xs
xsm
sm
md
lg

ปิดร้านอาหารในห้าง “ทางรอด” หรือ “ทางร่วง” ของวิกฤติโควิด-19 / ปริญญ์ พานิชภักดิ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยาวนานกว่าสองร้อยวัน นอกจากจะทำให้เกิดวิกฤติด้านสาธารณสุขแล้ว ยังส่งผลกระทบครั้งใหญ่ต่อสภาพเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย เพราะโรคระบาดที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จำเป็นต้องหยุดยั้งด้วยมาตรการด้านสาธารณสุข ที่ส่งเสริมให้ประชาชน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”

นั่นหมายถึงการที่ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่รายย่อยต้องหยุดกิจการชั่วคราวด้วย ลำพังการหยุดกิจการในระยะสั้น อาจไม่ทำให้ใครเดือดร้อนกันเท่าไหร่นัก แต่ปัจจุบันที่โรคระบาดยังไม่หายไป เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นคืน แล้วต้องเจอกับการสั่งปิดกิจการซ้ำแล้วซ้ำอีก ดูเหมือนจะเป็นการซ้ำเติมประชาชนให้เจ็บหนักกว่าเดิม เพราะหลายคนที่กำลังจะลุกขึ้นได้ ต้องวนกลับไปเจอภาวะสูญเสียสภาพคล่องทางการเงินอีกครั้ง และเสี่ยงไปต่อไม่ไหว ทางเดียวที่จะอยู่รอดได้ไปพร้อมกับช่วยลดการแพร่เชื้อ คือปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจให้สอดคล้องกับมาตรการของภาครัฐ

หนึ่งในธุรกิจที่เห็นได้ชัดว่าปรับตัวกันอย่างเต็มที่แล้ว คือ “ร้านอาหาร” ทั้งรายใหญ่และรายย่อย โดยเฉพาะร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ที่ปิดพื้นที่นั่งทานในร้าน และหันมาค้าขายผ่านแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่และสั่งกลับบ้าน (Take Home) เท่านั้น เพื่อให้สอดรับกับมาตรการของภาครัฐที่อยากลดความแออัดของประชาชนตามสถานที่ต่าง ๆ แต่วันนี้กลับโดนสั่งปิดกิจการ และห้ามจำหน่ายอาหารทุกช่องทาง ซึ่งดูแล้วขัดกับความรู้สึกของคนในสังคมอยู่พอสมควร จนเกิดคำถามขึ้นมาว่าร้านอาหารในห้างต่างจากร้านอาหารข้างนอกอย่างไร ทำไมถึงเปิดขายไม่ได้ และรัฐบาลจะเยียวยาเรื่องนี้อย่างไร

หากผู้มีอำนาจตัดสินใจเรื่องทิศทางของประเทศในตอนนี้ เปิดใจรับฟังและลองทบทวนดูดี ๆ จะพบว่ามาตรการสั่งปิดร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าใน 13 จังหวัดสีแดงเข้ม ดูจะเป็นการซ้ำเติมความเจ็บช้ำของประชาชนมากกว่าเพิ่มความปลอดภัยด้านสาธารณสุข เพราะตั้งแต่โรคโควิดเริ่มระบาดมาจนถึงตอนนี้ ยังไม่มีข้อมูลใดที่ยืนยันได้เลยว่าร้านอาหารในห้างที่ขายแบบ Take home จะเป็นแหล่งแพร่เชื้อได้มากกว่าที่อื่น

เมื่อร้านถูกสั่งปิดแบบทันที และไม่มีมาตรการเยียวยาที่เพียงพอ มีแต่จะสร้างผลกระทบหนักต่อผู้ประกอบการที่ต้องรักษาสภาพคล่องทางการเงิน ลูกจ้างที่ต้องต่อลมหายใจให้ตนเอง รวมทั้งทำให้ประชาชนทั่วไปต้องลำบากในการหาร้านอาหาร เสี่ยงต้องออกจากบ้านไปแออัดอยู่ตามร้านอาหารที่มีอยู่อย่างจำกัด

ดังนั้น ถึงเวลาแล้วทางที่รัฐบาลและศบค. ควรเร่งทบทวนเรื่องนี้อย่างจริงจัง และปรับเปลี่ยนมาตรการให้เหมาะสมมากขึ้น เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องเผชิญกับวิกฤติซ้ำอีก โดยรับฟังความเห็นจากประชาชนและลงมือแก้ไขปัญหาให้ทันท่วงที พร้อมกันนี้ต้องเดินหน้าแก้วิกฤติด้านสาธารณสุขไปพร้อมกับด้านเศรษฐกิจด้วย เพราะทั้งสอนด้านสำคัญต่อความเป็นอยู่ของประชาชนไม่แพ้กัน อาทิ

1.ให้ร้านอาหารในห้างเปิดบริการแบบสั่งกลับบ้านได้

2.เยียวยาผู้ประกอบการอย่างทันท่วงที ก.คลังและธปท. ต้องจัดหาแหล่งเงินทุนหมุนเวียนให้ผู้ประกอบการ พักหนี้อย่างจริงจัง และจัดสรรงบฟื้นฟูเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต เช่น เทรนคนผ่านออนไลน์เพิ่มแรงงานฝีมือ โดยอาจต่อยอดจากโครงการที่ปชป. ทำแล้วประสบความสำเร็จอย่าง โครงการ Gen Z CEO และโครงการเรียนจบพบงาน

3.ต้องช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนให้ได้ ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต ภาษี และค่าสาธารณูปโภคอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตอยู่บ้าน

4.เร่งตรวจหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก เร่งอนุมัติการนําเข้า Antigent Test Kits และแจกจ่ายให้ประชาชนฟรีถึงบ้าน โดยชะลอการจัดซื้อเรือดำน้ำ แล้วนำงบดังกล่าวมาใช้กับเรื่องนี้

5.ปรับเปลี่ยนสถานที่ เช่น โรงเรียนแพทย์ สถานที่ของกองทัพ และพื้นที่ของเอกชน มาเป็นศูนย์พักพิงแยกผู้ติดเชื้อออกมาจากชุมชนแออัด และมีมาตรการดูแลเชิงรุกก่อนส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล

6.เร่งแจกฟ้าทะลายโจรแก่ผู้ป่วยติดเชื้อ อย่ารอเวลา เพราะตอนนี้มีการศึกษาวิจัยจำนวนมากที่ออกมายืนยันว่าใช้ยานี้กับผู้ป่วยได้ และควรเร่งจัดหายา Favipiravir และ Remdesivir ให้เพียงพอ อย่าให้มีคอขวดในการนําเข้าแบบตอนนี้ รวมทั้งควรสนับสนุนให้ผลิตยาดังกล่าวได้อย่างเสรีในประเทศไทย

7.ปลดล็อกการจัดซื้อวัคซีนให้มีความคล่องตัว และโปร่งใสมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดหาวัคซีน mRNA และวัคซีนเทคโนโลยีใหม่ เช่น Novavax ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ทัพหน้าและประชาชนในพื้นที่สีแดงเข้ม รวมถึงสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนใบยา ที่เป็นหนึ่งในความหวังสกัดเชื้อกลายพันธุ์อย่างปลอดภัย

8.สื่อสารข้อมูลให้ประชาชนรับรู้และเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เช่น ความรู้ด้านการกักตัวอยู่บ้าน (Home Isolation) การใช้ชุดตรวจโควิดด้วยตัวเอง เป็นต้น

ความหวังดีของภาครัฐ จะใช่ “ทางรอด” ที่แท้จริงของประชาชนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้มีอำนาจในการบริหารประเทศ ที่ถูกกลั่นกรองออกมาในรูปแบบของมาตรการต่าง ๆ ในยามวิกฤติ


บทความโดย ปริญญ์ พานิชภักดิ์
รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์



กำลังโหลดความคิดเห็น