สวนดุสิตโพล สำรวจข้อมูลข่าวสารยุคโควิด ส่วนใหญ่ติดตามข่าวโควิดตามความสะดวกตนเอง โดยใช้ช่องทางสื่อโซเชียล มองข่าวที่เผยแพร่ให้ข้อมูลเชิงลึก ชี้จะน่าเชื่อถือต้องมีแหล่งอ้างอิง เชื่อมั่นสื่อทีวีที่สุด แนะเสนอความจริงมีจรรยาบรรณ
วันนี้ (6 มิ.ย.) สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี “ข้อมูลข่าวสารในยุคโควิด-19” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,213 คน สำรวจวันที่ 31 พฤษภาคม - 3 มิถุนายน 2564 พบว่า ส่วนใหญ่ประชาชนติดตามข่าวสารตามความสะดวกของตนเอง ร้อยละ 29.43 โดยติดตามผ่านสื่อโซเชียลมีเดียมากที่สุด ร้อยละ 74.81 ทั้งนี้ มองว่า ข้อมูลข่าวสารในปัจจุบันให้ความรู้แง่มุมใหม่ๆ มีการวิเคราะห์เชิงลึก ร้อยละ 52.24 ข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือต้องมีการระบุที่มามีแหล่งอ้างอิงที่ชัดเจน ร้อยละ 78.32 สื่อที่ประชาชนเชื่อมั่นมากที่สุด คือ โทรทัศน์ ร้อยละ 85.24 สิ่งที่อยากฝากบอก “สื่อมวลชน” ณ วันนี้ คือ ควรนำเสนอข่าวตามความเป็นจริง ไม่บิดเบือน ร้อยละ 78.71 และมีจรรยาบรรณในหน้าที่ ร้อยละ 76.24
นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัยสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยว่า ประชาชนมองว่าข่าวในปัจจุบันมีการนำเสนอแง่มุมที่หลากหลายมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีข่าวปลอมมากขึ้นด้วยเช่นกัน บางครั้งข่าวปลอมหรือข่าวที่เป็นกระแสเหล่านั้นเกิดขึ้นเพราะต้องการกลบกระแสข่าวหลักอื่นๆ “ข้อมูลข่าวสาร” จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการชี้นำสังคม ประชาชนจึงมองว่า “สื่อมวลชน” นั้น ควรทำหน้าที่อย่างเหมาะสม และยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพของตนเองเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกันสรรค์สร้างสังคมไทย
พ.ท.ดร.อมรรัตน์ เรืองสกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์นวัตกรรมและผู้ประกอบการธุรกิจ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผย จากผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า ประชาชนต้องการให้สื่อมวลชนปรับเปลี่ยนวิธีคิด ตรวจสอบข่าวก่อนนำเสนอและมีอุดมการณ์ จรรยาบรรณอย่างสูงสุดในการทำหน้าที่สื่อมวลชน ปัจจุบันการขายข่าวเชิงพาณิชย์ยังมีอยู่มาก และอาจจะมากขึ้นด้วยจาก Hate Speech หรือ ความรุนแรงทางวาจา และ Hate Crime หรืออาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง การเสนอข่าวบางอย่างควรมีกระบวนการตรวจสอบ กลั่นกรองข่าวสารอย่างจริงจัง ควรหันมาทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน (Investigative Reporting) หรือข่าวในลักษณะ Data Journalism หรือ Data Analytics ให้มากขึ้น
เป็นศิลปะอย่างหนึ่งของสื่อมวลชนเช่นกันที่จะจับภาพมุมใด รายงานแบบใด เล่าเรื่องแบบไหนที่ทำให้เกิดความแตกแยกน้อยที่สุด นับวันจะเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทยที่ฝังเข้าไปในส่วนลึกของจิตใจ เมื่อต้นเหตุมาจากความคิดและจิตใจของเราเอง จะแก้ได้คงต้องแก้ที่ความคิดและจิตใจของทุกๆ ฝ่ายเช่นกัน