xs
xsm
sm
md
lg

“อาคม” ย้ำ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน ช่วยผู้ประกอบการ ก้าวไกล อัดนายกฯเลิกโม้ ปล่อยการ์ดตกสร้างหนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รมว.คลัง แจง พ.ร.ก.ซอฟต์โลน ช่วยผู้ประกอบการรับผลกระทบโควิด ส.ส.รัฐ ชมแก้ตรงจุด ก้าวไกล ซัดนายกฯหยุดคุยแก้ดีกว่าชาติอื่น ฉะทำผู้ประกอบการเป็นหนี้หลังรัฐเองการ์ดตกปล่อยระบาดระลอก 3 “สาทิตย์” แนะฟังทุกภาคส่วนอย่าทำตัวรู้ทุกเรื่อง

วันนี้ (27 พ.ค.) เมื่อเวลา 13.10 น. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือ และฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 (พ.ร.ก.ซอฟต์โลน)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการตรา พ.ร.ก.ดังกล่าว ว่า โดยที่การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ความเสี่ยงด้านเครดิตการเงินของประเทศปรับสูงขึ้นมาก ที่ผ่านมาแม้ภาครัฐจะให้การช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาผลกระทบ แต่ผู้ประกอบการต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูกิจการนาน จึงต้องมีมาตรการเพิ่มสภาพคล่องให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลก และลดภาระหนี้ มาตรการต่างๆ ต้องทำโดยเร่งด่วนเพื่อไม่ให้สถานการณ์ลุกลามบานปลาย จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.ก.ฉบับนี้ ประกอบด้วย 2 มาตรการ คือ 1. มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อในอัตราที่เหมาะสม ผ่านกลไกการลดความเสี่ยงด้านเครดิตของภาครัฐ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มดังกล่าวสามารถประคับประคองธุรกิจและรักษาการจ้างงาน รวมทั้งปรับปรุงธุรกิจเพื่อให้สอดรับกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากการระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง

และ 2. มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิซื้อทรัพย์สินนั้นคืนในภายหลัง (มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้) วงเงิน 1 แสนล้านบาท ซึ่งภาครัฐเร่งออกมาตรการให้ความช่วยเหลือสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจ ไม่ต้องรับภาระต้นทุนทางการเงินเป็นการชั่วคราว และไม่ถูกบังคับให้ขายทรัพย์สินหลักประกันในราคาต่ำกว่าสภาพความเป็นจริง ให้แก่กลุ่มทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งมีโอกาสกลับมาดำเนินธุรกิจโดยใช้ทรัพย์สินหลักประกันเดิมได้หลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายสนับสนุน พ.ร.ก.ซอฟต์โลน เนื่องจากมีความจำเป็นเร่งด่วน และมีการปรับปรุงข้อเสียของ พ.ร.ก.เมื่อปี 63 ทำให้แก้ปัญหาได้ตรงจุด เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ลูกค้าธนาคารสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งเชื่อว่าวงเงินจะเพียงพอต่อการแก้ไขสถานการณ์ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะได้รับการช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม

ขณะที่ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า รัฐบาลจะทำตัวเป็นผู้รู้ทุกอย่างไม่ได้ แต่ต้องฟังทุกภาคส่วน การปล่อยกู้ผ่านสถาบันการเงิน เราไม่มีการกำหนดเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อเชิงนโยบาย จึงไม่มีการจัดลำดับความสำคัญ แต่เป็นนโยบายของแต่ละธนาคารที่กำหนดเอง และแม้ว่าการแก้ไขปัญหาเฉพะหน้าเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำ แต่ต้องมองระยะยาวต่อไปในวันข้างหน้าด้วย

นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ก่อนหน้านี้ รัฐบาลเคยออก พ.ร.ก.ซอฟต์โลน มาแล้วแต่ไม่ตอบโจทย์ ครั้งนี้เป็นรอบที่ 2 แต่กลับไม่มีเป้าหมาย ไม่มีการอธิบายว่า อยากเห็นการปล่อยกู้เท่าไหร่อย่างไร มีแต่การบอกวัตถุประสงค์คร่าวๆ ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการกำกับธนาคารต่างๆ ให้ปล่อยกู้ตามเป้าหมาย และเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด จึงให้ ธปท.เร่งสร้างความมั่นใจให้ธนาคารต่างๆ ว่าพร้อมชดเชยหนี้เสียในเวลาที่เหมาะสม ต้องเพิ่มมาตรการสร้างแรงจูงใจให้ธนาคารต่างๆ ในการปล่อยสินเชื่อ เช่น ให้มีค่าธรรมเนียมพิเศษกรณีลูกหนี้ขอวงเงินต่ำกว่า 2 ล้านบาท ให้สถาบันการเงินของรัฐมีความเข้มแข็งมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อ ตั้งคอลเซ็นเตอร์รวมถึงโครงการคลินิกช่วยกู้ เพื่อรับเรื่องให้คำปรึกษาระหว่างเอสเอ็มอีกับสถาบันการเงิน

“ท่านนายกฯหยุดโม้คุยโวว่าการดูแลการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำได้ดีกว่าชาติอื่นๆ แต่ให้มองด้านความเสียดายทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้เสียหายน้อยกว่าชาติอื่นเลย ประชาชนทำธุรกิจอยู่ดีๆ กลับกลายต้องมีปัญหา โดยที่รัฐหยิบยื่นซอฟต์โลนและความเป็นหนี้ให้ ทั้งที่ผลกระทบเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากการบริหารธุรกิจผิดพลาด แต่เป็นรัฐบาลที่ล้มเหลวผิดพลาดไม่รอบคอบ ไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ ปล่อยให้ลักลอบเข้าเมืองจนนำมาสู่การแพร่ระบาดระลอกใหม่ และเป็นรัฐบาลเองที่การ์ดตก ดังนั้น รัฐจึงจำเป็นต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการ และต้องเยียวยาโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ท่านต้องกล้าจ่ายเงินให้ผู้ประกอบการโดยที่ไม่ต้องกลัวว่าจะโดนตำหนิ ว่าให้เงินแก่ผู้ที่ไม่สมควรได้ เพื่อช่วยกู้สถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่” นายพิจารณ์ กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น