สวนเจ็บ “ด้วง ดวงฤทธิ์” อวดรู้ “ปิดร้านเหล้า ถ้าคนยังเบียดกัน อยู่บนรถไฟฟ้าความเสี่ยง ก็พอกัน”... “ดร.อานนท์” บนรถไฟฟ้าใส่มาสก์ไม่ตะโกนคุยเหมือนในร้านเหล้า อคติ/โง่/ดัดจริต “แก้วสรร” ชี้ประเด็น “โรคซ้ำกรรมซัด” โควิด-วัคซีน
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (13 เม.ย. 64) เนื่องจากมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดีย ภายหลัง นายดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกและนักออกแบบชาวไทย หนึ่งในแกนนำ กลุ่ม CARE คิด เคลื่อน ไทย ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า
“ไม่เห็นประเด็นที่จะปิดร้านเหล้า ถ้าคนยังต้องเบียดกันอยู่บนรถไฟฟ้า ความเสี่ยงมันก็พอกันแหละ
การปิดร้านเหล้า ก็หาบาปให้เหยื่อ คนรับกรรมคือคนเปิดผับบาร์ ซึ่งก็เป็นคนทำมาหากินเหมือนกัน
#รัฐดัดจริต”
จากนั้น ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ (NIDA) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า
“ด้วงดัดจริต บนรถไฟฟ้าใส่มาสก์ ไม่ได้กอดคอตะโกนคุยกัน สู้กะเสียงเพลงดังสนั่น น้ำลายกระเด็น ชนแก้วเหล้าน้ำลายติดแก้ว หลงหยิบแก้วผิด วนแก้ว เหล้าไม่ใช่แอลกอฮอล์เข้มข้นมากกว่า 70% จะได้ฆ่าไวรัสได้ ในผับบาร์ แน่นและการถ่ายเทอากาศแย่มาก ออกมาสูบบุหรี่กันมีส่งต่อก้นบุหรี่แลกกันสูบ หรือขอบุหรี่สูบก็ติดไวรัสทางมือและก้นบุหรี่ ตกลงรัฐดัดจริตหรือด้วงทั้งอคติ/โง่ขาดความรู้/ดัดจริต
อย่าทำตัวเป็นคนรกโลก พุทธศาสนสุภาษิต”
ทั้งนี้ “ดวงฤทธิ์ บุนนาค” สถาปนิกและนักออกแบบ เป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่ม CARE คิด เคลื่อน ไทย ที่มีบทบาทไม่น้อย ร่วมกับอีกหลายคน ประกอบด้วย “พริษฐ์ รักตพงศ์ไพศาล” บุตรชายของเฮียเพ้ง, น.ส.ลักขณา ปันวิชัย (คำผกา) นักเขียนและพิธีกร “วีรพร นิติประภา” นักเขียนซีไรต์ เจ้าของนวนิยายเรื่อง “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต”
ภายใต้เครือข่ายทักษิณ ชินวัตร ที่ประกอบด้วย “อ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย “หมอเลี้ยบ” นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี “หมอมิ้ง” นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช “เฮียเพ้ง” พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มแคร์ คิด-เคลื่อน-ไทย
ขณะเดียวกัน นายแก้วสรร อติโพธิ เผยแพร่บทความเรื่อง “วิสัชนา ปัญหาการจัดการควบคุมโควิด”
เนื้อหาระบุว่า “ปัญหาการจัดการวัคซีนโควิดของไทย กำลังปรากฏกระแสความคิด ความรู้ หักล้าง โต้แย้งกันหลากหลายประเด็นยิ่งนัก ในฐานะที่ผมออกจะชำนาญในการรับฟัง จับประเด็น และจับไก่ ข้อโต้แย้งต่างๆ มาเนิ่นนาน จึงได้เฝ้ารับฟัง จนพอจะรายงาน ข้อโต้แย้งติติงที่ปรากฏ พอเป็นแง่คิดได้บ้างดังนี้
ถาม วิกฤตโควิดระลอกสามนี้ เขาอธิบายสาเหตุความเป็นมากันอย่างไรครับ
ตอบ เราไม่ได้ทุ่มเทตรวจเชื้อเชิงรุกเลย จึงมีผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ เดินไปเดินมาอยู่นอกประมาณการมาก ผนวกกับโรคซ้ำกรรมซัด ที่ว่าโรคซ้ำ คือ เชื้อรุ่นใหม่ที่กลายตัวจนแฝงเร้นและดุมากกว่าเดิม แล้วมาถึงกรรมซัด คือ บาปติดตัวในสังคมไทย ทั้งปัญหาแรงงานเถื่อน ที่ทำให้ตลาดกุ้งสมุทรสาคร เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ เลยมาถึงระบบโยกย้ายแต่งตั้งตำรวจที่ตกอยู่ใต้ส่วยและอิทธิพลมืดของจอมฟอกเงิน ซ่าซ่านจนเกิดคลัสเตอร์ทั้งโครงข่ายบ่อนตะวันออก บ่อนแม่สาย กับเลานจ์เถื่อนทองหล่อ ทั้งหมดนี้คือสองเด้งที่ผนวกกันแล้ว วิกฤตใหม่จึงเกิดขึ้นและเห็นตรงกันทุกฝ่ายว่า จะแรงมากๆ ลากยาวอีกเป็นปี
ถาม อาจารย์เห็นด้วยว่า เรื่องจัดการควบคุมโรคด้วยวัคซีนยังคงความสำคัญสูงสุด แต่ก็ยังมีเสียงติติงกันว่า เรื่องวัคซีนนี่อย่าไปทุ่มเทจนโอเวอร์เลย ที่สมุทรสาครตรวจเชิงรุกก็พบผู้มีภูมิคุ้มกันแข็งแรงเป็นอันมาก โดยไม่ต้องพึ่งวัคซีน ส่วนอัตราตายของเราที่ผ่านมาก็น้อยมากเหมือนกัน
ตอบ สถิติในต่างประเทศที่เร่งฉีดวัคซีนจนเป็นเนื้อเป็นหนังแล้วนั้น ได้ผลดี พบอัตราติดเชื้อปักหัวลงอย่างชัดเจน เถียงไม่ได้ ส่วนที่ว่าอัตราตายระลอกที่ผ่านมาของเราก็น้อยมากนั้น ก็เพราะมันยังระบาดไม่ถึงขั้นล้นขีดความสามารถของสถานพยาบาลไทยนั่นเอง ถ้าเอาไม่อยู่จนเตียง บุคลากร และเครื่องมือ เวชภัณฑ์ไม่พอ คนไทยก็อาจต้องตายกันข้างถนนเหมือนที่อิตาลีเลยก็ได้ กัญชากับฟ้าทะลายโจรจะช่วยอะไรได้
ถาม ความเห็นของเขาผิดหรือครับ
ตอบ มันไม่ใช่ “ผิด” แต่อาจจะ “พลาด” ตรงการไปให้น้ำหนักที่มากหรือน้อย แก่ปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งจนเกินความเป็นจริง พอคิดคุยเรื่องจัดการโควิดนี้เมื่อใด เราจะสังเกตเห็นปัญหาความสมดุลไม่ตรงกัน อย่างนี้มาตลอด แต่บางเรื่องก็ผิดทางความรู้อย่างสำคัญเลยทีเดียว คือเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าครับ
ถาม ผิดทางความรู้ยังไงครับ
ตอบ อย่างประสิทธิภาพวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ที่รัฐบาลพาไทยเราไปฝากชีวิตไว้นี้ โดนหนักทีเดียว ข้อหาแรกก็โดนอาจารย์หมอคณะแพทย์จุฬาฯคนหนึ่งบิดเบือนว่า มีประสิทธิภาพอยู่ที่ 2% เท่านั้น ทั้งๆ ที่หลักฐานที่หลายประเทศยอมรับและเชื่อถือใช้อยู่ทุกวันนี้ ก็ตรงกันว่า มีประสิทธิภาพอยู่จริงๆที่ 67%
ถาม เขาไปเอาตัวเลขนี้มาจากไหน
ตอบ ไม่ทราบครับ นี่ก็โดนหมอในกระทรวงสาธารณสุขด่ายับเลยก็สมควรแล้ว
ถาม อีกเรื่องหนึ่ง ที่ผมฟังมาก็คือ ทำไมเราไม่เข้าถึงวัคซีนยี่ห้ออื่น ที่มีประสิทธิภาพ 90% ขึ้นไป เช่น ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นนาของสหรัฐฯบ้าง ไปแทงม้าแอสตร้าตัวเดียว ที่มีประสิทธิภาพแค่ 67% ทำไม
ตอบ ต้องเข้าใจก่อนนะครับว่า สงครามระหว่างร่างกายเรากับโควิดนี่ เป็นสงครามเดียว แต่มีสองศึกด้วยกัน อัตราประสิทธิภาพวัคซีนอันเป็นอาวุธของมนุษย์ หรือที่เรียกว่า Efficacy rate นี้ จึงมีสองอัตรา คือ ป้องกันไม่ให้ติดเชื้อเป็นศึกแรก กับป้องกันไม่ให้อาการหนัก จนเข้าโรงพยาบาลหรือตาย เป็นศึกที่สอง
ทุกวัคซีนที่สากลเขารับรองซื้อขายใช้กันอยู่นั้น ทุกยี่ห้อต้องยับยั้งอาการจากหนักเป็นเบาให้ได้ 100% ใครที่ฉีดวัคซีนแล้วพลาดติดเชื้อในศึกแรก วัคซีนต้องหยุดอาการในศึกสองให้ได้ทุกคน คือ หยุดได้ร้อยทั้งร้อย เรียกว่าฉีดแล้วก็ไม่มีทางเจ็บหนักหรือตายจากพิษโควิดเลย ประสิทธิภาพบรรเทาอาการนี้ ทั้งไฟเซอร์ แอสตร้าเซนเนก้า มี 100% เท่ากันทั้งนั้น ซิโนแวคที่ไทยสั่งมาใช้ ก็มีเหมือนกัน บราซิล ชิลี รับรองแล้ว คุณไม่เห็นรัฐมนตรีคมนาคมไทย หรือครับ ฉีดซิโนแวคแล้ว แม้จะแพ้ศึกแรกจนติดเชื้อ แต่ก็ชนะศึกสอง อาการไม่หนักไม่เข้าไอซียูเลยเห็นไหม
ถาม แล้วทำไมไฟเซอร์ จึงแพงและหายากกว่า
ตอบ ประสิทธิภาพในศึกแรกที่ว่า เจอเชื้อแล้วจะช่วยคุ้มกันให้ไม่ติดนั้น ไฟเซอร์มี 92% แอสตร้า มี 67% ไฟเซอร์ จึงลงทุนมากกว่าในส่วนต่างประสิทธิภาพนี้ และทำให้เป็นที่ต้องการของประเทศรวยๆ จึงคิวยาวและราคาแพงเป็นธรรมดา
ถาม เราก็น่าซื้อไฟเซอร์นะครับ ถ้าฉีด 100 คน แล้วปลอดโรคไปเลย 92 คนนี่ คุ้มนะครับ
ตอบ ผมก็เคยเข้าใจผิดอย่างนั้น แต่ที่จริงแล้ว เขาหมายความว่า คนฉีดไฟเซอร์แต่ละคนนั้น เมื่อเจอกับเชื้อโควิด ก็จะมีโอกาสรอดไม่ติดเชื้ออยู่ 92 : 8 คือ เจอ 100 ครั้ง จะรอดได้ 92 ครั้งนั่นเอง ส่วนแอสตร้านั้น รอดได้ 67 : 33 ครั้ง
ถาม เหมือนกับชกกับโควิดเมื่อใด ค่ายไฟเซอร์จะเป็นต่อในอัตรา 92 : 8 นั่นเอง
ตอบ ก็ทำนองนั้น ที่สำคัญ ที่ต้องเข้าใจคือ วัคซีนโควิดยี่ห้อใด มันก็สร้างคนปลอดโรคไม่ติดโรคขึ้นมาไม่ได้แม้แต่คนเดียว มีแต่สร้างภูมิต้านทานแข็งแรงมากน้อย จนติดเชื้อได้มากน้อยต่างกันเท่านั้น
ถาม ในส่วนประสิทธิภาพบรรเทาอาการนั้น ถ้าเราซื้อแอสตร้า หรือไฟเซอร์ ก็ได้ผล 100% ไม่ต่างกัน แต่ผลด้านหนังเหนียวติดโรคยากง่ายต่างกันอย่างนี้ แล้วเราจะเลือกอย่างไรดีครับ
ตอบ ถ้าต้องการแค่อาการไม่หนัก และมีเงินจำกัดด้วยก็จองแอสตร้า ดีกว่า หาง่ายกว่าด้วย ส่วนใครจะลงทุนซื้อไฟเซอร์ หรือ โมเดอร์นา ก็จะได้ความเหนียวติดเชื้อยากมากกว่าแอสตร้าขึ้นมา 25% ตรงนี้คือส่วนที่ต้องจ่ายเพิ่มสำหรับไฟเซอร์
ถาม ซื้อแอสตร้า แล้วขณะเดียวกันก็มีวินัยรักษาระยะห่าง ติดตามกักโรคเร็ว แค่นี้เราก็ติดเชื้อน้อยๆ ได้เหมือนกัน ไม่จำต้องใช้ทุ่มเทใช้ไฟเซอร์ มาเสริมหนังเหนียวเลยก็ได้
ตอบ ถูกต้องครับ ตรงนี้คือจุดที่ทางผู้รับผิดชอบเขาตัดสินใจใช้แอสตร้าเซนเนก้าที่จองได้ง่ายกว่า ถูกกว่าและแถมยังมั่นคงได้ฐานผลิตไว้ในมืออีกด้วย
ถาม เขาประมาณว่ากลางปีหน้า จึงจะฉีดได้ทั่วถึง แต่พอเกิดระลอกสามขึ้นมา มันก็ช้าไปแล้ว คงคิดไม่ถึงว่าจะมีโรคซ้ำกรรมซัดเกิดขึ้นมา ทั้งตลาดกุ้ง บ่อนใหญ่ เลานจ์เถื่อนทองหล่อ และเชื้อกลายพันธุ์
ตอบ เวลานั้น เขามั่นใจของเขาอย่างนั้น จึงจัดการความเสี่ยงไปอย่างนั้น แต่อิสราเอลเขาคิดแบบนักรบสู้กับโรคโดยตรงเลย จึงทุ่มเทกว้านจองวัคซีนมาฉีดจนค่อนประเทศแล้ว มันเป็นความต่างทางยุทธศาสตร์ครับ ไม่ใช่ความผิดพลาดที่จะมาด่า หรือป้ายร้ายกัน ว่าเป็นวัคซีนพระราชทานไปโน่นเลย
ถาม ถ้าเป็นอาจารย์จะเอาอย่างอิสราเอลไหม
ตอบ ผมจะเอาอย่างนั้นนะ หยุดโรคนี่สำคัญที่สุด อย่าไปคิดเอาเอง เชื่อมั่นเอาเอง ว่าเราเก่งรักษาระยะห่าง และติดตามกักโรค แล้วจะเอาอยู่ ปัจจัยอื่นมันแปรผันเข้ามาได้ อย่างเงินในโครงการไทยชนะหรือคนละครึ่งนั่น ผมว่าถ้าเอามาซื้อวัคซีนให้พอและทันการณ์ ผมยอมนะครับ
ถาม สรุปแล้ว อาจารย์เห็นว่าเรื่องจัดการวัคซีน ต้องเร็วและแรงกว่านี้
ตอบ ชะงักไม่ได้ ระหว่างนี้ก็ทุ่มเทเรื่องรักษาระยะห่าง และติดตามกักกันกลุ่มเสี่ยงไปเต็มที่ด้วย ต้องล็อคดาวน์ก็ต้องล็อค เพราะวัคซีนมาสายไปแล้ว
ถาม ลุงตู่เขาก็กำลังจะเปิดให้ภาคเอกชน นำเข้าวัคซีนได้เสรีขึ้นแล้วนะครับ
ตอบ เห็นด้วยเต็มที่ครับ สำหรับวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสันนั้น อย.ไทยรับขึ้นทะเบียนแล้ว ดันไปยักเป็นเงื่อนไขไว้ทำไมว่า นำเข้าได้เมื่อฉุกเฉินเท่านั้น วันนี้ยังไม่ฉุกเฉินอีกหรือ ตัวผมเองนั้น ถ้าไฟเซอร์เข้ามาได้เมื่อใด ผมยอมจ่ายเลย จะได้หนังเหนียวขึ้น ผมไม่อยากไปแย่งวัคซีนหลวงกับพี่น้องที่เขาไม่มีกำลังซื้อ สังคมเองก็พลอยปลอดภัยจากตัวผมมากขึ้นด้วยที่หนังเหนียวติดเชื้อยากขึ้น เรื่องพัฒนาการผลิตและการจำหน่ายเครื่องมือตรวจโควิดด้วยตนเอง อย่างที่ญี่ปุ่นเขาทำขายให้ชาวบ้านในตลาดด้วยนั้น ก็เช่นกัน น่าทำมากนะครับไม่ต้องง้อ เข้าคิวขอรัฐตรวจเลย
พอกันทีเถอะครับกับวัฒนธรรมความคิด Paternalism ที่ฝากทุกอย่างไว้กับรัฐ ราวกับเป็นคุณพ่อรู้ดี อย่างนี้ พ่อหลงตัวเอง บ้าอำนาจ ขี้โมโห งี่เง่า หาประโยชน์ จับมือผสานอำนาจกันจนเป็นฝูงนี่ มีมาสองระบอบแล้วไม่เห็นหรือครับ พอบวกด้วยราษฎรซื่อบื้อ แตกแยก ไม่ยอมเป็น “ประชาชน” ที่มีส่วนรวมอยู่ในหัวด้วยก็แย่เลย เจอวิกฤตโควิดระลอกนี้ก็ชิบหายกันพอดี ปีนี้ นางสงกรานต์เป็นนางยักษ์ กินเลือดเป็นอาหารด้วยนะครับ”
แน่นอน, ประเด็นการสู้รบกับโรคระบาดร้ายแรง เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และระดมสรรพกำลังความรู้ความสามารถมาเป็นกองทัพ จึงจะสามารถรับมือกับมันได้
ทีนี้ลองหันมามองประเทศไทย ประเทศที่ทั่วโลกยกนิ้วให้ว่า จัดการกับการระบาดของโรคได้อย่างดีเยี่ยม ในช่วงแรก เกิดอะไรขึ้นบ้าง
ประการแรก เกิดความเห็นที่ไม่ตรงกัน และอคติต่อกัน ของรัฐบาล บุคลากรสาธารณสุข กับ นักการเมืองฝ่ายค้าน และฝ่ายแค้น ทำให้ช่วงแรก การแก้ปัญหาถูกอ้างการตรวจสอบแบบมือไม่พายเอาเท้าราน้ำอยู่ตลอดเวลา แต่ก็เอาตัวรอดมาได้ เพราะการระบาดไม่หนักหนาสาหัสเหมือนในเวลานี้
ประการที่สอง ฝ่ายรัฐบาลเอง ก็ต้องเจอกับปัญหาลูบหน้าปะจมูก นักการเมืองผู้มีอิทธิพลที่มีผลประโยชน์เกี่ยวโยงกับแหล่งแพร่ระบาดของโรค ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาส่วยแรงงานเถื่อน ปัญหาบ่อนการพนัน ปัญหา ผับ บาร์ ที่เป็นธุรกิจสีเทา ซึ่งลักลอบดำเนินการในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย หรือ ความผิด
อะไรไม่สำคัญเท่ากับ “โรคซ้ำกรรมซัด” อย่างที่ อ.แก้วสรร ว่า นั่นคือ ความเสื่อมทรามของวงการข้าราชการไทย ที่ร่วมมือกับนักการเมือง ผู้มีอำนาจ หาผลประโยชน์โดยไม่สนใจถูก-ผิด ชั่ว-ดี และแม้แต่อันตรายจากการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งรัฐบาลเอง เป็นเจ้าของเรื่องในการแก้ไข แล้วยังทำท่าว่าจะเป็น “มวยล้มต้มคนดู” ในการจัดการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย
ทุกวันนี้โรคระบาด โควิด-19 น่ากลัวก็จริง แต่ที่น่ากลัวยิ่งกว่า คือ การแตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ไม่ให้ความร่วมมือในการวิเคราะห์ปัญหา และร่วมกันแก้ปัญหา รวมถึง รัฐบาลเอง ก็เห็นแก่พวกพ้อง ปกป้องตัวการที่ก่อปัญหา แทนที่จะมีการจัดการอย่างเด็ดขาดจริงใจ เพราะนี่คือ การซ้ำเติมปัญหา เป็นโรคซ้ำกรรมซัด ที่คนไทยดูเหมือนโชคร้ายกว่าหลายประเทศในโลกนี้ ถามหน่อยยังมีใครที่คิดว่า ไม่จริงอยู่หรือไม่?