“ทนายนกเขา” นำตัวแทนกลุ่ม “ประชาชนคนไทย” แถลงเรียกร้อง “พล.อ.ประยุทธ์” ลาออก ชี้ปฏฺิรูปประเทศไม่ได้แม้แต่ข้อเดียว แก้คอร์รัปชันล้มเหลว ละเลยการบังคับใช้กฎหมาย ปล่อยให้มีการล่วงละเมิดสถาบันอย่างรุนแรง แก้ปัญหาโควิด-19 ไม่ได้ จี้เสียสละเปิดทางเลือกนายกฯ คนนอก ตั้งรัฐบาลสร้างชาติ
วันนี้ (15 พ.ค.) เมื่อเวลา 13.50 น. ที่หน้าอาคารพญาไทพลาซ่า แกนนำกลุ่มประชาชนคนไทย (ปท.) ประกอบด้วย นายนิติธร ล้ำเหลือ หรือทนายนกเขา ในฐานะที่ปรึกษากลุ่ม นายพิชิต ไชยมงคล อดีตแกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) และนายปรีดา เตียสุวรรณ์ ประธานเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ได้จัดแถลงข่าวขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลเสียสละลาออก โดยนายพิชิตกล่าวว่า ทางกลุ่มได้หารือกันมาระยะหนึ่งแล้วเพื่อหาทางออกให้สังคมในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยสิ่งที่เรายืนยันมาตลอดคือการเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทยเหมือนที่เราเสนอในการชุมนุมเมื่อ 7 ปีที่แล้ว และเป็นที่ชัดเจนว่า ฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่สามารถที่จะทำการปฏิรูปประเทศไทยได้ ไม่มีความคืบหน้าในการปฏิรูปประเทศอย่างเป็นรูปธรรมสักข้อเดียวโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปตำรวจและปฏิรูปการเมือง พวกเราจึงมีความเห็นว่าถึงเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเสียสละตัวเอง เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดรัฐบาลสร้างชาติขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคสอง ภายใต้กลไกรัฐสภา
นายพิชิตกล่าวต่อว่า รัฐบาลสร้างชาติจะมีภารกิจ คือ 1. การแก้ไขปัญหาโควิด-19 อย่างเป็นรูปธรรม และสร้างการมีส่วนร่วมให้มากกว่านี้ หยุดการคอร์รัปชัน กระจายวัคซีนให้เป็นรูปธรรมและทั่วถึง 2. ดำเนินการปฏิรูปประเทศไทยโดยมีกรอบเวลาที่ชัดเจน 3. สร้างความปรองดองในชาติให้ได้ แต่รัฐบาลสร้างชาติจะเกิดขึ้นได้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องเสียสละตัวเองด้วยการลาออก เพื่อเปิดทางให้มีรัฐบาลสร้างชาติขึ้นมาตามกลไกของรัฐสภา
ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคสองนั้น ได้เปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาเลือกนายกรัฐมนตรีที่เป็นบุคคลภายนอก ซึ่งไม่ได้อยู่ในรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอไว้ตอนเลือกตั้งทั่วไปได้
ด้านนายปรีดากล่าวว่า เราพยายามที่จะให้รัฐธรรมนูญที่เป็นรัฐธรรมนูญปฏิรูปฉบับสุดท้ายของประเทศไทย เพราะเราต่อสู้มานาน รัฐบาลเคยตั้งคณะกรรมการเพื่อมาทำการปฏิรูปอย่างน้อย 2 ชุด ชุดแรกมี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน ชุดที่ 2 มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ซึ่งการศึกษาของทั้งสองชุดพบว่าประเทศไทยมีปัญหาอย่างมากเรื่องความเหลื่อมล้ำ ถ้าไม่แก้ไขปัญหานี้จะนำมาซึ่งวิกฤตความแตกแยก เราได้ทำหนังสือบอกทางออกชัดเจนว่า ถ้าจะแก้ปัญหานี้ สิ่งแรกต้องกระจายอำนาจ แต่หนังสือเล่มนั้นไม่เคยนำมาเปิด สิ่งที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เสนอเรื่องการปฏิรูปจึงไม่ใช่ การปฏิรูปไม่ได้ก้าวหน้าทั้งสิ้น ขณะที่เศรษฐกิจถูกควบคุมโดยคนไม่กี่ตระกูล ความเหลื่อมล้ำมีมากขึ้น การปกครองปัจจุบันเอื้อเฉพาะผู้มีอำนาจ ทั้งนักการเมือง นักธุรกิจ มันไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่เรามีข้อเสนอ เราอยากจะได้คนมาเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะแก้ปัญหาของประเทศได้อย่างแท้จริง ถ้าเราไม่ทำตั้งแต่ตอนนี้ อีกหน่อยประเทศไทยจะมีแต่ผู้สูงอายุ ประเทศไทยจะเป็นสังคมล้มเหลว ไม่สามารถสร้างผลิตผลมาดูแลผู้สูงอายุได้ เราจึงจำเป็นต้องได้รัฐธรรมนูญใหม่ที่จะมาปฏิรูปอย่างแท้จริง
ขณะที่นายนิติธรกล่าวว่า เหตุที่ตนออกมาครั้งนี้ และเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกเพราะได้ประเมินการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา โดยใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือฉบับปี 2560 ในการประเมิน พบว่าการบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญทั้งหมด
นายนิติธรกล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มีอารัมภบทของรัฐธรรมนูญที่บ่งชี้เจตนารมณ์และถือเป็นกฎหมายด้วยเหมือนกัน พูดถึงปัญหาซึ่งเป็นเหตุที่ต้องมีรัฐธรรมนูญ 2560 ขึ้นมา ได้แก่ 1. เกิดจากมีผู้ไม่นำพาหรือไม่นับถือยําเกรงกฎเกณฑ์การปกครองบ้านเมือง 2. การทุจริตฉ้อฉลหรือบิดเบือนอํานาจ 3. การขาดความตระหนักสํานึกรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชน จนทําให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นผล การประเมินรัฐบาลก็ใช้หลักนี้ประเมิน ขอถามว่ารัฐบาลนี้นำพาต่อกฎหมายบ้านเมืองหรือไม่ รัฐบาลนี้มีความน่าเชื่อถือและยอมรับได้ว่าไม่มีการทุจริตหรือเปล่า หรือมีการปราบปรามทุจริตจริงจังหรือไม่ ยกตัวอย่างกรณีนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นอกจากนี้ เรื่องการขาดความตระหนักสำนึกรับผิดชอบ การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นผลนั้น ขอยกตัวอย่าง รัฐบาลชุดนี้ปล่อยให้มีการล่วงละเมิดสถาบันมากที่สุดในประวัติศาสตร์ จนเกิดความขัดแย้ง ประชาชนต้องออกมาปกป้องสถาบันด้วยตัวเอง ขณะที่รัฐบาลเพิกเฉยปล่อยให้เกิดการล่วงละเมิดสถาบันอย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถจัดการอะไรได้เลย
นายนิติธรกล่าวอีกว่า กรณีการระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่มาถึงวันนี้ปัญหาไม่ใช่วัคซีน เพราะวัคซีนเป็นปัญหาที่ 2 ปัญหาแรกคือการไม่นำพาในการบริหารจัดการป้องกันการแพร่เชื้อ และผู้ที่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อล้วนแล้วแต่มีเจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายบริหารเข้าไปเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดการกระจายเชื้อ และที่สำคัญคือการข้ามแดน แล้วนายกฯ รวบอำนาจตามกฎหมาย 31 ฉบับมาไว้คนเดียวแล้วทำอะไรบ้าง ปิดด่านชายแดนได้หรือไม่ กระจายวัคซีนได้หรือไม่ ดังนั้น เมื่อประเมินแล้วจึงเห็นว่ารัฐบาลไม่สามารถนำพาให้ประเทศรอดพ้นวิกฤตไปได้ จึงควรเสียสละลาออกไป
หลังจากนั้น นายพิชิตได้อ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก และระบุว่าในวันอังคารที่ 18 พ.ค.จะมีตัวแทนของกลุ่มไปยื่นหนังสือแถลงการณ์ดังกล่าวที่ทำเนียบรัฐบาล
รายละเอียด กลุ่มประชาชนคนไทย (ปท.) แถลงข่าว ขอให้รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสียสละลาออกวันเสาร์ที่ 15 พฤษภาคม 2564 เวลา 14.00 น. ณ โถงอาคารชั้น 1 อาคารพญาไทพลาซ่า
ในห้วงระยะ 7 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลที่นำโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งสืบทอดอย่างต่อเนื่องมาจาก คสช. เป็นบทพิสูจน์ชัดถึงการยึดอำนาจเพื่อตนเองและพวกพ้อง ไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปในทุกด้านของประชาชน มีแต่ความพยายามกระชับอำนาจ และออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจ ตั้งพรรคการเมืองเพื่อเข้าสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้งจากรัฐธรรมนูญที่เขียนให้ตนเองได้เปรียบ อีกทั้งยังผิดสัญญาประชาคมซึ่งเคยให้ไว้ต่อรัฐสภา ประชาชนคนไทยต้องทนเห็นการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลของรัฐบาล รวมถึงการตระบัดสัตย์ในคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้กับประชาชน
ที่สำคัญ การก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นเรื่องที่ประชาชนคนไทยห่วงกังวล แทนที่รัฐบาลจะปกป้องสถาบันฯ อย่างแข็งขัน กลับกลายเป็นการนำสถาบันฯ มาเป็นข้ออ้างเพื่อแบ่งแยกประชาชน แอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเกราะปิดบังพฤติกรรมชั่วร้ายผิดจริยธรรมทางการเมือง และกลบเกลื่อนความผิดพลาดล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของระบอบประยุทธ์
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ไม่แสดงท่าทีใดๆ เมื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกแอบอ้างนำมาเป็นประเด็นทางการเมือง ถูกกล่าวหาใส่ร้ายและโจมตีอยู่บนท้องถนนอย่างโจ่งแจ้งอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน พลเอก ประยุทธ์ยังคงแสดงออกราวกับว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาความแตกแยกของคนในชาติไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล เป็นปัญหาระหว่างประชาชนส่วนหนึ่งกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งๆ แท้จริงแล้วต้นเหตุของปัญหาล้วนมาจากรัฐบาลนั่นเอง
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงคำปรารภของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ชี้ให้เห็นถึงวิกฤตของประเทศชาติไว้ดังนี้ 1. เกิดจากมีผู้ไม่นำพา หรือไม่นับถือยำเกรงกฎเกณฑ์การปกครองบ้านเมือง 2. ทุจริตฉ้อฉล หรือบิดเบือนอำนาจ 3. ขาดความตระหนักสำนึกรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชน จนทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นผล
อีกทั้งยังระบุถึงแนวทางป้องกันแก้ไขด้วยการปฏิรูปการศึกษา การบังคับใช้กฎหมาย และเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบคุณธรรมและจริยธรรม
ดังนั้น คำปรารภดังกล่าวถือเป็นบรรทัดฐานสำคัญที่รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องบริหารประเทศเพื่อยุติวิกฤตดังกล่าวโดยเร่งด่วน แต่ที่ผ่านมารัฐบาลมิได้นำพาแก้ไขจนทำให้วิกฤตดังกล่าวของชาติขยายตัวทั้งด้านกว้างและลึก คุณภาพชีวิตของประชาชนวิกฤตหนักถึงขีดสุดอย่างที่ไม่เกิดขึ้นมาก่อน หากปล่อยให้เนิ่นนานออกไป ประเทศไทยจะตกอยู่ในภาวะล่มสลาย ด้วยเหตุนี้ การแก้ไขวิกฤตชาติต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของประชาชนทุกภาคส่วน พร้อมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ นักการเมือง รวมถึงนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ต้องเสียสละ ร่วมมือกันสร้างชาติให้แข็งแกร่งด้วยหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยึดถือหลักความสุจริต หลักสิทธิมนุษยชน และหลักธรรมาภิบาล อันจะทำให้ขับเคลื่อนประเทศให้พัฒนาไปข้างหน้าอย่างมั่นคง
พวกเราในนาม “กลุ่มประชาชนคนไทย” เห็นว่า ในห้วงระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตระบัดสัตย์ในคำมั่นสัญญาประชาคม ไม่ดำเนินการปฏิบัติเป็นรูปธรรม 5 ด้าน ดังนี้
1. ด้านการปฏิรูปประเทศ
ภายหลังการเลือกตั้ง การปฏิรูปทุกด้านที่เคยให้คำมั่นสัญญาไว้ยังไม่เกิดขึ้น แต่ประชาชนคนไทยต้องทนเห็นการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลของรัฐบาลประยุทธ์ โดยที่กระบวนการตามรัฐธรรมนูญจัดการกับพฤติกรรมและการใช้อำนาจที่ฉ้อฉลเหล่านั้นไม่ได้ แม้จะมีความพยายามในการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ตามกรอบรัฐธรรมนูญ ปี 2560 แต่ก็ไม่ได้มีความคืบหน้า หรือเกิดรูปธรรมที่เห็นได้ชัดว่าแนวทางการปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้ตามเจตนารมณ์ของประชาชน
2. ด้านการปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ
การปรองดองสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ ให้ความเป็นธรรมต่อมวลชนทุกกลุ่ม ไม่แบ่งแยกสีเสื้อและกลุ่มทางการเมือง เพื่อนำชาติบ้านเมืองเดินไปข้างหน้า แต่ที่ผ่านมารัฐบาลมิได้พยายามทำให้เกิดการปรองดอง เพราะระบอบประยุทธ์อาศัยความขัดแย้งของประชาชนเป็นเครื่องมือในการแบ่งแยกแล้วปกครอง จึงไม่เห็นความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะขจัดความขัดแย้งในหมู่ประชาชน เพราะระบอบประยุทธ์ได้ประโยชน์จากความขัดแย้งนั้นมาโดยตลอด
3. ด้านทุจริตคอรัปชัน
กรณีอภิมหาโครงการที่เกิดขึ้นในรัฐบาลประยุทธ์ที่หลายฝ่ายยกเป็นผลงานของรัฐบาล แต่กลับมองข้ามเงื่อนงำของอภิมหาโครงการเหล่านั้นว่า ไม่ได้คำนึงถึงการจัดทำโครงการที่มีคุณภาพ หรือจัดการบริหารงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชาติบ้านเมือง ทั้งยังเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนบางกลุ่มที่เป็นนายทุนพรรคร่วมรัฐบาล โดยมีเบี้ยบ้ายรายทางตกหล่นจนกลายเป็นผลประโยชน์แอบแฝง ก่อให้เกิดกลุ่มทุนการเมืองใหม่ที่ขึ้นตรงต่อนักการเมืองในรัฐบาลชุดนี้ ไม่ต่างไปจากกลุ่มทุนลักษณะเดียวกันที่รัฐบาลนี้เคยต่อต้านหรือหมิ่นแคลนว่าสร้างความเสียหายต่อชาติบ้านเมือง
4. ด้านการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19
รัฐบาลต้องยอมรับว่าความล้มเหลวในการจัดการรับมือกับโควิดระลอกที่ 2 และ 3 นั้นมาจากความผิดพลาดของรัฐบาล ทั้งเรื่องการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาจนเกิดการระบาดรุนแรงที่จังหวัดสมุทรสาคร แล้วส่งผลกระทบไปทั่วประเทศ รวมถึงการปล่อยให้มีการมั่วสุมในสถานบันเทิงจนกลายเป็นการระบาดรอบล่าสุดที่หนักกว่าทุกครั้ง และการจัดการกับบ่อเกิดของปัญหาเหล่านี้ รัฐบาลไม่ได้จัดการอย่างจริงจังกับการหาคนกระทำผิดมาลงโทษเลย
ส่วนการเสียชีวิตของประชาชนเพราะไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที รวมทั้งกระบวนการจัดหาวัคซีน การฉีดวัคซีนที่ล่าช้า การสื่อสารที่สร้างความสับสนกับประชาชน ล้วนแต่เป็นรูปธรรมความล้มเหลวอย่างยิ่งของรัฐบาลในการบริหารจัดการ
5. ด้านจริยธรรมทางการเมือง
ในด้านจริยธรรมทางการเมือง ตัวพลเอก ประยุทธ์ แสดงออกทำให้เชื่อได้ว่าใกล้ชิดกับนายทุนที่เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่บางราย ตั้งแต่การแต่งตั้งบุคคลที่สนิทสนมกับกลุ่มธุรกิจปลอดภาษีเป็นประธานของบริษัทท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ตามมาด้วยการแต่งตั้งให้บุคคลที่เป็นตัวแทนของกลุ่มธุรกิจใหญ่กลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ เข้าไปนั่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน จนทำให้สามารถได้รู้ข้อมูลด้านการลงทุนที่ยังไม่เปิดเผยก่อนผู้อื่น และรู้แง่มุมของการวางนโยบายที่เป็นเรื่องไม่พึงเปิดเผยด้วย ทั้งยังเคยเชิญนักธุรกิจบางคนให้ร่วมแสดงความเห็นในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นความเห็นที่เป็นประโยชน์แก่นักธุรกิจผู้นั้นโดยเฉพาะ ความสัมพันธ์ในลักษณะเช่นนี้ไม่เหมาะสมสำหรับผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศ
ข้อเสนอ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ต้องเสียสละลาออก เพื่อเป็นทางออกภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 เปิดให้มีการเลือก “นายกรัฐมนตรีจากนอกบัญชีพรรคการเมือง” โดยใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคสอง ที่ให้ “ยกเว้น” การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีในบัญชีพรรคการเมือง กรณีไม่ได้เสียง “เกินกว่ากึ่งหนึ่ง” ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของรัฐสภา โดยใช้เสียง “2 ใน 3” ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของรัฐสภา ให้ยกเว้นการเลือกนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมือง
รัฐบาลชุดใหม่ต้องเป็นรัฐบาลเพื่อ “สร้างชาติ” จักต้องกำหนดภารกิจมุ่งเน้นการปฏิรูปทุกด้าน ทั้งปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปการศึกษา ขจัดการผูกขาดทางธุรกิจ ขจัดการคอรัปชัน ขจัดปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 และจัดกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยจากตัวแทนทุกฝ่าย โดยมีกรอบเวลาที่ไม่ล่าช้า ภายในระยะเวลาไม่เกิน 15 เดือน
เชื่อมั่นในพลังประชาชน
15 พฤษภาคม 2564