ปตท.ผนึก สวทช.-อภ.ต่อยอดการวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบทางยา หวังลดการพึ่งพาการนำเข้า และส่งเสริมความมั่นคงด้านสุขภาพให้คนไทย คาดใช้เวลาราว 3 ปีผลิตเชิงพาณิชย์ได้
นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นายแพทย์ วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา “กระบวนการสังเคราะห์สารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม (Active Pharmaceutical Ingredients; API) และศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ และ/หรือการสร้างความมั่นคงทางยาให้แก่ประเทศไทย”
การลงนามในครั้งนี้เป็นการส่งเสริมยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน New S-Curve ด้านอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ตั้งเป้าระยะแรกเน้นการวิจัยและพัฒนาสารตั้งต้นสำหรับผลิตยา (API) สำหรับโรค COVID-19 รวมถึง API ของยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) และยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir)
ปัจจุบันประเทศไทยยังต้องมีการนำเข้า API จากต่างประเทศมากกว่า 95% ความร่วมมือในครั้งนี้ ครอบคลุมตั้งแต่การทดสอบในระดับห้องปฏิบัติการ (Laboratory scale) การถ่ายทอดเทคโนโลยีจนถึงระดับอุตสาหกรรม (Industrial scale) ตลอดจนการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม (Feasibility Study) ที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะส่งเสริมให้ประเทศไทยมีสาธารณสุขที่มั่นคงต่อไป
นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า สวทช.มีองค์ความรู้ บุคลากร ความเชี่ยวชาญ และเทคโนโลยีทางด้านเคมีสังเคราะห์ที่จะช่วยหนุนเสริมองค์การเภสัชกรรมในการผลิตสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรมได้เองภายในประเทศ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านอุตสาหกรรมยาแบบครบวงจร และส่งเสริมงานด้านสาธารณสุขของประเทศ สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ตั้งเป้าสร้างศักยภาพการผลิตยาในประเทศเพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพของคนไทยในอนาคต
ที่ผ่านมานักวิจัย สวทช. ร่วมกับองค์การเภสัชกรรมวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ สำหรับต้านโรค COVID-19 ขึ้นเองภายในประเทศ นับว่าเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่ตอบโจทย์วงการแพทย์และสาธารณสุขของไทย ทำให้ไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์จากต่างประเทศ ช่วยยกระดับขีดความสามารถทางด้านการผลิตยาของประเทศให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งเป็นฐานในการสร้างอุตสาหกรรม API ของประเทศ
“ความร่วมมือในครั้งนี้ สวทช.พร้อมที่จะสนับสนุนนักวิจัยที่มีองค์ความรู้ และความสามารถในการวิจัย พัฒนา และปรับปรุงกระบวนการสังเคราะห์สารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรมในระดับห้องปฏิบัติการ เพื่อถ่ายทอดให้แก่องค์การเภสัชกรรมต่อยอดไปสู่ระดับโรงงานต้นแบบ และพร้อมสนับสนุนข้อมูลให้แก่ ปตท.เพื่อใช้ในการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรมที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ เพื่อผลิตสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม (API) ในระดับอุตสาหกรรมต่อไป”
นายแพทย์ วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า อุตสาหกรรมยาในประเทศไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศกว่า 95% และจากการระบาดของโรค COVID-19 ทั่วโลก ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบยาสำหรับรักษาโรค COVID-19 และวัตถุดิบยาจำเป็นอื่นๆ เนื่องจากประเทศหลักๆ ที่ผลิตวัตถุดิบยา อย่างเช่น จีน และอินเดีย ต่างก็มีปัญหาทั้งในเรื่องการขนส่งวัตถุดิบข้ามประเทศ และอีกทั้งยังต้องสำรองวัตถุดิบยารักษาโรค COVID-19 และวัตถุดิบยาจำเป็นไว้ใช้ในประเทศตัวเอง ซึ่งการที่ประเทศไทยมีการผลิตวัตถุดิบทางยาขึ้นสำหรับใช้เองจะเป็นการสร้างความมั่นคง และการพึ่งพาตนเองด้านยาของประเทศได้ดียิ่งขึ้น และยังเป็นการสร้าง Ecosystem ในการวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบที่เป็นตัวยาใหม่ (New Chemical Entities) ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยยังไม่เคยทำได้
ความร่วมมือนี้ องค์การเภสัชกรรมซึ่งมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในด้านเภสัชกรรมทั้งวัตถุดิบและยาสำเร็จรูป จะทำหน้าที่นำเทคโนโลยีการสังเคราะห์วัตถุดิบที่ทาง สวทช.ได้พัฒนาจนสำเร็จในระดับห้องปฏิบัติการแล้ว มาพัฒนาต่อยอดกระบวนการสังเคราะห์ในระดับกึ่งอุตสาหกรรมเพื่อสร้างต้นแบบกระบวนการสังเคราะห์ที่พร้อมสำหรับการผลิตในระดับอุตสาหกรรม ซึ่ง ปตท. สวทช. และ อภ.จะร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ต่อไป
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-curve) ที่มีความจำเป็นต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ในด้านการพัฒนาสุขภาพและการแพทย์ของประเทศ มุ่งเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งตนเอง ด้วยการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และการผลิต โดยองค์กรหรือบริษัทเอกชนไทย เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเป็นฐานการผลิตเพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพของคนไทย
ดังนั้น ความสามารถในการดำเนินการด้านยาแบบครบวงจรตั้งแต่ระดับต้นน้ำจนถึงปลายน้ำของประเทศ จะช่วยเสริมความมั่นคงในอุตสาหกรรมยาของประเทศ ตลอดจนลดการพึ่งพาการนำเข้า โดยเฉพาะยาที่มีความจำเป็นต้องใช้เร่งด่วน อาทิ ยาที่ช่วยรักษาโรค COVID-19 ในปัจจุบัน
ในความร่วมมือนี้ ปตท.จะดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ของ API ที่วิจัยและพัฒนาขึ้นมาในเชิงพาณิชย์ ตลอดจนรูปแบบโมเดลธุรกิจที่เหมาะสม เพื่อต่อยอดการวิจัยและพัฒนา API ของไทยให้มีคุณภาพมาตรฐานสากล สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ทั้งนี้ ปตท.ตั้งเป้าขับเคลื่อนธุรกิจ Life Science ให้เห็นผลเชิงรูปธรรม จึงได้จัดตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เมื่อเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยมีวิสัยทัศน์คือ บริษัทชั้นนำด้านชีววิทยาศาสตร์ในภูมิภาคที่มีวิทยาศาสตร์อันเป็นเลิศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนา API จนถึงขั้นผลิตออกสู่ตลาดได้นั้น จำเป็นต้องประกอบด้วยศักยภาพในการวิจัยและพัฒนา ความเชี่ยวชาญในการผลิตเพื่อให้ได้มาตรฐาน และความสามารถในการพัฒนาธุรกิจเชิงพาณิชย์ และด้วยศักยภาพความเชี่ยวชาญของทั้ง 3 องค์กร จะช่วยส่งเสริมให้โครงการสามารถสัมฤทธิผลได้ ทั้งนี้ การศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนา API ที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี