โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ มั่นใจฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยต่อเนื่อง การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกนี้ ควบคุมได้ เชื่อประชาชนให้ความร่วมมือ
วันนี้ (18 เม.ย.) นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความมั่นใจว่า มาตรการที่คณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบค. ที่มีมติเห็นชอบในการปรับระดับของพื้นที่สถานการณ์ทั่วประเทศ และการปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรค เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดจากผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการที่เดินทางกลับหลังเทศกาลสงกรานต์ และเพิ่มประสิทธิภาพการลดการแพร่เชื้อที่สัมพันธ์กับสถานบันเทิง การรวมกลุ่ม การสังสรรค์ และปัจจัยที่ทำให้มีการระบาดในวงกว้าง ซึ่งมาตรการต่างๆ ได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบแล้วนั้น จะสามารถทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงได้โดยเร็ว และไม่แพร่กระจายไปมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยมาตรการที่สำคัญต่างๆ มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันนี้ (18 เม.ย. 64) เป็นต้นไป โดยรัฐบาลตัดสินใจหลีกเลี่ยงที่จะออกมาตรการล็อกดาวน์ หรือมาตรการเคอร์ฟิว เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อประชาชนมากเกินไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น รัฐบาลยังคงต้องขอความร่วมมือจากประชาชนอีกครั้งในการร่วมมือร่วมใจกันปฏิบัติตามมาตรการที่ ศบค. กำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อผลสำเร็จในการควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในระลอกนี้
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังมีความมั่นใจว่า เศรษฐกิจไทยจะยังสามารถขยายตัวได้ในปี 2564 นี้ เนื่องจากสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 จะเริ่มดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งภายในปี 2564 นี้ ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนโควิด-19 ไม่น้อยกว่า 63 ล้านโดส ที่รัฐบาลได้สั่งจองไปแล้ว และที่นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 10 ล้านโดส สำหรับใช้ในสถานพยาบาลของรัฐ และวัคซีนทางเลือกเพื่อนำมาให้บริการในสถานพยาบาลเอกชน ดังนั้น การฉีดวัคซีนให้กับประชาชน จะสามารถดำเนินการได้ตามที่วางแผนไว้ กล่าวคือ ประชาชนในประเทศไทยจะได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 35 ล้านคน ภายในปี 2564 นี้
นายอนุชา กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรี มีความมั่นใจเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดในระลอกนี้ ว่า รัฐบาลสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลยังมีเงินเกือบ 3.8 แสนล้านบาท สำหรับนำมาใช้เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ แยกเป็นเงินจำนวน 2.4 แสนล้านบาท จาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีเงินจากงบกลางปี 2564 ในส่วนของเงินสำรองจ่ายเพื่อการฉุกเฉินและจำเป็นอีก 98,500 ล้านบาท และงบสำหรับบรรเทาโควิด-19 อีก 36,800 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลจะเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน