xs
xsm
sm
md
lg

“บอร์ดข้อมูลข่าวสารฯ” ชี้ทรัพย์สิน “ประยุทธ์-วิษณุ” 7 ปี ในตำแหน่ง เป็น “ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ” ป.ป.ช.มีหน้าที่รายงานประชาชน แต่ห้ามคัดลอก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“บอร์ดข้อมูลข่าวสารฯ” ย้ำข้อร้องเรียน “เว็บข่าวออนไลน์” ที่ยื่นขอ ป.ป.ช.เปิดข้อมูลทรัพย์สิน “ประยุทธ์-วิษณุ” 7 ปี ในตำแหน่งนายกฯ-รองนายกฯ ย้ำ เป็น “ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ” เป็นหน้าที่โดยตรง “คณะกรรมการ ป.ป.ช. -สำนักงาน ป.ป.ช.” ต้องเปิดเผยให้ประชาชน ได้รับทราบตาม ม. 243(3) ประกอบ ม.59 ของ รธน. ปี 2560 แต่มิให้คัดถ่ายสำเนาเอกสาร

วันนี้ (6 ส.ค. 2564) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เผยแพร่ผลการประชุมคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย คณะ 3 ครั้งที่ 12/2564

เมื่อช่วงเช้า ผ่านประชุมทางไกลผ่านระบบอินเทอร์เน็ต มีเรื่องเพื่อพิจารณา จำนวน 17 เรื่อง โดยระบุว่า มีการพิจารณาประเด็นสำคัญ เรื่อง “บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน” คณะกรรมการชุดนี้ มี พล.อ.กฤษณะ บวรรัตนารักษ์ เป็นประธาน มีกรรมการ เช่น พล.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ นายพีรศักดิ์ ศรีรุงสุขจินดา นายธนกฤต วรธนัชชากุล

เว็บดังกล่าวระบุว่า ผู้อุทธรณ์ ขอตรวจดูบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงฝ่ายบริหาร จำนวน 2 ท่าน กรณีเข้ารับตำแหน่ง เมื่อปี พ.ศ. 2562 แต่สำนักงาน ป.ป.ช. ปฏิเสธการเปิดเผย

โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ที่ยื่นไว้เป็นหลักฐาน ตามมาตรา 105 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2061

คณะกรรมการวินิจฉัยฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้บัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะยื่นไว้เพื่อเป็นหลักฐานก็ตาม

แต่จุดมุ่งหมายสำคัญที่กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินก็เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบความโปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดิน

ตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตลอดจนเป็นการป้องกันปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบและการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม

“ข้อมูลข่าวสารดังกล่าว จึงเป็นข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ช. มีหน้าที่โดยตรงในการเปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบตามมาตรา 243(3) ประกอบมาตรา 59 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560”

ประกอบกับประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง หลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน พ.ศ. 2561 ข้อ 7 กำหนดว่า ภายหลังจากพ้นกำหนดระยะเวลาการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน

“หากมีการร้องขอเป็นหนังสือเพื่อขอตรวจดูบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ให้สำนักงาน ป.ป.ช. ที่ครอบครองดูแลเอกสารดังกล่าวจัดให้ผู้ร้องขอเข้าตรวจดูสำเนาบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ได้แต่มิให้คัดถ่ายสำเนาเอกสาร ดังนั้น ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวเปิดเผยโดยให้ผู้อุทธรณ์เข้าตรวจดูได้ตามคำร้องขอ”

วันที่ 6 เม.ย. 2564 ที่เว็บไซต์ thematter.co รายงาน ว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ไม่ยอมเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ยื่นตอนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรอบสอง โดยให้เหตุผลว่า กฎหมายไม่ให้อำนาจไว้

ป.ป.ช. ได้ทำหนังสือชี้แจงว่า ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวได้ เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช.เปิดเผยบัญชีฯ ของผู้ยื่นที่ยื่นไว้เพื่อเป็นหลักฐาน และบัญชีดังกล่าวเป็นข้อมูลซึ่งมีลักษณะเฉพาะของบุคคลที่ได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่

ซึ่งเป็นข้อมูลที่ห้ามมิให้เปิดเผยตามกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับใหม่ มาตรา 36 พร้อมลงชื่อท้ายเอกสาร นายสุกิจ บุญไชย ผู้ช่วยเลขาธิการฯ ปฎิบัติราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.

ทั้งนี้ การเข้ารับตำแหน่งของรัฐมนตรีทุกครั้ง (พ้นจากตำแหน่ง และพ้นจากตำแหน่งครบหนึ่งปี) จะต้องยื่นบัญชีฯ และ ป.ป.ช.จะเปิดบัญชีฯ ให้สาธารณชนตรวจสอบอย่างละเอียด

ก่อนหน้านี้ นายวิษณุ เครืองาม เคยชี้แจงกรณีถูกฝ่ายค้านอภิปราย ว่า ได้รับอานิสงส์จากกฎหมายใหม่ของ ป.ป.ช. (ที่ออกในสมัย สนช.- จากการแต่งตั้งของ คสช.) ที่ไม่บังคับให้รัฐมนตรียื่นบัญชีฯหากรับตำแหน่งเดิมภายในหนึ่งเดือน

แต่ นายวิษณุ ระบุว่า ตน และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ก็ไปยื่นบัญชีทรัพย์สินไว้กับ ป.ป.ช. เพื่อเป็นหลักฐาน ส่วน ป.ป.ช. จะเปิดหรือไม่เปิดให้สาธารณชนรับทราบ เรื่องของ ป.ป.ช.

ข้อมูลเมื่อปี 2557 ที่เข้าดำรงตำแหน่งรองนายกฯ จากสมัยรัฐประหารของ คสช. นั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และคู่สมรส มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 116,847,346.51 บาท พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กรณีเข้ารับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2557 นายกรัฐมนตรี และคู่สมรส มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 128 ล้านบาท

นับจนถึงปัจจุบันมากกว่า 7 ปีแล้ว ที่สาธารณชน ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลบัญชีทรัพย์สิน หนี้สินของทั้งสองรัฐมนตรีได้


กำลังโหลดความคิดเห็น