รองหัวหน้าพรรคกล้า และอดีตประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทยจี้รัฐตั้ง “สภา SME” แนะใช้ “อสม.โมเดล” เป็นต้นแบบ ดึงจิตอาสารายย่อยทั่วประเทศเฟ้นหาตัวจริงรับการเยียวยา ก่อนเกิด “โดมิโนเอฟเฟกต์” พังทั้งระบบ
วันนี้ (27 เม.ย.) นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคกล้า และอดีตประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เรียกร้องให้รัฐบาลตั้ง “สภา SME” เพื่อรวบรวมคนตัวเล็ก ซึ่งมีเกือบ 4 ล้านรายหรือราว 20 ล้านคน ถือเป็นฐานที่มั่นหลักทางเศรษฐกิจของประเทศให้ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาแบบตรงคนตรงจุด ดีกว่าโปรยเงินจากฟ้าแล้วปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งขณะนี้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกสามสร้างความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง เสียงความเดือดร้อนแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ทั้งร้านค้าปลีก โชวห่วย โอทอป เกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นที่น่ากังวลว่าหากสถานการณ์ยืดเยื้ออาจพังทั้งระบบ
นายวรวุฒิกล่าวว่า การช่วยเหลือเอสเอ็มอีเป็นปัญหามาเกือบ 30 ปี จนถึงวันนี้ความช่วยเหลือก็ยังลงไม่ถึงตัวจริง แม้เวลานี้หลายหน่วยงานทำหน้าที่ช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอี แต่เอสเอ็มอีก็ยังไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร วิกฤตโรคระบาดรอบนี้เอสเอ็มอีตัวจริงได้เงินช่วยเหลือมาตรการเยียวยาผ่านแอปฯ เป๋าตังเหมือนประชาชนทั่วไป แต่มาตรการเงินกู้เพื่อเอสเอ็มอีกลับไปตกอยู่กับเอสเอ็มอีขนาดกลาง ซึ่งพอมีเงินอยู่แล้ว แต่ไม่กล้าให้รายเล็กเพราะกลัวเกิดหนี้เสีย (NPL) ดังนั้นหากไม่ตั้งสภาเอสเอ็มอีขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ ไม่มีทางแก้ปัญหาได้
“ถึงเวลาแล้วที่เราจะมีสภาเอสเอ็มอีจริงๆ จังๆ เทียบเท่ากับสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า สภาดิจิทัล ทุกวันนี้ถูกแบ่งอยู่ในกลุ่มของทั้งสองสภาก็จริง แต่ถ้าไปดูในรายละเอียดจะรู้ว่าการช่วยเหลือไม่ค่อยถึง ซึ่งตอนนี้มีการรวมตัวกันเป็นสภาเอสเอ็มอีอยู่แล้ว แต่ยังเป็นรูปแบบที่ยังไม่ได้รับการยกระดับมีกฎหมายรองรับ และยังไม่รวมศูนย์ การดำเนินการจึงเป็นเหมือนเบี้ยหัวแตก เราควรทำให้มันเป็นองค์กรเดียว ไม่กระจัดกระจาย ปัญหาของประเทศไทยตอนนี้คือมีกระทรวงและหน่วยงานมากมาย เหมือนจะพร้อมให้การช่วยเหลือ แต่การประสานงานทำได้อย่างยากเย็น โครงสร้างในองค์กรภาครัฐไม่เอื้อต่อการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ภาคเอกชนต่อสู้มาตลอดว่าควรปฏิรูประบบราชการ และแม้จะมีความพยายามทำมาหลายครั้ง แต่ก็กลับไปเพิ่มความยิ่งใหญ่ให้กับภาครัฐจนเป็นรัฐราชการ” นายวรวุฒิกล่าว
นายวรวุฒิกล่าวด้วยว่า วันนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนไม่น้อยที่ต้องหยุดกิจการ เนื่องจากคนไม่กล้าเดินทางไปจับจ่าย เมื่อเอสเอ็มอีซึ่งมีจำนวนถึง 1 ใน 4 ของประชากรทั่วประเทศ (ราว 20 ล้านคน) เป็นผู้เดือดร้อนด่านแรก มันก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งระบบ และเสียดายเวลาหนึ่งปีกว่าที่ผ่านมาไม่ได้ใช้วิกฤตให้เป็นโอกาสเท่าที่ควร เช่น ควรสอนให้เกษตรกรตัวเล็กทำธุรกิจผ่านออนไลน์ แม้จะพอมีทำอยู่บ้าง แต่เป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก รัฐควรตั้งศูนย์เทคโนโลยีชุมชน สอนให้ชาวบ้านใช้เทคโนโลยีให้เป็น ซึ่งถ้ามีสภาเอสเอ็มอีมันจะช่วยได้ หลักการคือให้ยึดต้นแบบ อสม.ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งผู้ประกอบการรายย่อยก็กระจายอยู่ทุกหมู่บ้านเช่นเดียวกัน ให้เป็นจิตอาสา สำรวจ ประสาน คัดกรอง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการตัวเล็กอย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้ระบบมันมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการก่อนเกิดเป็นโดมิโนเอฟเฟกต์พังทั้งระบบ
นายวรวุฒิกล่าวด้วยว่า อยากให้รัฐบาลยึดแนวที่ 45 ซีอีโอ เสนอเพื่อแก้ปัญหาการฉีดวัคซีนล่าช้า และอยากให้ใช้โอกาสนี้ทะลุทะลวงกติกา กฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหา ในภาวะวิกฤต รัฐบาลมีเป้าหมายฉีดวัคซีน 50 ล้านโดสครอบคลุมทุกกลุ่มประชากรเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งหมายถึงต้องฉีดให้ได้ราว 300,000 คนต่อวันนับตั้งแต่เข็มแรกที่ฉีดคือเดือนมิถุนายน จนถึงสิ้นปี เวลานี้ยังไม่เห็นการจัดระเบียบ วางระบบการฉีดวัคซีน ว่าจะฉีดที่ไหน การขนส่งวัคซีนที่ต้องควบคุมอุณหภูมิจะต้องทำอย่างไร ถ้าไม่จัดระบบให้ดีจะเกิดความโกลาหลอย่างแน่นอน