ภาคการเกษตร มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย มาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ไทยได้วางเป้าหมายไว้เป็นครัวของโลก แม้ว่าในขณะนี้ประเทศไทยและทั่วโลกต้องเผชิญกับภาวะแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลไกทางรอดช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ คือ การส่งออกโดยเฉพาะการส่งออกสินค้าการเกษตรเป็นหนึ่งในความหวังของไทยด้วย
สตาร์ทอัปการเกษตรเทคโนโลยีขั้นสูง ยกระดับเกษตรกรไทย ยุค 4.0
ที่ผ่านมา ภาคการเกษตรเจอปัญหา เรื่องเดิมไม่ว่าจะสภาพภูมิอากาศ ความสมบูรณ์ของดิน จากการใช้สารเคมีมาเป็นระยะเวลายาวนาน การขาดแคลนแรงงาน และราคาผลผลิตตกต่ำ หนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล คือ การผลักดันให้เกษตรกรไทย เข้าถึงเทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อยกระดับภาคเกษตรของไทย ก้าวเข้าเกษตรยุค 4.0 เพื่อรองรับการแข่งขันระดับโลก
โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีบทบาทสำคัญเพื่อรับผิดชอบการดำเนินงานกิจกรรมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับภาคการเกษตร และ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) NIA ภายใต้ กระทรวง อว. ได้รับมอบหมาย จากกระทรวง อว. ด้านการส่งเสริมสนับสนุนดำเนินธุรกิจสตาร์ทอัป รวมถึงสตาร์ทอัปด้านการเกษตร
ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า NIA มีนโยบายในการเร่งสร้างและขับเคลื่อนระบบนิเวศสตาร์ทอัปด้านการเกษตร พร้อมกับการสร้างผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง โดยวางบทบาทให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจที่สำคัญสำหรับสตาร์ทอัปด้านการเกษตรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยมุ่งเน้นสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเชิงลึก หรือ Deep Tech ดีพเทค พร้อมกับตั้งเป้าไว้ว่า ภายในระยะเวลา 3 ปี จะต้องสร้างผู้ประกอบการสตาร์ทอัปการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง หรือ ดีพแทค ให้ได้ 100 ราย จากปัจจุบันที่ไทยมีผู้ประกอบการสตาร์ทอัปการเกษตร ที่เป็นดีพเทค เพียง 1 รายเท่านั้น ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน อย่างสิงคโปร์ แม้จะมีพื้นที่การเกษตรน้อยกว่าไทยเยอะมาก แต่มีสตาร์ทอัปการเกษตรดีพเทค มากถึง 65 ราย และถ้าเป็นไปได้เราต้องการให้สตาร์ทอัปไทยในกลุ่มของไบโอเทคโนโลยี Bio Technology เกิดขึ้นให้มากกว่านี้ เพราะเมืองไทยมีสตาร์ทอัปการเกษตรในกลุ่มไบโอเทคโนโลยี น้อยมาก ไม่ถึง 5 ราย
ผลสำรวจสตาร์ทอัปด้านการเกษตรไทย
สำหรับสตาร์ทอัปการเกษตรของไทย จากผลการสำรวจพบข้อมูลที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ในหลายมิติ โดยใน พ.ศ. 2563 มีสตาร์ทอัปด้านการเกษตร จำนวน 53 ราย (กลุ่มเทคโนโลยีการบริหารจัดการฟาร์ม เซนเซอร์ และระบบ IoT มีจำนวนสูงสุด) ดำเนินธุรกิจมาเฉลี่ยประมาณ 4.7 ปี ซึ่งแบ่งเป็นระยะเริ่มต้น (Seed State) ร้อยละ 52.5 ระยะทดสอบไอเดีย (Pre-seed) ร้อยละ 27.5 และระยะเติบโตอย่างรวดเร็ว (Growth) ร้อยละ 20 ซึ่งจะกระจายตัวในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
“จากการเก็บข้อมูล และสัมภาษณ์สตาร์ทอัปด้านการเกษตร ร่วมกับศึกษาข้อมูลจากการะดมทุนจำนวน 41 ราย พบว่า มีจำนวนเงินลงทุนสูงถึง 772 ล้านบาท ซึ่งร้อยละ 66.7 เป็นการลงทุนภายนอก ไม่ได้รับเงินลงทุนจากหน่วยงานร่วมลงทุนที่เป็น VC CVC หรือ Angel Investor สะท้อนให้เห็นว่าระบบนิเวศสตาร์ทอัปด้านการเกษตรของประเทศไทยอยู่ในระยะเริ่มต้น ที่ต้องอาศัยการผลักดันและร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อเพิ่มจำนวนและศักยภาพของสตาร์ทอัปให้มีความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มการใช้เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร ที่มีปริมาณเงินลงทุนน้อยเมื่อเทียบกับในต่างประเทศที่มีการลงทุนในกลุ่มนี้สูงมาก”
แนวทางส่งเสริมสตาร์ทอัปด้านการเกษตร
สำหรับแนวทางการส่งเสริมสตาร์ทอัปด้านการเกษตรให้ก้าวเข้าสู่เทคโนโลยีขั้นสูง หรือ Deet Tech ดีพเทค นั้น ทาง NIA ในช่วงเริ่มต้น จะทำการคัดเลือกจากสตาร์ทอัปด้านการเกษตร ที่ดำเนินกิจการอยู่ในขณะนี้ หรือ สตาร์ทอัปรายใหม่ที่คิดว่ามีศักยภาพความพร้อมต้องการที่จะดำเนินธุรกิจสตาร์ทอัปการเกษตรดีพเทค สามารถสมัครเข้าร่วมขอรับความช่วยเหลือจาก NIA ได้ โดยทาง NIA ได้เตรียมความช่วยเหลือและส่งเสริมสนับสนุนในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น องค์ความรู้และรวมถึงเงินลงทุนเริ่มต้น ซึ่งเป็นเงินลงทุนแบบให้เปล่าตั้งแต่หนึ่งแสนบาทไปจนถึง หนึ่งล้านบาท ขึ้นอยู่กับศักยภาพสตาร์ทอัปแต่ละราย และถ้ากิจการดำเนินไปได้ด้วยดี ทาง NIA จะพาออกไประดมนักลงทุน VC CVC หรือ Angel Investor ในต่างประเทศ ซึ่งตั้งเป้าไว้ว่าถ้าทั้ง 100 รายประสบความสำเร็จ เราจะสามารถระดมทุนได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ NIA วางเป้าหมายในการพลิกโฉมภาคการเกษตรของประเทศไทยด้วยนวัตกรรมใน 5 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านเทคโนโลยี จากเกษตรที่ใช้แรงงาน พึ่งพาฤดูกาล ไม่สามารถคาดการณ์ผลผลิตได้ เป็นการใช้เทคโนโลยีมาควบคุม ตรวจสอบคุณภาพ และปรับปรุงระบบเกษตรให้แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น 2) ด้านเศรษฐกิจ จากการพึ่งพาพ่อค้าคนกลางในการผลิตและการขาย เป็นการเกษตรที่เกิดรายได้ในตัวเอง 3) ด้านการตลาด จากแบบเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ให้เข้าสู่ตลาดที่กระจายแบบเท่าเทียมกัน โดยอาศัยเทคโนโลยีของ Blockchain 4) ด้านสิ่งแวดล้อม ที่เน้นการสร้างรูปแบบธุรกิจการเกษตรสมัยใหม่ ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า สอดคล้องตามหลักการของ BCG model
และ 5) ด้านการวางตำแหน่งให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีด้านการเกษตร ทั้งนี้ NIA ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประเมินสถานการณ์ปัจจุบันและการศึกษาแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมของระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้นด้านการเกษตรของประเทศไทย (Thailand AgTech Startup Ecosystem) พร้อมทั้งจัดทำเป็นสมุดปกขาว เพื่อนำเสนอการพัฒนาการระบบนิเวศและนโยบายที่สำคัญในการพัฒนาสตาร์ทอัปให้สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด
“สำหรับยุทธศาสตร์การส่งเสริมระบบนิเวศสตาร์ทอัปด้านการเกษตรของประเทศไทยในก้าวต่อไป คือต้องเร่งการพัฒนากลุ่มเทคโนโลยีเชิงลึก หรือ Deep Tech ซึ่งมีความสลับซับซ้อน และต้องใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยขั้นสูง ผ่านการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมมาอย่างยาวนาน ซึ่งสามารถติดตามความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีเชิงลึกด้านการเกษตรที่ได้งาน SITE 2021 ระหว่างวันที่ 15 – 18 กันยายน 2564 นี้” ดร.พันธุ์อาจ ทิ้งท้าย
ระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาสตาร์ทอัปด้านการเกษตร
ขณะที่ ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการ ด้านระบบนวัตกรรม NIA กล่าวเพิ่มเติมว่า “ปัจจุบันระบบนิเวศสตาร์ทอัปสตาร์ทอัปด้านการเกษตรยังอยู่ในระยะเริ่มต้นที่แสดงถึงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในการสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่เกษตรสมัยใหม่ โดยที่ผ่านมา NIA สร้างแพลตฟอร์มกลางเพื่อเชื่อมโยงประสานงานและขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาสตาร์ทอัปด้านการเกษตร
โดยผ่าน 3 เครื่องมือหลัก ได้แก่ 1) การระบุแนวโน้มนวัตกรรมการเกษตร เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาสตาร์ทอัปให้สอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการ รวมถึงการจุดประกายไอเดียการสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการเกษตรไทย และการเพิ่มมูลค่าตลอดห่วงโซ่มูลค่า 2) การพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรมการเกษตร ผ่านกิจกรรมการบ่มเพาะและเร่งสร้างสู่การเป็นสตาร์ทอัปด้านการเกษตร โดยมุ่งเน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก เช่น Artificial Intelligent หรือ AI, Big data -IoT-Sensors, Robotics & Automation ร่วมกับการปรับผลิตภัณฑ์และรูปแบบธุรกิจ และ 3) การสร้างและพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของสตาร์ทอัปเกษตร เพื่อสนับสนุนการออกสู่ตลาดต่างประเทศ หรือได้รับการลงทุน ได้แก่ การสร้างย่านนวัตกรรรมเกษตร และพื้นที่ทำงานที่มีลักษณะแบบ co-farming space สร้างให้เกิดกิจกรรมเชื่อมโยงทุกภาคส่วนในระบบนิเวศให้ทำงานร่วมกัน
NIA จับมือ แม่โจ้ ทำสมุดปกขาวขับเคลื่อนสตาร์ทอัปการเกษตร
รองศาสตราจารย์ ดร. วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ในการสร้างบุคลากรด้านสตาร์ทอัปการเกษตร มีความสำคัญเร่งด่วน เพื่อเตรียมความพร้อมและเร่งสร้างศักยภาพด้านเทคโนโลยีขั้นสูง และนวัตกรรมเกษตร ให้เติบโตได้อย่างรวดเร็วและมีความยั่งยืน
โดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ร่วมดำเนินงานกับ NIA ในการศึกษาประเมินรายงานสถานการณ์ปัจจุบันและแนวทางการส่งเสริม สนับสนุน เพื่อจัดทำเป็น “สมุดปกขาวการขับเคลื่อนพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัปด้านการเกษตรของประเทศไทย” เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ช่วยกำหนดทิศทาง ความเป็นไปของสตาร์ทอัปทางด้านการเกษตร เพื่อจะได้ประเมินสถานการณ์ได้อย่างถูกต้อง ทั้งในส่วนของ NIA เอง หรือ มหาวิทยาลัยเอง ที่สำคัญ คือ เหล่าสตาร์ทอัปทั้งหมด จะได้ประโยชน์จากการทำสมุดปกขาวในครั้งนี้ ในการขับเคลื่อนสตาร์ทอัปด้านการเกษตร และนวัตกรรมชั้นนำของไทย เพื่อเสริมศักยภาพของคนไทย และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศผ่านพ้นจากทุกวิกฤต การสร้างระบบนิเวศที่เข้มแข็ง จะทำให้การพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศเป็นไปอย่างยั่งยืน”
** *คลิกLikeเพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ"รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด * * *
SMEs manager