“ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง” เลขานุการ รมว. อว.นำนักวิจัยช่วย "สวนทุเรียนเมืองนนท์" หลังเจอปัญหาน้ำเค็มมากกว่าค่ามาตรฐานการเพาะปลูก ระดมนวัตกรรมจาก สวทช. - วว. - มธ.ช่วยชาวสวน ทั้ง ระบบกรองน้ำนาโนเทค ระบบตรวจวัดคุณภาพน้ำเค็มพร้อมโมไบลแอป ที่สามารถติดตามคุณภาพน้ำได้ตลอดเวลา เครื่องกรองน้ำเค็มกำจัดเกลือออกจากน้ำดิบไปจนถึงปุ๋ยที่ทำให้ทุเรียนมีรสชาติหวานมันเข้มข้น เนื้อเหนียวเนียนละเอียด มีกลิ่นหอมดอกไม้ เส้นใยละลายเวลาทาน
วันนี้ (2 เม.ย.) ผศ. ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการ รมว. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะโฆษก อว นำคณะนักวิจัยจาก อว. ได้แก่ สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการด้านนวัตกรรมการเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทานและคุณค่าแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ลงพื้นที่สวนยายละมัย หมู่ 6 ต.บางกร่าง อ.เมือง จ.นนทบุรี มีนางอโรชา นันทมนตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เกษตรจังหวัดและตัวแทนเกษตรกรให้การต้อนรับ และร่วมประชุมหารือแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านการผลิตและการตลาดของทุเรียนนนทบุรี ร่วมกับทุกภาคส่วน ภาคเกษตรกรนำโดย นายไชยวัฒน์ แย้มนาค สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี นายสุพจน์ ธูปแพ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี และว่าที่ รท.กิตติธร ยิ้มเจริญ
ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เปิดเผยหลังประชุมว่า จากการพูดคุยและลงพื้นที่สวนทุเรียน พบปัญหาสำคัญคือ เกษตรกรในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภาวะแหล่งน้ำในพื้นที่มีความเค็มมากกว่าค่ามาตรฐานการเพาะปลูก และหวังให้ อว. เข้ามาช่วยเหลือ ซึ่ง อว. พร้อมที่จะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยดำเนินการ โดย วว. จะใช้เชื้อราอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซามาช่วยในการสร้างความต้านทานให้แก่ต้นทุเรียนต่อภาวะดินเค็มและภาวะขาดน้ำ และเชื้อรากลุ่มนี้ยังช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของทุเรียนอีกด้วย พร้อมนำเครื่องกรองน้ำเค็มที่พัฒนาโดย วว. มาใช้ในการกำจัดเกลือออกจากน้ำดิบเพื่อนำไปใช้สวนทุเรียน ด้าน สวทช. จะนำระบบกรองน้ำนาโนเทค ระบบตรวจวัดคุณภาพน้ำเค็มพร้อมโมไบลแอป ที่สามารถติดตามได้ตลอดเวลาเข้ามาติดตั้ง ในส่วนของ มธ. จะใช้เทคโนโลยี Plant root salinity defend เพื่อป้องกันเกลือที่ละลายมากับน้ำ และชักนำให้รากพืชหาอาหารบนพื้นที่ที่เหมาะสม ทำให้พืชสามารถเจริญเติบโตได้ เพื่อเอาตัวรอดจากช่วงหน้าแล้งที่น้ำทะเลหนุนได้
เลขา รมว.อว. กล่าวต่อว่า นอกจากการแก้ปัญหาน้ำเค็มแล้ว อว. ยังมีเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตและคุณภาพให้กับทุเรียน ซึ่งทาง มธ. และ สวทช. จะนำเทคโนโลยีในส่วนนี้เข้ามาช่วยพี่น้องเกษตรกร อาทิ เทคโนโลยีการให้น้ำระบบ iOT ให้พอเหมาะกับพืชจากการคายน้ำและดูดน้ำของรากพืช ที่เป็นพลวัตรอุณหภุมิ ความชื้น การคายน้ำ และค่าการระเหย เพื่อให้ประหยัดน้ำและพลังงาน, เทคโนโลยีการ Basin-Fertigation ให้น้ำและปุ๋ยเพื่อให้ผลิตผลมีคุณภาพสูงสุด ทำให้ทุเรียนมีรสชาติหวานมันเข้มข้น เนื้อเหนียวเนียนละเอียด มีกลิ่นหอมดอกไม้ เส้นใยละลายเวลาทาน , เทคโนโลยีถุงห่อแบบ Active Bagging ที่ใช้ห่อไม้ผล เพื่อให้คุณภาพการบริโภคดีที่สุด, เทคโนโลยีการทำนายปริมาณน้ำในแหล่งน้ำว่าเพียงพอกับการใช้น้ำกับพืชที่ปลูกอย่างไรตามมาตรฐาน Gobal GAP, เทคโนโลยิวัสดุห่อผลไม้ มีรูพรุนให้อากาศหายใจได้ และระบบจัดการป้อนน้ำตามความต้องการของต้นไม้ด้วยเซนเซอร์วัดสภาพแวดล้อมและการควบคุมปริมาณน้ำตามที่พืชต้องการ เป็นต้น