หัวหน้าพรรคกล้า ชี้ ยังมีงบหลายแสนล้านที่ยังไม่ได้ใช้ แนะรัฐบาลโยกมาเยียวยาประชาชน ผู้ประกอบการ และซื้อวัคซีน “วรวุฒิ” ย้ำ ตั้งสภาเอสเอ็มอี ต่อลมหายใจผู้ค้ารายย่อย 4 ล้านรายทั่วประเทศ “จาตุรนต์” ร่วมวงแจมคลับเฮาส์ แลกเปลี่ยนความเห็นด้วย
วันนี้ (14 เม.ย.) พรรคกล้าได้มีการระดมสมองผ่านแอปพลิชัน “คลับเฮาส์” แลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็น “ถ้าเป็นรัฐบาลจะรับมือโควิดรอบนี้อย่างไร” โดยมี ผู้บริหารของพรรคกล้า นำโดย นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรค, นายวรวุฒิ อุ่นใจ, นายพงษ์พรหม ยามะรัต รองหัวหน้าพรรคกล้า ร่วมด้วยสมาชิกพรรค คนเจนกล้า คนทั่วไป และ นายจาตุรนต์ ฉายแสง เข้ามาร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นด้วย
นายกรณ์ กล่าวว่า ประเด็นปัญหาโควิด ขณะนี้มีหลายระดับมาก ตั้งแต่ผลกระทบเศรษฐกิจ จนถึงเรื่องของวัคซีน ตลอดจนความชัดเจนในการให้ความรู้กับประชาชน ว่า กลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการตรวจหาเชื้อนั้น ต้องไปตรวจที่ไหน โดยมีน้องคนหนึ่งมาเล่าให้ฟังว่า ไปที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง แต่ไม่สามารถตรวจได้ สุดท้ายต้องไปโรงพยาบาลเอกชน ก็ได้รับแจ้งว่า ตอนนี้ยุติการตรวจแล้ว แต่อีกสองวันต่อมา ดาราชื่อดังโชว์ผลตรวจว่าตัวเองไม่ติดโควิด ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเดียวกับที่น้องคนนั้นไปขอเข้ารับการตรวจ แต่ได้รับการปฏิเสธ เกิดเป็นประเด็นกระทบความรู้สึกกัน ดังนั้น ตอนนี้สิ่งที่ต้องการจากรัฐ คือ ต้องให้ข้อมูลว่าโรงพยาบาลไหนบ้างที่รับหรือไม่รับตรวจ และถ้าไม่รับก็ต้องชัดเจนถึงเหตุผลที่ไม่รับ สถานพยาบาลทุกที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมซึ่งกรณีติดเชื้อแล้ว ตามกฎหมายคือกักตัวเองไม่ได้ ต้องให้นอนโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ปัญหาคือ บางโรงพยาบาลไม่ตอบรับ กลายเป็นว่าต้องไปอาศัยระบบอุปถัมภ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าระบบมีปัญหา และจะมากขึ้นเรื่อยๆ
“การโหลดแอป หรือการเช็กอิน ก็ไม่ได้มีข้อมูลเตือนว่าใครเสี่ยง ใครติด และไม่มีสัญญาณเตือนอะไร จนมีข่าวว่าผู้ติดโควิดขึ้นเครื่องบินไปลงที่ จ.นครศรีธรรมราช ได้ สร้างความกังวลให้กับผู้ร่วมเดินทาง ตอนนี้รัฐบาลต้องสื่อสารให้ชัดเจน และที่สำคัญคือ การชี้แนะให้กับกลุ่มเสี่ยงว่าจะต้องไปตรวจที่ไหนบ้าง ถ้าตรวจแล้วติดต้องไปรักษาที่ไหน และถ้าไม่ติดต้องไปกักตัวที่ไหนได้บ้าง เพื่อลดความสับสนและความกังวลให้กับประชาชนที่ไม่รู้จะหันไปถามใคร ขณะเดียวกันในแต่ละจังหวัดมีมาตรฐานเหมือนกันหรือไม่ ผู้ว่าฯของทุกจังหวัดก็มาจากกระทรวงมหาดไทยเหมือนกัน นโยบายจากส่วนกลางให้อำนาจาผู้ว่าฯ แค่ไหน ถ้าให้ใช้วิจารณญาณส่วนตัวของผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัด ผมก็ว่าไม่น่าจะถูกต้องนัก” นายกรณ์ กล่าว
หัวหน้าพรรคกล้า ยังกล่าวถึงกรณีมีข่าวว่า รัฐบาลจะเปิดโอกาสให้เอกชน สามารถซื้อวัคซีนมาฉีดได้เองว่า เท่าที่ดูข้อมูลประเทศอื่นยังไม่มีระบบนี้ ทั้ง อังกฤษ ญี่ปุ่น หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกา ก็ยังถือว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะจัดสรรวัคซีนให้กับประชากรของเขา มีที่เดียวที่ถกกันเรื่องนี้ คือ ประเทศมาเลเซีย แต่เขาก็ยังไม่ยอมให้เอกชน หรือประชาชนที่มีเงินสามารถซื้อวัคซีนได้ มองในมุมหนึ่ง คือ ลดภาระของรัฐ ที่ไม่ต้องไปแย่งวัคซีนกับคนที่เงินไม่พอที่จะเข้าถึงวัคซีนได้เอง แต่มองอีกมุม เมื่อวัคซีนมีจำกัด การจัดสรรก็น่าจะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลหรือไม่ นอกจากนี้ ฐานะทางการเงินของประเทศเพียงพอที่จะผลักดันหนี้สาธารณะให้เพิ่มขึ้นหรือไม่ ถ้าสามารถช่วยให้ประชาชนดีขึ้น ตนเห็นด้วย แต่ก็ต้องไปดูงบที่ยังมีอยู่ด้วยว่า ได้ถูกใช้ไปอย่างเหมาะสมแล้วหรือยัง
“งบฟื้นฟูที่กันไว้สี่แสนล้านนั้น วันนี้ใช้ไปนิดเดียว เท่าที่ทราบตอนนี้มีเหลืออยู่สองแสนกว่าล้านตอนนี้ ก็ควรจะโยกมาก่อน แทนที่จะนำไปใช้กับโครงการตามระบบราชการ ตามสภาวะปกติ แต่ให้นำมาใช้เพื่อเยียวยาช่วยเหลือเอสเอ็มอี ประชาชน และการซื้อวัคซีน ซึ่งหากรัฐบาลบอกว่าซื้อไม่ได้ ก็จะมีคำถามว่า แล้วที่บอกว่าจะเปิดให้เอกชนไปซื้อ เขาไปซื้อจากไหน อยากเรียนว่า ฐานะทางการคลังของประเทศขณะนี้ยังไม่มีปัญหา ถ้างบฟื้นฟูหมด ก็ยังมีงบฉุกเฉินแสนล้านที่ยังไม่ได้ใช้ และงบกระทรวงสาธารณสุขที่กันไว้ห้าหมื่นกว่าล้านเพิ่งใช้ไปนิดเดียว จากเดิมที่เราคิดว่าเรารอวัคซีนได้ เราจะซื้อที่เราจองไว้ รวมกับที่เราจะผลิตได้เอง จึงไม่ได้รีบร้อนเพราะคนไทยติดเชื้อน้อย แต่วันนี้ถ้าสถานการณ์เปลี่ยนไปก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิด แล้วใช้เงินนี้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือการฉีดวัคซีน และเยียวยาประชาชน” นายกรณ์ กล่าว
ด้าน นายวรวุฒิ รองหัวหน้าพรรคกล้า กล่าวถึงโครงสร้างเศรษฐกิจที่ต้องปรับตัวตามสถานการณ์โควิดว่า การทำแอปพลิเคชันรวบรวมข้อมูลผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เพื่อขอรับการเยียวยาจากภาครัฐบาล ในทางเทคนิคไม่ใช่เรื่องยาก อยู่ที่ว่าหน่วยงานภาครัฐยินดีที่จะแชร์ข้อมูลด้วยหรือไม่ ที่ผ่านมาหน่วยงานที่ทำหน้าที่ได้ดีคือ กระทรวงสาธารณสุขเนื่องจากมีกลไก อสม. ที่มีจำนวนนับล้านคนทั่วประเทศ ถ้ามีสภาเอสเอ็มอีของแต่ละจังหวัด ก็จะคล้ายกับ อสม. ที่มีหน่วยงานไปประสานงานในพื้นที่ได้ การทำฐานข้อมูลก็จะเป็นรูปธรรม การเยียวยาผู้ประกอบการก็จะง่ายขึ้น และเสนอให้รัฐบาลใช้โอกาสนี้เอาสินค้าเกษตรกรเข้าสู่ตลาดการค้าออนไลน์ให้มากขึ้น เวลานี้ เกษตรกร เอสเอ็มอี ผู้ประกอบการ เป็นจำนวนมากที่ใช้ออนไลน์ไม่เป็น ถ้ารัฐใช้โอกาสนี้ เชื่อว่าทุกคนจะขายของออนไลน์กันเป็นทั้งประเทศ เนื่องจากเริ่มคุ้นชินกับการใช้แอพกระเป๋าตังก์มาแล้ว แต่ถ้าไม่ดำเนินการอย่างเร่งด่วนก็จะเกิดปรากฏการณ์โดมิโน่เอฟเฟกต์ หากรายย่อยเจ๊ง ธุรกิจต่อเนื่อง รวมถึงรายใหญ่ก็จะทยอยเจ๊งลงไปเรื่อยๆ
นายพงษ์พรหม รองหัวหน้าพรรคกล้า กล่าวว่า มาตรการการตรวจคัดกรองของภาครัฐขณะนี้ มันทำหน้าที่ตรงไหน หลายคนใช้ชีวิตปกติทั้งที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง บางคนที่ตรวจพบว่าติดโควิด โทร.หาโรงพยาบาลเพื่อให้ส่งรถมารับ แต่โรงพยาบาลบอกไม่มีรถ และบอกแค่เพียงให้ปฏิบัติตัวอย่างไร ในโรงพยาบาลมีการแยกการตรวจหาเชื้อโควิดกับโรคอื่นๆ หรือไม่แค่ไหน มาตรการความปลอดภัยเป็นอย่างไร ตรงนี้ยังไม่ชัดเจน
ขณะที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นว่า การดูแลเยียวยาประชาชน ต้องใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะรายได้ของภาครัฐในรูปของภาษีน้อยกว่ารายจ่ายประจำ งบประมาณที่จะต้องนำไปใช้ คือ ต้องเป็นเรื่องของการลงทุน หากผิดวัตถุประสงค์ก็เข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญได้ ส่วนเรื่องวัคซีน ขณะนี้ประเทศไทย ตกขบวนติดอันดับโลก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแลกเปลี่ยนข้อมูลมีทั้งผู้มีประสบการณ์ตรงในภาครัฐ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และผู้ที่อยู่วงนอกที่อยากรู้ โดยมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ ประเด็นเฉพาะหน้า ถ้าต้องกักตัว กักที่ไหน ถ้าป่วยรักษาที่ไหน จึงอยากให้ภาครัฐทำการประชาสัมพันธ์ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ และขยายการตรวจให้กว้างขึ้นเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ซึ่งกลายเป็นสถานที่เสี่ยงไปโดยปริยายโดยทุกคนยอมรับว่า แม้จะมีการขยายเตียงไปยังโรงพยาบาลสนามก็ตาม แต่หากบุคลากรทางการแพทย์ยังคงที่ การดูแลก็ไม่มีทางทั่วถึง นอกจากนี้ ยังมีการยกตัวอย่างภูเก็ตโมเดล ทำให้เอกชนกดดันเพื่อให้มีมาตรการช่วยเหลือ จนนำไปสู่นโยบายการเปิดเมืองให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้ มีการระดมฉีดวัคซีนให้กับประชาชนไปแล้ว 1 แสนราย และสิ่งที่ถกกันมากที่สุด คือ ถ้าต้องอยู่กับโควิดไปอีกนานรัฐบาลจะทำอย่างไร การให้ข้าราชการ work from home ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่น่าจะเป็นทางออกที่ดี ธุรกรรม นิติกรรม หลายอย่างก็ไม่สามารถดำเนินการทางออนไลน์ได้ บางคนเสนอให้มีการปรับโครงสร้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เอื้อต่อการรับมือวิกฤต