xs
xsm
sm
md
lg

“ธนกร” จวก “ชลน่าน” เป็นหมอเสียเปล่า ยึดประโยชน์ทางการเมือง ไม่สนใจความทุกข์ประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ธนกร” ป้อง “บิ๊กตู่” บริหารโควิด-19 ด้วยสมองและหัวใจ สวน “หมอชลน่าน” ยึดประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าความทุกข์ร้อนของประชาชน ยันรัฐไม่ปิดกั้นเอกชนซื้อวัคซีน แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามระเบียบ

วันนี้ (8 เม.ย.) นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แก้ปัญหาโควิด-19 ไม่ได้ก็ลาออกไป พร้อมทั้งระบุว่าวัคซีนป้องกันหยุดเชื้อไม่ได้ว่า สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 รัฐบาลบริหารจัดการอย่างเต็มที่ ขอให้เชื่อมั่นในระบบสาธารณสุขของไทย พล.อ.ประยุทธ์บริหารจัดการโควิด-19 ด้วยสมองและหัวใจ ไม่เหมือน นพ.ชลน่านที่เป็นหมอเสียเปล่า การเรียกร้องให้นายกฯ ลาออกก็เพื่อหวังผลทางการเมืองเท่านั้น ถือว่าเป็นนักการเมืองสายพันธุ์เพื่อไทยขนานแท้ น่าเสียดายความรู้ความสามารถ การแก้ปัญหาโควิด-19 ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย และต้องคำนึงถึงทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ท่านนายกฯ ไม่ได้คิดคนเดียว แต่มีทีมที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ทุกอย่างผ่าน ศบค. ที่ผ่านมาท่านนายกฯ ทำงานอย่างทุ่มเทจนได้รับการชื่นชมจากทั่วโลก แต่ฝ่ายการเมืองออกมาโจมตีแทบทุกวัน ยังดีที่พี่น้องประชาชนยังให้กำลังท่าน อยากให้ทุกฝ่ายมองด้วยใจเป็นธรรม ลองนึกภาพ 7 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าประเทศเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีทุกด้าน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม คุณภาพชีวิตของประชาชน ภาคเกษตร ฯลฯ แต่เรามาเจอโควิด-19 ทุกอย่างก็กระทบ ซึ่งเป็นเหมือนกันทั่วโลก แต่ท่านนายกฯ ก็บริหารจัดการได้ดี ขอความเป็นธรรมให้ท่านด้วย

นายธนกรกล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่ นพ.ชลน่านระบุว่าฉีดวัคซีนป้องกันไปแล้วหยุดเชื้อไม่ได้นั้น ไม่เป็นความจริง ถ้าฉีดครบโดสก็มีภูมิคุ้มกัน แต่เราต้องป้องกันปฏิบัติตามแนวทางของสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดด้วย วัคซีนมีประสิทธิภาพอย่างแน่นอน ทั่วโลกก็ใช้ ส่วนการนำเข้าวัคซีนของภาคเอกชนนั้น รัฐบาลไม่ได้ปิดกั้นตามที่ นพ.ชลน่านกล่าวหา ทุกอย่างมีขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบ ซึ่งทาง นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติได้ออกมายืนยันหลายครั้งแล้วว่า 1. วัคซีนต้องมีการขออนุญาตขึ้นทะเบียนวัคซีนก่อนการใช้ หมายความว่าต้องผู้ขออนุญาตเป็นผู้ถือทะเบียน และรับผิดชอบการจำหน่ายวัคซีนในประเทศ บางบริษัทมีผู้แทนในไทยก็จะดำเนินการโดยบริษัทนั้น เช่น ไฟเซอร์ แอสตร้าเซนเนก้า J&J ถ้าบรรดาบริษัทลูกในไทยไม่นำวัคซีนมาขึ้นทะเบียน ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ไม่มีคนอื่นมาทำให้ได้ ข้อนี้ไม่ได้เป็นข้อจำกัดภาครัฐแต่อย่างใด 2. ผู้ผลิตอื่นที่ไม่มีบริษัทลูกในไทย ผู้ผลิตรายนั้นต้องตั้ง Authorized Representative ขึ้นมา และให้ยื่นเอกสาร (ซึ่งเป็น Highly Confidential Document) เพื่อขอขึ้นทะเบียน เช่น กรณี Sinovac ได้มอบให้องค์การเภสัชกรรม Moderna ได้มอบให้ซิลลิคฟาร์ม่า เป็นผู้แทน ดังนั้น เอกชนที่จะขอนำเข้าวัคซีนอื่นนอกจากนี้มาขึ้นทะเบียนต้องไปติดต่อกับผู้ผลิตเอง และไม่ได้ปิดกั้น

นายธนกรกล่าวด้วยว่า 3. หลายบริษัทผู้ผลิตมีนโยบายขายให้แก่ภาครัฐเท่านั้น เช่น Pfizer Astrazeneca J&J แต่ถ้าจะเปลี่ยนนโยบายทีหลังก็ค่อยมาดำเนินการไป เป็นเรื่องของแต่ละบริษัทเอง รัฐไม่ได้บังคับ เหตุผลหนึ่งที่เอกชนจะขายให้เฉพาะรัฐ เพราะเป็นวัคซีนใหม่ในช่วงการระบาด ผู้ผลิตวัคซีนทุกรายให้รัฐยอมรับเงื่อนไข No Fault Compensation คือห้ามไม่ให้ผู้รับวัคซีนฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ผลิตวัคซีนกรณีเกิดผลข้างเคียงรุนแรง 4. วัคซีนที่มีในเวลานี้มีจำนวนจำกัด ทุกเจ้าที่เราได้ยินชื่อ กำหนดส่งมอบวัคซีนได้เร็วที่สุดคือไตรมาส 3 ของปีนี้ และจำนวนไม่มากทยอยส่ง ยกเว้น Sinovac ที่สัญญาให้ได้ตั้งแต่กุมภาพันธ์แต่ทยอยมอบมาทีละนิด แอสตร้าเซนเนนก้ากำหนดการส่งมอบได้มิถุนายน และ 5. กลุ่ม รพ.เอกชน ที่จะมารวมตัวเรียกร้องให้เปิด ได้เชิญมาอธิบายแล้วว่าไม่ได้ปิดกั้น อธิบายข้างต้นจนเข้าใจ แต่ไม่ออกมาพูดว่าตัวเองเข้าใจผิดคิดว่าจะหาซื้อได้โดยทั่วไป แต่รัฐปิดกั้น คำพูดนี้ความเห็นแบบนี้จึงยังมีอยู่ตลอด และเอกชนที่โฆษณาให้จองวัคซีนโดยที่ไม่มีวัคซีนในมือ ถือว่าผิดกฎหมายการโฆษณายา พอโดนปรับ ยอมรับผิด แต่ก็ไม่ออกมาแถลงว่าตัวเองทำผิด ปล่อยให้กลายเป็นความเข้าใจผิดว่ารัฐปิดกั้น ตนหวังว่า นพ.ชลน่านจะหลงเหลือจิตวิญญาณของความเป็นหมออยู่บ้างไม่มากก็น้อย


กำลังโหลดความคิดเห็น