สภาผ่าน พ.ร.ก.ปรับอัตราดอกเบี้ย ยึดมาตรการโควิด ให้แต่ผู้อภิปรายผู้เกี่ยวข้องอยู่ที่ประชุม สวมหน้ากากตลอด “อาคม” แจงแก้ กม.ล้าหลังเกือบร้อยปี ปรับดอกเป็นธรรมอุ้มลูกหนี้ สร้างความมั่นคง ศก. ส.ส.หนุนบรรเทาหนี้ แต่ติงช่วยได้แค่ 0.1%
วันนี้ (27 พ.ค.) เมื่อเวลา 09.40 น. ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมี นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับการปรับดอกเบี้ยและ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มีกำหนดประชุมระหว่างวันที่ 27-28 พ.ค. 64
ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระ นายชวน แจ้งต่อสมาชิกถึงการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ซึ่งผ่านการหารือและดูพื้นที่จริงจากกรมควบคุมโรคแล้ว ประกอบด้วย การสวมหน้ากากป้องกันตลอดเวลาการประชุม การจัดที่นั่งแบบเว้นระยะห่างการกำหนดจำนวนให้ ส.ส.อยู่ภายในห้องประชุมใหญ่ด้วยจำนวนน้อยที่สุด เฉพาะช่วงเวลาที่ต้องอภิปรายส่วนผู้ที่ยังไม่ถึงเวลาอภิปรายได้จัดพื้นที่ทำงานไว้ด้านนอกห้องประชุม ขณะการประชุมพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ในวันที่ 31 พ.ค.- 2 มิ.ย. นี้ ผู้อภิปรายแต่ละคนอาจต้องใช้เวลานาน จึงจัดเตรียมแท่นสำหรับยืนอภิปรายแยกออกมาและอยู่ห่างจากสมาชิกคนอื่นรวมทั้งมาตรการอื่นๆ
นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรอ่านพระบรมราชโองการประกาศพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยสามัญประจำปีฯ ให้สมาชิกรับทราบ โดยประธานสภาฯแจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงกรณีที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองผลการเลือกตั้งให้ นายกองตรีอาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ พรรคพลังประชารัฐ เป็น ส.ส.นครศรีธรรมราช เขต 3 แทนตำแหน่งที่ว่าง หลังมีการเลือกตั้งเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ขณะนี้มีจำนวน ส.ส.ที่มีอยู่และปฏิบัติหน้าที่ได้ 482 คน และให้ นายกองตรีอาญาสิทธิ์ ปฏิญาณตนก่อนเริ่มปฏิบัติหน้าที่
จากนั้นได้มีการพิจารณา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ที่ ครม. มีมติเห็นชอบและมีผลบังคับไปแล้ว ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ ปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมาย ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยที่มิได้กำหนดโดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง อัตราดอกเบี้ยผิดนัด โดยปรับจากอัตราคงที่ร้อยละ 7 ครึ่ง ต่อปี เป็นร้อยละ 3 ต่อปี และร้อยละ 5 ต่อปีตามลำดับ ทั้งนี้ กำหนดฐานการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ในหนี้ ที่เจ้าหนี้กำหนดให้ลูกหนี้ผ่อนชำระเป็นงวด เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์และสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมและความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ เป็นต้น
นายอาคม เติมวิทยาไพสิฐ รมว.กระทรวงการคลัง ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต หรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้า เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน ซึ่งคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เสนอต่อ ครม.ว่า อัตราดอกเบี้ยในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานกว่า 95 ปี โดยมิได้มีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ และสภาพเศรษฐกิจ และอัตราดอกเบี้ยคงที่ที่กำหนดไว้ ร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันที่มีอัตราเฉลี่ยร้อยละ 0.5 ต่อปี จึงทำให้ลูกหนี้ได้รับความเดือดร้อนจากภาระดอกเบี้ยตามกฎหมายที่กำหนดไว้สูงเกินสมควร ส่งผลให้เกิดการประวิงเวลาฟ้องร้องดำเนินคดีของเจ้าหนี้เพื่อหาประโยชน์จากความไม่เหมาะสมของอัตราดอกเบี้ยในกฎหมาย
“ปรากฏข้อเท็จจริงว่าในสัญญามีการเอาเปรียบและไม่เป็นธรรมต่อลูกหนี้อย่างมาก เจ้าหนี้จำนวนหนึ่งได้กำหนดวิธีการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ลักษณะที่เป็นการเอาเปรียบและไม่เป็นธรรมต่อลูกหนี้อย่างมาก เมื่อผิดนัดหลายงวดติดต่อกันดอกเบี้ยผิดนัดก็สะสมเป็นจำนวนมากให้ทำให้ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เกิดเป็นหนี้เสีย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม และขณะนี้ประเทศไทยกำลังประสบปัญหากับการระบาดของโควิด-19 ทำให้ประชาชนและผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางจำนวนมากไม่สามารถชำระหนี้ได้เช่นเวลาปกติ” รมว.คลัง กล่าว
นายอาคม กล่าวต่อว่า กระทรวงการคลังจึงมีความเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องมีการแก้ไข และเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.ก.ฉบับนี้ ยืนยันว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยในกฎหมายที่มีความสอดคล้องกับสภาพการณ์และสภาพเศรษฐกิจ
ส.ส.พรรคฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลได้ลุกขึ้นอภิปรายพ.ร.ก.ดังกล่าวอย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่สนับสนุนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยค่าปรับ แต่ท้วงติงว่ารายละเอียดนั้นไม่ครอบคลุมลูกหนี้ทุกกลุ่ม อาทิ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ขอชมเชยการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ เพราะช่วยเหลือลูกหนี้ให้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น แต่เป็นความเป็นธรรมที่ล่าช้า เพราะประชาชนรอเกือบ 100 ปี โดยเฉพาะประเด็นคำนวนดอกเบี้ยผิดนัดที่เอารัดเอาเปรียบลูกหนี้อย่างมาก และความเสียหายที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ใครจะรับผิดชอบ ทั้งที่บางลูกหนี้ไม่ได้ตั้งใจผิดนัดชำระหนี้แม้แต่ครั้งเดียว ทำให้สะสมดอกเบี้ยจนกลายเป็นชำระไม่ไหว และกลายเป็นเกิดหนี้เสีย
นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่าตนเสนอให้รัฐบาลออก พ.ร.ก. อีกฉบับ เพื่อปรับรายละเอียดให้ครอบคลุมการแก้ปัญหาหนี้ของลูกหนี้ทุกกลุ่ม เพราะจากรายละเอียดของ พ.ร.ก.ที่เสนอไม่ครอบคลุมกับลูกหนี้ 4 ประเภท คือกรณีมีสัญญาเงินกู้ แต่ไม่ระบุอัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขการชำระคืน กรณีไม่มีสัญญา กรณีละเมิดทางแพ่ง และกรณีมีดอกเบี้ยผิดนัด ทั้งคำนวณจากเงินต้นเฉพาะงวดผิดนัด และการใช้ดุลยพินิจของศาล รวมถึงลูกหนี้รายใหม่ที่คาดหวังว่าจะได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยที่ลดลงตาม พ.ร.ก. เนื่องจากเงื่อนไขของการแก้ไข พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว ยังมีเงื่อนไขที่ผูกติดกับประกาศของกระทรวงการคลัง จำนวน 4 ฉบับ ซึ่งไม่ลดอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงิน
“ปัจจุบันมีสินเชื่อในระบบทั้งหมด 17 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 12-13 ล้านล้านบาท เป็นของประชาชนและกลุ่มบริษัท ที่เหลือเป็นส่วนของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ทุกกรณีมีสัญญา ดังนั้นผู้ที่จะได้ประโยชน์จาก พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว มีเพียง 0.1% เท่านั้น ทั้งนี้ในหลักคิดผมเห็นด้วย แต่ ผิดหวังกับการแก้ปัญหาหนี้ในระบบได้เพียง 0.1% เท่านั้น ดังนั้นตามอำนาจควรออก พ.ร.ก.อีกฉบับเพื่อให้ลูกหนี้ทุกกลุ่มได้ประโยชน์และครอบคลุมกับลูกหนี้รายใหม่” นายเกียรติ กล่าว
ขณะที่ นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ขอเรียกร้องให้ประธานสภาฯ ส่ง พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ตีความว่าการให้อำนาจกระทรวงการคลังเพื่อขึ้นดอกเบี้ยโดยไม่ผ่านกระทรวงนั้น ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 หรือไม่ ซึ่งกรณีที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังออกพระราชกฤษฎีกา ปรับเพิ่มดอกเบี้ยได้นั้นประชาชนได้รับผลกระทบและตนมองว่าอาจเป็นการช่วยเหลือนายทุน
“พ.ร.ก.ฉบับนี้ เหมือนน้ำผึ้งอาบยาพิษ เหมือนจะดีแต่ไม่ดี เพราะการให้อำนาจกระทรวงการคลังพิจารณาปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ว่าจะลดลงหรือเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศ เป็นพระราชกฤษฎีกาทุกๆ 3 ปีเท่ากับสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ตามอำเภอใจ เช่น ร้อยละ 7 เท่ากับเขียนเช็คเปล่าให้กระทรวงการคลังไปดำเนินการ ประชาชนมีแต่ได้รับโทษ ทั้งนี้กระบวนการออกกฎหมายของรัฐบาลใช้วิธีปิดปากสภาฯ ไม่สามารถแก้ไขได้” นายธีรัจชัย กล่าว
นายอาคม รมว.คลัง ยืนยันว่า ในส่วนข้อท้วงติงของ ส.ส. อาทิ การคุ้มครองทุกกลุ่มเป้าหมาย จะรับไปพิจารณา ทั้งนี้ การปรับรายละเอียดจะมีคณะกรรมการพิจารณาอีกครั้ง โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมและประโยชน์ของประชาชน
จากนั้นที่ประชุมได้มีมติอนุมัติ ด้วยคะแนนเสียง 403 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง