xs
xsm
sm
md
lg

“หมอโอ๊ค” ถาม ทำไมไม่รีบเปิดกว้างวัคซีนเพิ่ม เจอหลายฝ่ายเคลียร์จนต้องปิดโซเชียลฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“นพ.สมิทธิ์ อารยะสกุล” แพทย์ชื่อดัง ถามทำไมไม่รีบเปิดกว้างวัคซีนเข้ามาเพิ่ม เจอคำตอบเพียบ ชี้รัฐไม่ห้ามแต่เอกชนหาวัคซีนไม่ได้ ต่อให้มีเงิน ผู้ผลิตก็ไม่ขายให้รายย่อย ขายให้เฉพาะรัฐฯ เท่านั้น โรงพยาบาลเอกชนก็เรียกไปเคลียร์แล้ว แต่ไม่พูด พบคุณหมอปิดโซเชียลฯ แต่ชาวเน็ตแคปทัน

เมื่อวันที่ 7 เม.ย. เฟซบุ๊ก Oak Smith Arayaskul ของ นพ.สมิทธิ์ อารยะสกุล หรือหมอโอ๊ค แพทย์และนักร้องชื่อดัง โพสต์ข้อความระบุว่า “นาทีนี้แล้ว อยากทราบจริงๆ ว่าทำไมยังไม่รีบเปิดกว้างวัคซีนเข้ามาเพิ่มอีกครับ ตัวเลขข้อมูลของต่างประเทศก็เห็นพอสมควรแล้ว ขอความเห็นจากพี่ๆ เพื่อนๆ ผู้รู้ด้วยนะครับ เผื่อผมเข้าใจอะไรผิดไป เชื่อว่าประชาชนต้องการคำตอบครับ” และกล่าวอีกว่า “เท่าที่ทราบล่าสุด เหมือนรอบนี้เป็นสายพันธุ์อังกฤษ ที่การป้องกันด้วย Sinovac น่าจะได้น้อย ควรคิดถึงตัวเลือกอื่นๆ ด้วยหรือไม่ครับ”

ทำให้ทวิตเตอร์ @ttraisuree ของ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า “ข้อเสนอ #วัคซีนเสรี ต้องทำความเข้าใจพื้นฐานก่อนค่ะว่า

- รัฐไม่ห้าม
- แต่เอกชนหาวัคซีนไม่ได้
- ผู้ผลิตหลายรายก็ไม่ขายให้รายย่อย เช่น J&J
- หากรายใดทำได้ อย.พร้อมออกใบอนุญาต
- แทบทุกประเทศ รัฐบาลเป็นผู้จัดหาและนำเข้าวัคซีน ตอนนี้ยังไม่มีประเทศไหนที่ให้ซื้อได้เองแบบ commercial"



ขณะที่เฟซบุ๊ก “ยิ่งรัก ยิ่งลุ่มหลง” ของนายพัฒนเดช อาสาสรรพกิจ นักวิจารณ์รถยนต์ชื่อดัง แชร์ข้อความที่อ้างว่ามาจาก นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ระบุว่า “ผมคิดว่ายังมีความไม่เข้าใจเรื่องการนำเข้าวัคซีนอยู่มากเลยขอชี้แจงเพื่อนๆ ดังนี้ครับ

1. วัคซีนต้องมีการขออนุญาตขึ้นทะเบียนวัคซีนก่อนการใช้ หมายความว่าต้องผู้ขออนุญาตเป็นผู้ถือทะเบียน และรับผิดชอบการจำหน่ายวัคซีนในประเทศ บางบริษัทมีผู้แทนในไทยก็จะดำเนินการโดยบริษัทนั้น เช่น ไฟเซอร์ แอสตร้า JJ ถ้าบรรดาบริษัทลูกในไทยไม่นำวัคซีนมาขึ้นทะเบียน ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ไม่มีคนอื่นมาทำให้ได้ ข้อนี้ไม่ได้เป็นข้อจำกัดภาครัฐแต่อย่างใด

2. ผู้ผลิตอื่นที่ไม่มีบริษัทลูกในไทย ผู้ผลิตรายนั้นต้องตั้ง Authorized Representative ขึ้นมา และให้ยื่นเอกสาร (ซึ่งเป็น Highly Confidential Document) เพื่อขอขึ้นทะเบียน เช่น กรณี Sinovac ได้มอบให้ องค์การเภสัชกรรม Moderna ได้มอบให้ซิลลิคฟาร์ม่า เป็นผู้แทน ดังนั้น เอกชนที่จะขอนำเข้าวัคซีนอื่นนอกจากนี้มาขึ้นทะเบียนต้องไปติดต่อกับผู้ผลิตเอง และไม่ได้ปิดกั้นอีกนั่นแหละ

3. หลายบริษัทผู้ผลิตมีนโยบายขายให้แก่ภาครัฐเท่านั้นเช่น Pfizer Astra JJ แต่ถ้าจะเปลี่ยนนโยบายทีหลัง ก็ค่อยมาดำเนินการไป เป็นเรื่องของแต่ละบริษัทเอง รัฐไม่ได้บังคับ เหตุผลหนึ่งที่เอกชนจะขายให้เฉพาะรัฐ เพราะเป็นวัคซีนใหม่ในช่วงการระบาด ผู้ผลิตวัคซีนทุกรายให้รัฐยอมรับเงื่อนไข No Fault Compensation คือห้ามไม่ให้ผู้รับวัคซีนฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ผลิตวัคซีนกรณีเกิดผลข้างเคียงรุนแรง

4. วัคซีนที่มีในเวลานี้มีจำนวนจำกัด ทุกเจ้าที่เราได้ยินชื่อ กำหนดส่งมอบวัคซีนได้เร็วที่สุดคือไตรมาสสามของปีนี้ และจำนวนไม่มากทยอยส่ง ยกเว้น Sinovac ที่สัญญาให้ได้ตั้งแต่กุมภาพันธ์แต่ทยอยมอบมาทีละนิด แอสตร้าเซนเนนก้า กำหนดการส่งมอบได้มิถุนายน

5. กลุ่ม รพ.เอกชน ที่จะมารวมตัวเรียกร้องให้เปิด ได้เชิญมาอธิบายแล้วว่าไม่ได้ปิดกั้น อธิบายข้างต้นจนเข้าใจ แต่ไม่ออกมาพูดว่าตัวเองเข้าใจผิดคิดว่าจะหาซื้อได้โดยทั่วไป แต่รัฐปิดกั้น คำพูดนี้ ความเห็นแบบนี้จึงยังมีอยู่ตลอด

6. เอกชนที่โฆษณาให้จองวัคซีนโดยที่ไม่มีวัคซีนในมือ ถือว่าผิดกฏหมายการโฆษณายา พอโดนปรับ ยอมรับผิด แต่ก็ไม่ออกมาแถลงว่าตัวเองทำผิด ปล่อยให้กลายเป็นความเข้าใจผิดว่ารัฐปิดกั้น หวังว่าเพื่อนๆ จะเข้าใจมากขึ้นครับ”



อนึ่ง สำหรับคำว่า J&J หรือ JJ หมายถึงวัคซีนของบริษัท จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุมัติไปก่อนหน้านี้

รายงานข่าวเพิ่มเติมแจ้งว่า ณ เวลา 01.30 น. วันที่ 8 เม.ย. ช่องทางโซเชียลมีเดียของ นพ.สมิทธิ์ ได้หายไปจากระบบแล้ว คาดว่าอาจเป็นการระงับการเผยแพร่ชั่วคราว แต่ชาวเน็ตแคปหน้าจอข้อความดังกล่าวเอาไว้ทัน




กำลังโหลดความคิดเห็น