กก.สมานฉันท์ เตรียมสรุปข้อมูล ร่างรายงานวางแนวทางปรองดอง ส่งมือ “ชวน” ก่อนตั้ง กก.ชุดใหญ่รับลูก “เทอดพงษ์” ชี้ต้องได้ รธน.ฉบับ ปชช.- ส.ส.มีที่มาโปร่งใส ทำสภาศักดิ์สิทธิ์เชื่อถือได้ ปัญหาทุกอย่างไหลมาแก้ไขในเวทีสภา ช่วยคลีคลายความขัดแย้ง สมานฉันท์เกิดได้แน่นอน หวังทุกฝ่ายยอมเปิดใจ ลดอคติต่อกัน อาจพาไทยเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์
วันนี้ (14 เม.ย.) นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะกรรมการได้แต่งตั้งอนุกรรมการ 2 ชุด เพื่อทำการเก็บข้อมูลจากทุกฝ่ายรอบด้านแล้ว คือ คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นและสื่อสารสาธารณะ มี ศ.วันชัย วัฒนศัพท์ ประธาน และ คณะอนุกรรมการสมานฉันท์เชิงประเด็น มี นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธาน ขณะนี้อนุกรรมการทั้งสองชุดได้รวบรวมมาโดยได้ทบทวนการระดมความคิดเห็นและรวบรวมประเด็นต่างๆ เพื่อจัดทำร่างรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการเกี่ยวกับข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาและสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยแบ่งเป็นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งจะมีการนำเสนอร่างแรกต่อที่ประชุมคณะกรรมการในวันจันทร์ที่ 19 เม.ย. นี้ พร้อมทั้งจะขอเข้าหารือกับนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาเพื่อนำเสนอ ร่างรายงานดังกล่าวต่อไป เนื่องจากเราเกิดขึ้นจากดำริของประธานรัฐสภา ส่วนจะนำไปดำเนินการอย่างไรต่อไปเป็นดุลพินิจของท่าน
นายเทอดพงษ์ กล่าวว่า คณะกรรมการฯชุดของตนทำหน้าที่ศึกษาหาข้อมูลและหาผลสรุปแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งความเหลื่อมล้ำทางสังคม กฎหมาย สิทธิเสรีภาพ เพื่อเสนอแนวทางในระยะเร่งด่วน เมื่อมีการเสนอรายงานนี้ต่อประธานรัฐสภาแล้ว ก็จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีก 1 ชุด ซึ่งจะเป็นคณะกรรมการชุดใหญ่ที่จะมารับผิดชอบหาแนวทางแก้ไขในระยะยาว เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์โดยสมบูรณ์ โดยใช้รายงานของเราเป็นหลักในการพิจารณา
เมื่อถามว่า ต้องยอมรับว่า ปัญหาความขัดแย้งในประเทศไทยมีมายาวนานตั้งแต่กลุ่มคนเสื้อเหลืองมาจนถึงกลุ่ม 3 นิ้ว คิดว่ารายงานฉบับนี้พอที่จะเยียวยาให้ความขัดแย่งเบาบางลงได้ในระดับหนึ่งหรือไม่ นายเทอดพงษ์กล่าวว่า เรายอมรับว่าปัญหาความขัดแย้งเกิดมาสั่งสมมานาน ไม่ว่าจะปัญหากระบวนการยุติธรรมเบื้องต้น หรือปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความได้เปรียบเสียเปรียบในทุกแง่ของการวิ่งเต้นเส้นสาย ปัญหามากมายที่ทำให้รู้สึกแปลกแยกและไม่ปรองดอง ต้องมีการศึกษารายละเอียดเป็นเรื่อง ๆ และ ต้องแก้ไปทีละจุด เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน หรือให้ปัญหาเหล่านี้ลดน้อยลงไป การจะแก้ปัญหาได้อย่างจริงจัง ต้องยึดปัญหานี้เป็นสำคัญ เพราะปัจจุบันประชาชนบางกลุ่มเกิดความรู้สึกไม่พอดี หลายคนรู้สึกเราเสียเปรียบ ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม เราต้องหาทางทำอย่างไรให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกัน ซึ่งคณะกรรมการก็หาวิธีโดยการรับฟังความคิดเห็นจากทุกรอบด้านและนำเสนอต่อประธานสภา
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความคาดหวังมากน้อยแค่ไหนว่ารายงานฉบับนี้จะได้รับการตอบรับ และสร้างความปรองดองได้ นายเทอดพงษ์ กล่าวว่า เราก็พยายามให้ครอบคลุมปัญหามากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตามข้อมูลที่ได้ทั้งทางวิชาการ และการรับฟังจากทุกฝ่าย ซึ่งเป็นข้อมูลที่ตกผลึกแล้ว โดยมีการนำมาศึกษาทีละส่วน
“แต่ถึงแม้เราจะมีการออกแบบวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ความปรองดอง ในประเทศดีอย่างไร หากประชาชนไม่ยอมเปิดใจและลดอคติที่มีต่อกัน ก็ไม่มีประโยชน์ ทุกคนต้องยอมเปิดใจรับด้วยถึงจะสำเร็จ และเรายังต้องทำความเข้าใจกันอีกมาก ที่ผ่านมาข้อมูลของคณะกรรมการได้ไม่ครบจากทุกฝ่าย เพราะยังขาดส่วนของผู้ชุมนุม ฝ่ายตรงกันข้ามกับผู้ชุมนุม ที่ยังไม่มีการแต่งตั้ง เพราะหลายกลุ่ม และหลายส่วนก็ไม่มีแกนนำ จึงไม่รู้ว่าจะไปเชิญแกนนำที่ไหน บางครั้งก็ใช้วิธีโทรศัพท์ติดต่อไป อีกทั้งยังติดปัญหา ว่าถ้ารับคนเหล่านี้ได้อีกกลุ่มจะยอมรับได้หรือไม่ ถือเป็นปัญหารุงรัง แต่ก็พยายามที่จะหาข้อมูลทั้งหมด และนำเสนอไปตามแนวทางที่เราได้มา”
เมื่อถามต่อว่า สถานการณ์การเมืองขณะนี้ทวีความร้อนแรงมากขึ้น รายงานฉบับนี้จะถือว่าออกมาถูกที่ถูกเวลาหรือไม่ นายเทอดพงษ์ กล่าวว่า เป้าหมายที่แท้จริงที่เราตั้งใจไว้ คือปัญหาที่กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องมากๆ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากการแก้ไขนี้สะดุดไป ก็จะทำให้เกิดเงื่อนไขที่เดือดร้อนเช่นกัน เพราะจะทำให้ความรู้สึกอยากประนีประนอมมันยากขึ้น เพราะเป้าหมายของคณะกรรมการคือ หากรัฐธรรมนูญถูกแก้ไขด้วยประชาชน และมีการตรวจสอบ ส.ส.รวมทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อย่างเข้มข้น จะทำให้สภาฯมีความแข็งแรง ศักดิ์สิทธิ์ และมีความเชื่อมั่นจากประชาชน สภาจะเป็นตัวหลักและเป็นที่พึ่งในการแก้ไขปัญหาเรื่องต่างๆ ได้อย่างแท้จริง และจะทำให้เงื่อนไขความขัดแย้งลดน้อยลง แต่หากสภาฯมาจากกติกาที่เขียนมาแบบชาวบ้านไม่ยอมรับ ผู้แทนที่ชาวบ้านก็รู้ว่ามาจากการซื้อเสียงหรือวิธีการต่างๆ สภาก็จะไม่เป็นที่ยอมรับอย่างจริงจัง ประชาชนก็จะหาหนทางอื่น ก็คือการออกมาชุมนุมเรียกร้อง เหมือนที่เราเห็นกันอยู่
ถามต่อว่า แนวทางแก้ไขเฉพาะหน้า คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนใช่หรือไม่ นายเทอดพงษ์ กล่าวต่อว่าคณะกรรมการจะพยายามหาทางให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยจะมีการสรุป แนวทางทั้งหมดว่าควรจะเป็นไปอย่างไร เราตั้งใจและหวังว่า หากรัฐธรรมนูญเขียนมาด้วยชาวบ้านและ ส.ส.มาอย่างบริสุทธิ์ สภาฯก็จะเป็นตัวหลักที่จะเกิดความปรองดองและสมานฉันท์ได้ เพราะปัญหาทุกเรื่องจะสามารถไหลมาที่สภาให้ผู้แทนได้ แก้ไข แต่หากจะมีการตีตกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเหมือนที่ผ่านมาตนก็กังวลว่าตรงนี้จะเป็นตัวฉุดรั้ง หรือเป็นอุปสรรค์สำคัญต่อการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ และอาจจะสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นมาอีกครั้ง
เมื่อถามต่อว่า คนไทยจะเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์เกิดความสมานฉันท์ในยุดนี้ได้หรือไม่ นายเทอดพงษ์ กล่าวว่า ความสมานฉันท์ที่เราคิดเอาไว้ คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติของประชาธิปไตย การมีบางฝ่ายไม่เห็นด้วย การเดินขบวน การเรียกร้อง ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ขอให้ทุกอย่างอยู่ในกรอบของกฎหมาย ความสมานฉันท์ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเรียบไปเลยทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้ ปัญหาความเห็นต่างระหว่างคนยุคเก่ากับนุคใหม่ ก็ต้องแก้ไขด้วยการพูดจากัน ยอมรับซึ่งกันและกัน ก็จะลดระดับความขัดแย้งลดได้ ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ได้ข้อมูลจากตัวแทนของคนรุ่นใหม่มาพอสมควร อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า โซเชียลมีเดียที่เปลี่ยนแปลงสังคมไปอย่างรวดเร็วก็เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งที่ทำให้ความสมานฉันท์ปรองดองทำได้ยาก เพราะประชาชนจะรับข้อมูลที่สร้างความขัดแย้งได้อย่างรวดเร็วเกินกว่าที่เราจะควบคุมได้ จึงต้องหาวิธีการว่า จะรับมือกับสิ่งเหล่านี้อย่างไรด้วย