“บิ๊กตู่” แจง ส.ว.วัคซีนไม่พอ เหตุหน่วยงานรีบฉีด ไม่บริหารรอล็อตใหม่ แนะอย่าฟังข่าวด้อยค่า ปวดหัวติดกับดักตัวเอง ย้ำไม่เคยโกง ไม่มีเงินผ่านมือ ไม่เคยยุ่ง ส.ว.หัวทำแต่งาน ยันอยู่จนครบ ยิ่งไล่ยิ่งสู้ ส.ว.หนุนกู้เยียวยา ปรับเพดานหนี้สาธารณะ
วันนี้ (14 มิ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เข้าชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภา ระหว่างวาระ พิจารณาอนุมัติ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นการร่วมชี้แจงครั้งแรกในรอบปี 2564 ว่า ตนเป็นทหารมาก่อน ต้องวางแผนกระจายวัคซีน และต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ ปัญหาที่เกิดขึ้นปัจจุบัน เพราะยอดจองฉีดวัคซีนมากกว่า จำนวนวัคซีนที่กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั้งนี้ ตนยืนยันว่า การนำเข้าวัคซีนเป็นไปตามสัญญาหลัก แต่วัคซีนทยอยส่ง ดังนั้น การบริหารฉีดวัคซีนตนยอมให้หน่วยงานบริหารจัดการเอง เช่น เดือนปัจจุบันได้วัคซีน 5 แสนโดส หน่วยงานต้องบริหารให้ได้ภายใน 1 เดือน แต่หากเร่งฉีด 4 แสนโดส ภายในวันเดียว การฉีดจะไม่ถึงเดือน ดังนั้น ต้องยืดให้ยาว เพื่อรอวัคซีนล็อตใหม่เข้ามา
“การสื่อสาร ต้องฟังให้รัฐบาล และผม หากไม่ฟังก็ไปกันใหญ่ มีปัญหาการสร้างการรับรู้ และบิดเบือน ทุกวันนี้มีการเมืองแทรกหมด แต่ผมเคารพ ผมคิดไม่เคยหยุดคิดวันนี้ วันหน้า และอนาคตอนาคต อดีตโควิดเกิดขึ้นแล้ว 2 ครั้ง ปัจจุบันต้องแก้ และต้องคิดถึงอนาคต ปีหน้าต้องหาวัคซีนอย่างไร ซึ่งขณะนี้ได้เจรจากับรัฐบาลจีนแล้ว ส่วนเอกชนจะนำเข้าวัคซีน ผมไม่ขัดข้อง แต่ต้องเจรจากับบริษัทที่ขึ้นทะเบียนกับ อย. เพื่อไม่ให้เป็นปัญหา เพราะเป็นวัคซีนฉุกเฉิน อย่างไรก็ดี รัฐบาลต้องรับผิดชอบทุกคนที่มีผลข้างเคียง อีกทั้งต้องคำนึงถึงความเป็นธรรม ว่า รัฐบาลฉีดให้ประชาชนฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงด้วยว่า สำหรับการใช้เงินกู้ ด้านสาธารณสุขนั้น หากไม่พอตนพร้อมจะจัดสรรเพิ่มเติมให้ ส่วนประเด็นวัคซีนนั้นยืนยันว่ามีงบประมาณดำเนินการแน่นอน หากเพิ่มให้วัคซีน ส่วนอื่นต้องลดลง เพราะเงินมีเท่านั้น อย่างไรก็ดี ตนยืนยันว่า ตลอด 7 ปีที่บริหารงบประมาณ ไม่มีเงินผ่านมือตนสักบาท มีแค่ตัวเลข ดังนั้น หากพบว่ามีโครงการใดทุจริต ขอให้แจ้งเรื่องกับตนพร้อมข้อมูล และตนพร้อมตรวจสอบ เพราะไม่ต้องการให้ใครทำผิดจากนโยบายที่ให้ไป ส่วนที่หลายมองว่าตนยึดอำนาจ รวบอำนาจ เพราะมีกฎหมาย 30 ฉบับไว้เพื่อสั่งการเอง ตนไม่อยากยึดอำนาจ แต่ต้องการปลดล็อกให้ทุกกระทรวง ให้หน่วยงาน เพื่อจัดสรรปันส่วนวัคซีนให้กับทุกพื้นที่
“เป็นรัฐบาลเราที่ทำให้เงินถึงมือประชาชนโดยตรงไม่ผ่านมือคนอื่น ส่วนเงินที่ใช้ตาม พ.ร.บ.งบประมาณ หรือเงินกู้ อยู่ที่การบริหาร หากไม่พอ กระทรวงต้องปรับงบประมาณของตนเอง ขณะนี้รัฐบาลต้องทำเรื่องโควิด-19 การพัฒนา การลงทุน และเพิ่มขีดความสามารถ อย่างไรก้ดี งบประมาณปี 2565 ที่อยู่ในชั้นกรรมาธิการของสภาฯ มีคนไม่พอใจ เพราะพอตัดลดงบประมาณ ไม่สามารถตั้งโครงการใหม่ได้ เพราะกฎหมายห้ามทำ ต้องตัดงบเพื่อมาบริหารใหม่ ส่วนที่หลายคนบอกว่ารัฐบาลนี้เทคโนแครต หากไม่ให้ข้าราชการทำ หรือครอบงำข้าราชการ ทุกคนติดคุกหมด” พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจง
นายกรัฐมนตรี ชี้แจงอีกว่า หากงบประมาณไม่เป็นประโยชน์ โครงการไม่คุ้มค่า ไม่ได้ผล ปีหน้าอย่าตั้งอีก ทั้งนี้ ตนมองว่า ทุกโครงการดี แต่อยู่ที่คนทำข้างล่าง ซึ่งตนโทษไม่ได้ ดังนั้น เมื่อ ส.ว. ลงพื้นที่ขอให้สอนและแนะนำเขาบ้าง อย่างไรก็ดี ข้อเสนอแนะของทุกฝ่ายตนรับฟัง แต่ข่าวที่เกิดขึ้น ฟังมากก็ปวดหัว เพราะมีข่าวด้อยค่า ข่าวลอง หากฟังมากจะติดกับดักตัวเอง ดังนั้นต้องมองภาพกว้าง หากตนทำแล้วไม่พอ ขอให้บอก
“ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ แต่ผมตั้งเกียรติเองไม่ได้ ต้องให้คนอื่นมอบให้ หากผมทำดี ควรให้เกียรติ หากไม่ดี ก็ไม่ให้เกียรติ ที่ผ่านมา ผมไม่เคยนึกถึงตัวเอง หัวผมทำงานทุกวัน ฝันก็ยังเป็นงาน ไม่เคยฝันเป็นอย่างอื่น อยากจะฝันก็ไม่ได้ ผมยืนยันอยู่จนครบ จะได้เลิกพูดสักที วันหน้าหากเลือกตั้ง ก็เลือกให้ดี” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานระหว่างการชี้แจง นายกรัฐมนตรี สอบถาม ส.ว. กลางห้องประชุม ว่า มีประเด็นใดสอบถามหรือไม่ ซึ่งมี ส.ว. ลุกสอบถามถึงการกักตัวของนักท่อเที่ยวชาวต่างชาติ 14 วัน ที่ จ.ภูเก็ต มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่ระหว่างกักตัว 14 วัน จะสามารถเดินทางได้ทั้งภูเก็ต กระบี่ พังงา ซึ่งนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ปัจจุบันนี้รัฐบาลจัดให้มีแซนด์บอกซ์ที่ภูเก็ตที่เดียว ให้มีภูมิคุ้มกันก่อน แต่หากมีวัคซีนพอก็จะขยายในพื้นที่ 3 จังหวัดอันดามัน
ทั้งนี้ ระหว่างที่นายกรัฐมนตรีชี้แจง พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง ฐานะประธานที่ประชุม ได้ส่งข้อความเตือนให้ตอบคำถามหลังอภิปรายเสร็จ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “มีคนไล่ผมแล้ว ในนี้ไม่มีพวก” จากนั้นได้ถามขึ้นว่า ในนี้มีใครไม่เชื่อมั่นผมหรือไม่ ขอให้ยกมือ ปรากฏว่า ไม่มีใครยกมือ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวขึ้นว่า
“ก็ไม่มี ผมบังคับไม่ได้ ผมเคารพท่าน 5-7 ปีที่ผ่านมา ผมไม่เคยยุ่งกับพวกท่าน ผมเชื่อมั่นในวุฒิภาวะ ผมแก้ปัญหาทุกเรื่องที่พะรุงพะรัง ผมพร้อมสู้ ทุกวันนี้มีคนไล่ผม แต่จะบอกว่ายิ่งไล่ ผมยิ่งสู้”
ทั้งนี้ ในส่วนการอภิปรายของ ส.ว. ส่วนใหญ่แสดงความเป็นห่วงต่อการใช้เงินกู้ในการแก้ปัญหา พร้อมเสนอแนะให้เร่งใช้งบประมาณเพื่อสนับสนุนและพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ที่มีข้อมูลคาดการณ์ว่า ไวรัสอาจกลายพันธุ์ ดังนั้น ควรจัดสรรงบประมาณให้กับการพัฒนาและวิจัยพัฒนาวัคซีน
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ ส.ว. ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา อภิปรายว่า การกู้ยืมเงินของรัฐบาลตาม พ.ร.ก.กู้เงิน รอบแรก วงเงิน 1 ล้านล้านบาท พบการอนุมัติโครงการของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทำได้ 93 เปอร์เซ็นต์ แต่การเบิกจ่ายไปเพียง 29 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น เชื่อว่า มีข้อจำกัด และการติดขัดสำคัญ โดยเฉพาะรายละเอียดที่กำหนดไว้ในบัญชีแนบท้าย พ.ร.ก. ดังนั้น ควรทบทวนและปรับปรุง นอกจากนั้น ต้องพิจารณาการเบิกจ่ายเพื่อไม่ให้งบประมาณรั่วไหล ทั้งนี้ ตนสนับสนุนต่อการปรับเพดานหนี้สาธารณะ
“รัฐบาลเตรียมการรองรับอย่างไร หากต้องกู้เงิน มากกว่ากรอบ 5 แสนล้านบาท หากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ยังยืดเยื้อ แม้การใช้กรอบวงเงินแต่ละด้าน จะเกลี่ยแต่ละด้านเพื่อใช้ในด้านอื่นๆ ได้ แต่การบริหารจัดการใช้วงเงินรัฐบาล ควรมีแผนและรายละเอียด” นายวิสุทธิ์ อภิปราย
ขณะที่ พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ ส.ว. ฐานะประธาน กมธ.ติดตามการบริหารงบประมาณ อภิปรายว่า จากการระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา พบว่า ใช้งบประมาณเพื่อเยียวยา ระลอกละ 3 แสนล้านบาท ทำให้การระบาดระลอก 3 ไม่สามารถใช้กรอบเงินกู้จากพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ได้ ดังนั้น หากปัญหาไม่คลี่คลาย เงินจะไม่เพียงพอ ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานเร่งการติดตาม ประเมินผล และกำหนดตัวชี้วัดให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์จากการใช้จ่ายเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ทุกโครงการ ทั้งนี้ ตนเชื่อว่า มีหลายโครงการที่ทำไม่เสร็จ ภายในเดือนกันยายน 2564 และต้องดำเนินการต่อในปีหน้า ดังนั้น สปน. และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต้องเตรียมดำเนินการ
“ผมกังวลต่อสัดส่วนหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น ที่มาจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท และส่วนที่เหลือของ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท รวมถึงกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ปลายปี 2564 เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลกู้เงินแล้ว 2.3 แสนล้านบาท อาจจะทำให้อัตราส่วนหนี้สาธารณะ เมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2563 ขึ้นสูง ทั้งนี้ ผมเห็นด้วยต่อการปรับปรุงเพดานหนี้สาธารณะ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ” พล.อ.ชาตอุดม อภิปราย