายุราชการแล้ว คงให้ความเห็นในส่วนนี้ไม่ได้ เช่นเดียวกับการดำเนินโครงการที่ขณะนี้ทราบว่ายังไม่มีการจัดซื้อจัดจ้าง ขณะที่อีกเพียง 2 เดือนเศษก็จะสิ้นปีงบประมาณ 2563 ก็ต้องติดตามว่าทาง ทอ.จะดำเนินการอย่างไร และเมื่อได้ ผบ.ทอ.คนใหม่ ก็ต้องดูว่าจะมีแนวทางอย่างไร เพราะแต่ละคนก็มีสิทธิ์ นโยบาย และแนวคิดที่ไม่เหมือนกัน

“ในความเป็นจริง ผบ.ทอ.เป็นหน้าที่กำกับเท่านั้น ออกนโยบายได้เฉพาะในขอบเขตของหน้าที่ ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องของต้นน้ำที่มียุทธศาสตร์ หลักนิยม สมุดปกขาว ทอ. แผนงานโครงการที่กำหนดไว้เป็นแผนระยะยาวเพื่อความยั่งยืน ซึ่งเป็นแกนขององค์กรที่ ทอ.เปิดเผยโปร่งใส ผบ.ทอ.มาแล้สก็ไป แต่สิ่งเหล่านี้จะคงอยู่กับ ทอ.ต่อไป” อดีต ผบ.ทอ.กล่าว

พล.อ.อ.มานัต กล่าวด้วยว่า อีกทั้งยังมีหลักปฏิบัติในเรื่อง P&D ที่ยึดโยงจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในการกำหนดอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ 11 หรือ New S-curve 11 และอยู่ในนโยบายของกระทรวงกลาโหม ในการสร้างงาน สร้างห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจได้มากมาย”

“ทั้งหลายทั้งปวงการแก้ไขปรับปรุงโครงการใดๆ ของ ทอ. ก็ถือเป็นแนวนโยบาย และสิทธิ์ของ ผบ.ทอ.คนปัจจุบัน อาจเป็นเรื่องของมุมมองที่ต่างกัน แต่เมื่อ 2 แนวทางไม่เหมือนกัน ผู้แทน ทอ.ที่ได้รับมอบหมายจาก ผบ.ทอ.คนปัจจุบันชี้แจงไปทางหนึ่ง ส่วนผมที่เป็นอดีต ผบ.ทอ.ชี้แจงไปอีกทางหนึ่ง เมื่อ 2 ข้อมูลไม่ตรงกัน ก็ต้องมีอันใดอันหนึ่งที่ผิด และอันใดอันหนึ่งที่ถูก เชื่อว่าเมื่อผ่านกระบวนการตรวจสอบแล้ว ก็จะมีความกระจ่างว่าใครถูกใครผิด” พล.อ.อ.มานัต กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น