รองโฆษกรัฐ เผย ครม.กดปุ่มเพิ่ม อ.จะนะ สงขลา เป็นเขตปลอดอากร เห็นชอบในหลักการร่างประกาศ ก.คลังกำหนดหลักเกณฑ์ให้หน่วยงานของรัฐที่เวนคืนที่ดินในที่ดินที่อยู่ในแนวเขตที่ดินของรัฐ 4 ประเภท จ่ายค่าตอบแทนให้แก่ก.คลังผ่านบัญชีกรมธนารักษ์
วันนี้ (25 พ.ค.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงการอนุญาตจัดตั้งและการเลิกดำเนินการเขตปลอดอากร พ.ศ. 2560 และแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงการอนุญาตประกอบกิจการในเขตปลอดอากร พ.ศ. 2560 โดยแก้ไขบทนิยาม “โครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ให้ครอบคลุมพื้นที่อื่นใดที่ครม.กำหนดให้เป็นเมืองต้นแบบในการพัฒนาให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งจะมีผลให้ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นเขตปลอดอากรเพิ่ม จากเดิมได้กำหนดบทนิยาม “โครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ซึ่งสามารถจัดตั้งเขตปลอดอากรครอบคลุมพื้นที่อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และอำเภอเบตง จังหวัดยะลา เท่านั้น
ทั้งนี้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาประกาศเพิ่มเติม เรื่องการกำหนดพื้นที่ปลอดอากร โดยเพิ่มอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้มีการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ในฐานะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต เพื่อรองรับเขตการพัฒนาเศรษฐกิจเฉพาะ ซึ่งกระทรวงการคลังเห็นว่า เพื่อให้การดำเนินการตามแนวทางของโครงการเมืองต้นแบบฯ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดให้ประชาชนที่เดินทางไปท่องเที่ยวสามารถซื้อสินค้าปลอดอากรในพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาได้ และเพื่อให้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจัดตั้งเขตปลอดอากรประเภทพาณิชยกรรมมีความยืดหยุ่น สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจสมัยใหม่และรองรับการค้าการลงทุนของเอกชนได้อย่างรวดเร็ว จึงได้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดอัตรา หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายค่าตอบแทนในที่ดินของรัฐให้แก่กระทรวงการคลัง ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดอัตรา หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายค่าตอบแทนในที่ดินของรัฐให้แก่กระทรวงการคลัง ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐที่เวนคืนได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว แต่มีที่ดินที่อยู่ในแนวเขตที่ดิน ที่จะเวนคืนซึ่งเป็นที่ดินของรัฐ 4 ประเภท ได้แก่ 1. ที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน 2. ที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ หรือที่ดินที่ได้สงวนหวงห้ามไว้ตามความต้องการของทางราชการ 3. ที่ดินรกร้างว่างเปล่า หรือที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้ง หรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่น ตามประมวลกฎหมายที่ดิน และที่ดินนั้นอยู่นอกเขตป่าไม้ถาวรตามมติครม. และ 4. ที่ดินที่เป็นป่าสงวนแห่งชาติ
ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่เวนคืนนั้นมีอำนาจเข้าครอบครอง ดูแล และใช้ประโยชน์ โดยเมื่อเจ้าหน้าที่ได้จ่ายค่าตอบแทนให้แก่กระทรวงการคลัง ตามอัตรา หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนดแล้ว ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นตกเป็นของหน่วยงานของรัฐที่เวนคืน โดยได้กำหนดให้มีคณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทนที่ดินของรัฐประกอบด้วยคณะกรรมการ 2 ชุด ได้แก่ 1. ในเขตกรุงเทพมหานคร และ 2. ในเขตจังหวัดอื่น โดยคณะกรรมการมีหน้าที่กำหนดค่าตอบแทนที่ดินของรัฐตามอัตราที่กำหนด เช่น กรณีเป็นกิจการลงทุนให้กำหนดค่าตอบแทนที่ดินของรัฐให้ได้ราคาเทียบเคียงราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด หรือในกรณีเป็นกิจการสาธารณะให้กำหนดค่าตอบแทนที่ดินของรัฐให้ได้เทียบเคียงกับราคาประเมินที่ดิน ส่วนวิธีการชำระเงินค่าตอบแทนนั้น ให้เจ้าหน้าที่ชำระเงินผ่านบัญชีของกรมธนารักษ์