xs
xsm
sm
md
lg

หัวเลี้ยวหัวต่อ “บิ๊กตู่” ภท.- ปชป.ไม่ถอน !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา - อนุทิน ชาญวีรกูล - จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
เมืองไทย 360 องศา



เป็นข้อความที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โพสต์ในเฟซบุ๊ก ในช่วงสองสามวันก่อน ที่ยอมรับว่า “กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ” แม้ว่าในความหมายของเขาต้องการสื่อให้เห็นถึงการประกาศ “ล็อกดาวน์” และการควบคุมเข้มงวดในพื้นที่สีแดงเข้ม ที่ล่าสุด เวลานี้เพิ่มอีก 3 จังหวัด รวมเป็น 13 จังหวัด เป็นการเดิมพันครั้งสำคัญก็ตาม

“ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของภาวะวิกฤต ที่หากไม่ประกาศมาตรการเข้มงวด สถานการณ์จะเลวร้ายลง ซึ่งในครั้งนั้นเราสามารถเอาชนะโควิดในยกแรกได้ด้วยความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ และความร่วมแรงร่วมใจของประชาชนทุกคนในการทำตามมาตรการของรัฐ จนเรากดยอดผู้ติดเชื้อลงมาจนเหลือศูนย์ได้ในที่สุด และเป็นที่ชื่นชมของทั่วโลก ในการควบคุมการแพร่ระบาด จนเราสามารถกลับไปใช้ชีวิตแบบวิถีใหม่กันได้หลังจากนั้น

ในวันนี้ เราต้องยอมรับว่า สถานการณ์ได้เดินทางมาถึงจุดที่เป็น “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ของภาวะวิกฤตอีกครั้ง เราต้องเจอกับการแพร่ระบาดครั้งร้ายแรงที่สุดที่ประเทศไทยเคยเจอมา”

สงครามของโลกกับโควิด ยังไม่จบสิ้น การต่อสู้ของไทยในระลอกนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้ง 13 จังหวัด ถือเป็นสมรภูมิรบที่เราจะต้องเอาชนะและยึดพื้นที่คืนกลับมาจากไวรัสร้ายนี้ให้ได้โดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้มีประชาชนต้องเจ็บป่วยล้มตายไปมากกว่านี้ แต่การศึกครั้งนี้ รัฐไม่สามารถเอาชนะได้ด้วยเพียงลำพัง แต่ต้องเกิดจากความสามัคคีกันของคนในชาติ โดยเฉพาะในสมรภูมิทั้ง 13 จังหวัดนี้ ที่จะดำเนินตามมาตรการที่ออกมาอย่างเข้มงวดที่สุด งด ลด เลี่ยงการเดินทาง และการรวมตัวทำกิจกรรม ไม่ทำให้ตัวเองและคนรอบข้างเสี่ยงอันตราย ในขณะเดียวกัน ก็ต้องมีสติในการรับและส่งต่อข้อมูลข่าวสาร และช่วยกันสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ด้วยพลังบวกและน้ำใจไทย ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้เราสามารถผ่านวิกฤตในรอบแรกมาได้ และผมและคณะแพทย์เชื่อว่า หากเราล็อกดาวน์ตัวเองได้จริงๆ สถานการณ์ควรจะต้องเห็นผลดีขึ้นภายใน14 วัน และเราจะผ่านพ้นช่วง “หัวเลี้ยวหัวต่อ” นี้ไปได้อีกครั้ง

ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งก็มีรายงานแบบ “อินไซด์” ในที่ประชุม ครม. ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวกับบรรดาแกนนำในพรรคร่วมรัฐบาล หลังมีคำถามจากสื่อมวลชนในประเด็นที่ว่า พรรคร่วมฯ “ลอยตัว” หรือจะ “ถอนตัว” หรือไม่ว่า โดยมีรายงานว่าในช่วงนี้นายกฯ มีสีหน้าเคร่งเครียดพร้อมกับย้ำว่า “ถามอะไรแบบนี้ ผมก็ทำงานของผม พวกคุณก็ทำงาน เราก็ทำงาน ไม่เห็นมีใครจะไป ใครจะไปหรือ จะทิ้งผมก็ตามใจ เราทำงานด้วยกัน ผมก็ดูแลทุกคน” และในการทำงานในการตัดสินใจของผมแต่ละครั้งไม่ใช่อยู่ๆ จะตัดสินใจคนเดียว ผมมีคณะทำงานชุดที่เสนอ แต่ละเรื่องเข้ามา ก็ขอให้ช่วยกันอธิบาย คนไม่เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเอาไปเขียนผิดๆ ถูกๆ”

ซึ่งในเวลาถัดมา หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล เช่น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ยืนยัน “จะไม่ทิ้งกัน และอยู่ร่วมรัฐบาลจนครบเทอม” รวมไปถึง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ย้ำในทำนองเดียวกัน บอกว่า “ทำงานใหญ่ต้องหนักแน่น” และไม่ต้องพูดกันมาก


แน่นอนว่า ในสถานการณ์ “หัวเลี้ยวหัวต่อ” อย่างที่ว่า เมื่อสองพรรคร่วมรัฐบาลหลัก ทั้งภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์ ที่ถือว่าเป็น “ตัวแปรสำคัญ” ที่มีผลต่ออนาคตของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ย้ำหนักแน่นแบบนี้ มันก็ทำให้อย่างน้อย “แผนเสี้ยม” ของการเมือง “ฝ่ายตรงข้าม” ที่แอบฝันหวานและต้องการ “ล้มบิ๊กตู่” ก็ต้องรอต่อไป แม้ว่าจะพยายามเคลื่อนไหวหนักขึ้นแค่ไหนก็ตาม แต่ในเมื่อสองพรรคหลักดังกล่าวยัง “อยู่กับที่” มันก็ทำอะไรไม่ได้มาก

ขณะเดียวกัน หากมองกันในความเป็นจริงก็มั่นใจได้ว่าคงไม่มีใครอยาก “ฆ่าตัวตาย” ทางการเมือง โดยเฉพาะการพ้นสภาพจากการเป็นฝ่ายรัฐบาลอย่างแน่นอน แม้ว่าในช่วงเวลานี้จะถือว่าเป็นช่วงที่ “หนักที่สุด” สำหรับรัฐบาล และโดยเฉพาะกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่การ “ถอนตัว” ก็คงไม่ใช่คำตอบ อีกทั้งคง “ไม่ใช่แต้มต่อ” กับตัวเอง

และที่สำคัญ อำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรียังอยู่ในมือของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะเป็นการ “ยุบสภา” เป็นรัฐบาลรักษาการ และที่สำคัญเวลานี้กำลังอยู่ในช่วงของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมีอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ในมือ ก็ลองหลับตานึกภาพดูเอาก็แล้วกันว่าคุ้มหรือไม่

ดังนั้น หากพิจารณาตามสถานการณ์แล้วแม้จะยอมรับว่าเป็นช่วง “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ที่มีสาเหตุหลักมาจากภาวะโรคระบาดจากเชื้อโควิด-19 มีความรุนแรงถึงขั้นสูงสุด แต่ขณะเดียวกัน ด้วยมาตรการที่เข้มงวดจากการล็อกดาวน์ ก็น่าจะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อน่าจะลดลงภายในเกือบสองสัปดาห์ข้างหน้า หรืออยู่ในภาวะทรงตัวแล้วค่อยๆ ลดลง ขณะที่อีกด้านหนึ่งภาวการณ์ “ตึงตัว” จากเรื่องวัคซีนน่าเริ่มคลี่คลายลงบ้างหลังจากผ่านเดือนสิงหาคมไปแล้ว แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถประคองตัวให้รอดจากช่วงเวลาวิกฤติแบบนี้ได้หรือไม่เท่านั้นเอง !!


กำลังโหลดความคิดเห็น