บอร์ดเงินกู้สู้โควิด จี้ 3 กรมใหญ่ มหาดไทย ที่กำกับ “3 โครงการเงินกู้” แจ้งด่วน! สถานะโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ก้อน 2.7 แสนล้าน สิ้นสุดเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา หลัง กมธ.งบฯ วุฒิสภา จี้ให้หน่วยงาน แจ้งประเด็นหากถึงขั้นต้องยุติการดำเนินโครงการ เน้นประเด็นอุปสรรค หากพบ ไม่สามารถลงนามจัดซื้อจัดจ้าง หรือไม่มีแผนการใช้จ่าย ณ 30 มิ.ย.นี้ ด้าน ครม.ไฟเขียว “งบกลาง” เกือบ 40 ล้าน ให้ “สบน.” จ้าง “ทีมที่ปรึกษา” 14 เดือน ประเมินผลใช้เงินกู้ 1 ล้านล้าน
วันนี้ (10 มิ.ย. 64) มีรายงานจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สภาพัฒน์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้จากผลกระทบโควิด-19 วงเงิน 1.1 ล้านล้านบาท มีหนังสือด่วนที่สุดถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย
ขอให้เร่งรายงานผลการดำเนินโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563
หนังสือด่วนที่สุดฉบับนี้ สภาพัฒน์ ระบุว่า เป็นไปตามมติของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ 2 มิ.ย. 64 ที่รับทราบข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ติดตาม การบริหารงบประมาณ วุฒิสภา เกี่ยวกับการดำเนินโครงการภายใต้แผนงานหรือโครงการ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบ (แผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 3) ตาม พ.ร.ก. โดยเฉพาะส่วน 400,000 ล้านบาท (โยกไปให้กลุ่มที่ 2 ปรับลดเหลือ 270,000 ล้านบาท)
“ขอให้หน่วยงานรับผิดชอบ เร่งรายงานสถานะของโครงการ รวมทั้งอุปสรรค/ปัญหาที่เกิดจากการระบาดของโควิดระลอกใหม่ ณ สิ้นเดือน พ.ค. 2564 และในกรณีที่ไม่สามารถลงนามผูกพันสัญญาในกิจกรรม/โครงการที่ต้องมีการจัดซื้อจัดจ้างหรือไม่มีแผนการใช้จ่ายในส่วนงบดำเนินงานที่ชัดเจน ภายในวันที่ 30 มิ.ย. 2564 โดยให้หน่วยงานเสนอ “ขอยุติการดำเนินโครงการ” ตามขั้นตอนข้อ 18 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้ พระราชกำหนดฯ พ.ศ. 2563”
ล่าสุด นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัด มท. มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด 53 จังหวัด ให้ตรวจสอบโครงการที่ได้รับเงินกู้เพิ่มเติม วงเงิน 125 ล้านบาท และอีก 3 ฉบับถึง อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่กำกับ “โครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง” อธิบดีกรมพัฒนาชุมชน ที่กำกับ โครงการ “โคก หนอง นา โมเดล” และ อธิบดีกรมการปกครอง ที่กำกับดูแล โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่
ให้จัดทำข้อมูลโครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบ จัดส่งข้อมูลให้ สภาพัฒน์ ภายในวันที่ 14 มิ.ย. 2564
มีรายงานด้วยว่า ในการประชุม ครม. เมื่อ 8 มิ.ย.2564 กระทรวงการคลัง ได้รับความเห็นชอบ ให้ก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2564-2565 สำหรับ “โครงการจ้างที่ปรึกษา” เพื่อติดตามประเมินผลแผนงานหรือโครงการ จากเงินกู้ก้อน 1 ล้านล้านบาท
“ใช้งบประมาณ ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ในกรอบวงเงิน 37.967 ล้านบาท โดยผูกพันปี 2564 วงเงิน 7.593 ล้านบาท และปี 2565 วงเงิน 30.374 ล้านบาท ในเวลาดำเนินการ 14 เดือน (ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 - กันยายน 2565)
ที่ปรึกษา จาก สบน.ชุดนี้ มีหน้าที่จัดทำรายงานการประเมินผลโครงการดังกล่าวเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบทุก 6 เดือน รวมถึงรายงานการกู้เงินตามมาตรา 10 แห่งพระราชกำหนดกู้เงินฯ พ.ศ. 2563 ที่กระทำในปีงบประมาณที่ล่วงมาแล้วให้รัฐสภาทราบ โดยเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการประเมินผลตามระเบียบกระทรวงการคลัง
“มีขอบเขต ศึกษาระดับผลกระทบ (Impact) ของการใช้จ่ายเงินกู้ต่อเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ศึกษาระดับผลผลิต (Output) ผลลัพธ์ (Outcome) ของการดำเนินการตามแผนงาน และศึกษาระดับโครงการ โดยประเมินความเชื่อมโยงระหว่างปัจจัยนำเข้า (Input) กิจกรรมหรือกระบวนการ (Process) ผลผลิต (Output) และผลลัพธ์ (Outcome) ของโครงการ”
โดยให้จัดเก็บลงฐานข้อมูลในระบบ eMENSCR ของสภาพัฒน์
ขณะทีมติ ครม. ระบุว่า การจัดจ้างที่ปรึกษา คาดว่า จะลงนามในสัญญาจ้างในเดือนกรกฎาคม 2564 จ้างในเดือนสิงหาคม 2564 - กันยายน 2565 เพื่อลงพื้นที่ดำเนินโครงการ (เดือนกันยายน 2564 - กันยายน 2565) รายงานประเมินโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จทุก 6 เดือน (รายงานครั้งแรกในเดือนกันยายน 2564) และ รายงานการประเมินผลฉบับสมบูรณ์ (เดือนกันยายน 2565) เป็นต้น
ทั้งนี้ จะใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น.