รอยเตอร์ - กองกำลังความมั่นคงพม่าเปิดฉากยิงใส่การชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในวันเสาร์ (3) ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน ตามการเปิดเผยของผู้ชุมนุมและสื่อ ขณะที่ทหารทวีการปราบปรามเพื่อยุติการต่อต้านด้วยการออกหมายจับนักวิจารณ์บนโลกออนไลน์และปิดอินเทอร์เน็ต
แม้จะมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 550 คน โดยกองกำลังความมั่นคงนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ผู้ชุมนุมประท้วงยังคงออกมารวมตัวกันบนท้องถนนทุกวัน โดยมักเป็นกลุ่มเล็กๆ ตามเมืองเล็กๆ เพื่อแสดงการคัดค้านต่อต้านการปกครองของทหาร
กองกำลังความมั่นคงในเมืองโมนยะวายิงปืนใส่ฝูงชนจนทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน สำนักข่าวเมียนมาร์ นาว รายงาน
“พวกเขาเริ่มยิงไม่หยุดทั้งระเบิดแสงและกระสุนจริง” ผู้ชุมนุมประท้วงในเมืองโมนยะวา ที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อ กล่าวกับรอยเตอร์ผ่านแอปพลิเคชันข้อความ
“ผู้คนถอยร่นออกมาและรีบหลบหลังสิ่งกีดขวาง แต่กระสุนยิงโดนศีรษะคนที่อยู่ตรงหน้าผม เขาเสียชีวิตทันทีตรงนั้น” ผู้ชุมนุม กล่าว
เว็บข่าวออนไลน์ พะโค วีคลี่ เจอร์นัล รายงานว่ามีชายคนหนึ่งถูกยิงเสียชีวิตในเมืองสะเทิม และก่อนหน้านี้สื่อรายงานว่า มีผู้เสียชีวิต 1 คนในเมืองพะโค แต่ต่อมาระบุว่าบุคคลดังกล่าวได้รับบาดเจ็บ ยังไม่เสียชีวิต
ตำรวจและโฆษกของรัฐบาลทหารไม่ได้ตอบรับสายโทรศัพท์ที่รอยเตอร์ติดต่อเพื่อขอความเห็น
สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองระบุในคำแถลงก่อนหน้านี้ว่า กองกำลังความมั่นคงได้สังหารผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 550 คน โดยเป็นเด็กถึง 46 คน นับตั้งแต่ทหารเข้าโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้การนำของอองซานซูจี
การชุมนุมประท้วงที่ดึงดูดผู้คนหลายหมื่นคนในวันแรกๆ ตามเมืองใหญ่ต่างๆ เริ่มหยุดลงเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากฝ่ายต่อต้านการรัฐประหารเริ่มหันมาใช้วิธี ‘การชุมนุมแบบกองโจร’ ที่เป็นการแสดงการต่อต้านแบบกลุ่มเล็กๆ และรวดเร็ว ก่อนที่กองกำลังความมั่นคงจะสามารถตอบโต้ได้
ผู้คนยังออกมารวมตัวกันในเวลากลางคืนเพื่อจุดเทียนไว้อาลัย
“ผู้คนยังคงประท้วงกันทุกวันเพราะเราเชื่ออย่างยิ่งว่าสิ่งนี้เป็นการต่อสู้ระหว่างความดีและความชั่ว” เตซาร์ ซาน แกนนำการชุมนุมประท้วง กล่าวในข้อความเสียงถึงรอยเตอร์
เจ้าหน้าที่กำลังเพิ่มการควบคุมข้อมูลข่าวสาร พวกเขาปิดข้อมูลมือถือและในวันศุกร์ (2) ยังสั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตตัดสัญญาณบรอดแบนด์ไร้สาย ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้งานได้ แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีการโพสต์และแชร์ข้อความและรูปภาพบนสื่อสังคมออนไลน์อยู่บ้าง
เจ้าหน้าที่ยังออกหมายจับกุมคนดัง 18 คน ที่รวมทั้งอินฟลูเอนเซอร์บนสื่อสังคมออนไลน์และนักข่าว 2 คน ภายใต้กฎหมายต่อต้านเนื้อหาที่มีเจตนาทำให้สมาชิกของกองกำลังทหารขัดขืนคำสั่งและไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง สื่อของรัฐรายงานเมื่อค่ำวันศุกร์ (2)
พวกเขาทั้งหมดต่างเป็นที่รู้กันว่าคัดค้านต่อต้านการปกครองของทหาร และข้อหาที่ตั้งขึ้นกับพวกเขามีโทษจำคุก 3 ปี
ปาย พะโย ทู นักแสดงหญิงรายหนึ่งโพสต์เฟซบุ๊กว่า “ไม่ว่าจะมีการออกหมายจับหรือไม่ ตราบเท่าที่ฉันยังมีชีวิตอยู่ ฉันจะต่อต้านเผด็จการทหารที่กำลังกลั่นแกล้งและสังหารประชาชน การปฏิวัติต้องมีชัย”
สถานีโทรทัศน์ MRTV ประกาศหมายจับคน 18 คน พร้อมรูปถ่ายและลิงก์โปรไฟล์เฟซบุ๊กของพวกเขา
แม้ทหารจะถูกห้ามใช้งานแพลตฟอร์ม เช่น เฟซบุ๊ก แต่พวกเขายังคงใช้สื่อสังคมออนไลน์ติดตามนักวิจารณ์และโปรโมตข้อความของพวกเขา
ด้านสหรัฐฯ ได้กล่าวประณามการปิดกั้นสัญญาณอินเทอร์เน็ต
“เราหวังว่าสิ่งนี้จะไม่ปิดกั้นเสียงของประชาชน” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุ
สหรัฐฯ และชาติตะวันตกอื่นๆ ได้กล่าวประณามการรัฐประหาร และเรียกร้องการปล่อยตัวอองซานซูจี ซึ่งเจ้าของรางวัลโนเบลรายนี้ถูกตั้งข้อหาละเมิดกฎหมายความลับราชการ ที่มีโทษจำคุกสูงถึง 14 ปี
การรัฐประหารยังจุดชนวนสงครามเก่าขึ้นอีกครั้งกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ที่แสวงหาการปกครองตนเองในพื้นที่ทางภาคเหนือและตะวันออก
สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) กลุ่มก่อความไม่สงบที่เก่าแก่ที่สุดของพม่า เผชิญกับการโจมตีทางอากาศเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี หลังกลุ่มประกาศให้การสนับสนุนขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย
KNU กล่าวว่า มีชาวบ้านมากกว่า 12,000 คน ต้องหลบหนีออกจากบ้านของตนเองเพราะการโจมตีทางอากาศ พวกเขาเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ออกมาตรการห้ามค้าอาวุธกับกองทัพ
สื่อรายงานว่า จากการโจมตีทางอากาศในพื้นที่ของ KNU ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วราว 20 คน
นอกจากนี้ การต่อสู้ยังเกิดขึ้นในพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศ ระหว่างกองทัพและกลุ่มก่อความไม่สงบชาติพันธุ์กะฉิ่น และเหตุความวุ่นวายเหล่านี้ทำให้ผู้คนหลายพันหลบหนีเข้าไปในไทยและอินเดีย.