xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ดปฏิรูปประเทศด้านการเมือง แนะ 6 ข้อ ทุกภาคส่วนร่วมสู้โควิด-19 จี้ “สื่อมวลชน” หยุดวิจารณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บอร์ดปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ออก 6 ข้อเรียกร้อง รัฐ/ธุรกิจ/สื่อ/คนไทย/ต่างชาติในประเทศ รับมือวิกฤติการณ์โควิด-19 แนะ “จัดระบบการฉีดวัคซีน” กระจายไปทุกชุมชนโปร่งใสและตรวจสอบได้ ท้องถิ่น/เอกชน มีส่วนร่วม จี้รัฐแก้ปัญหาข่าวบิดเบือน เฉพาะข้อ 5 เรียกร้อง “สื่อมวลชน” หยุดวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ที่จะนำไปสู่ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

วันนี้ (11 พ.ค. 64) มีรายงานจากสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สภาพัฒน์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 13 ด้าน และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เผยแพร่คำแถลงของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง 1 ใน 13 ด้าน เรื่อง “ความร่วมมือในการรับมือและแก้ปัญหาวิกฤตการณ์โควิด-19 ของประเทศไทย” ลงวันที่ 7 พ.ค. 2564

โดยสรุปของแถลงการณ์ 6 ด้าน เรียกร้องให้คณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา พรรคการเมืองหน่วยงานของรัฐทุกประเภท องค์กรเอกชนทุกแขนง สื่อมวลชน เอ็นจีโอ ประชาชนชาวไทยและต่างประเทศที่พำนักในไทย ร่วมรับมือและป้องกันปัญหาด้วยความรักสามัคคี

“ให้หน่วยงานรัฐเปิดเผยข้อมูลข่าวสารทุกด้านอย่างรวดเร็ว ถูกต้องเชื่อถือได้ เพื่อป้องกันการใช้ข่าวไม่ถูกต้องส่งต่อระหว่างทางสื่อสังคมออนไลน์ จนกลายเป็นข่าวบิดเบือน และเรียกร้องให้ สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และเอกชนทุกภาคส่วน สนับสนุนหน่วยงานรัฐ” แถลงข้อ 2 และ 3 ระบุ

ขณะที่ข้อ 4 เรียกร้องให้รัฐบาล “จัดระบบการฉีดวัคซีน” กระจายไปทุกชุมชนอย่างทั่วถึง โดยโปร่งใสและตรวจสอบได้ ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เช่น ท้องถิ่น อาสาสมัครต่างๆ รวมถึงให้เปิดเผยจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีน และเหลียวแลผู้ที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงการให้บริการจะให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกับระบบการฉีดวัคซีน

ข้อ 5 เรียกร้องให้สื่อมวลชนเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องตรวจสอบอย่างเคร่งครัด หยุดวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ที่จะนำไปสู่ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง และข้อ 6 ขอให้ประชาชนร่วมให้กำลังใจบุคลากรทุกภาคส่วนที่ทำหน้าที่เป็นหน้าด่าน

สำหรับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เป็นหนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 13 ชุด 13 ด้าน โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งจนถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2565

สำหรับกรรมการชุดนี้ มีนายปกรณ์ ปรียากร เป็นประธานกรรมการ มีกรรมการอีก 12 คน ได้เแก่ นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ นายวรรณธรรม กาญจนสุวรรณ นายนรชิต สิงหเสนี พลเอก เอกชัย ศรีวิลาศ นายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ นายเจษฎ์ โทณะวณิก นายสุภาพ คลี่ขจาย นายอนุสรณ์ ลิ่มมณี นายเรืองวิทย์ เกษสุวรรณ นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม และนายวันฉัตร สุวรรณกิตติ เป็นกรรมการและเลขานุการ

มีขอบเขตงาน ทั้งด้านการเมือง การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของภาครัฐและภาคประชาชน การพัฒนาองค์กรทางการเมือง การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองโดยสันติวิธี ความมั่นคงของรัฐ เกียรติภูมิและผลประโยชน์แห่งชาติ การต่างประเทศ

โดยกรรมการชุดนี้จะมีค่าตอบแทนประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 9,000 บาท/เดือน (จากเดิมเบี้ยประชุมครั้งละ 7,500 บาท) และค่าตอบแทนคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 7,200 บาท/เดือน (จากเดิมเบี้ยประชุมครั้งละ 6,000 บาท)


กำลังโหลดความคิดเห็น