ขณะที่นายพลอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำกองทัพพม่า และผู้นำประเทศ ถูกมาตรการคว่ำบาตรโดยโลกตะวันตกหลังจากเข่นฆ่าประชาชนไปมากกว่า 560 รายหลังจากการรัฐประหารตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ทำให้ต้องถูกโดดเดี่ยวแทบทุกด้าน
นั่นหมายความว่าประเทศที่พม่าจะพึ่งพาได้มีเพียง 2 ชาติมหาอำนาจคือรัสเซียและจีนซึ่งยังเป็นแหล่งจัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์สำหรับกองทัพ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการรักษาความมั่นคงและอำนาจในการควบคุมทุกอย่างในประเทศ
แม้จะต้องพึ่งพา 2 ชาติมหาอำนาจผู้นำพม่ายังต้องรักษาดุลยภาพด้านความสัมพันธ์เพื่อไม่ให้เอียงไปหาฝ่ายใดมากเกินไปจนอาจจะทำให้เกิดปัญหากระทบกระทั่งบาดหมางทางด้านการทูตได้
ทางด้านการค้า พม่าถือว่าจีนเป็นตลาดใหญ่สำหรับการรับซื้อสินค้าทั้งจากโรงงานชาวจีนในประเทศพม่าเอง และการขายวัตถุดิบและทรัพยากรสำคัญเช่นน้ำมันและก๊าซ ทองคำ เมืองแร่ต่างๆ หยก ใบยาสูบและสินค้าเกษตร
จีนถือว่าเป็นตลาดใหญ่คู่ค้าสำคัญในการรับซื้อน้ำมันและก๊าซจากแหล่งผลิตในอ่าวเบงกอลผ่านเส้นทางระยะ 800 กิโลเมตรถึงชายแดนจีน ซึ่งถือว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ต้องรักษาไว้จากการคุกคามของกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ต่างๆ
ดังนั้นฝ่ายจีนจึงได้กำชับกองทัพพม่าอย่างเข้มแข็งว่าจะต้องรักษาท่อก๊าซและน้ำมัน เพื่อไม่ให้ถูกก่อวินาศกรรมซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อการรับซื้อพลังงานสำหรับใช้ในประเทศจีน ซึ่งยังต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน
นั่นเป็นแหล่งรายได้สำคัญของกองทัพพม่าซึ่งเป็นเจ้าของสัมปทาน
รัสเซียนั้นได้กลายเป็นผู้ส่งอาวุธยุทโธปกรณ์สำคัญซึ่งมีทั้งเครื่องบินรบ ประเภทขับไล่ทิ้งระเบิดมิก-29 ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องบินรุ่นทันสมัย ซึ่งกองทัพพม่าได้ซื้อมารวมทั้งสิ้น 14 ลำเพื่อเพิ่มแสนยานุภาพ ขีดความสามารถในการป้องกันประเทศ
ทั้งยังเป็นอาวุธสำคัญในการโจมตีที่มั่นของกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ ซึ่งล่าสุดได้ปฏิบัติการโจมตีที่มันของกองกำลังกะเหรี่ยงเคเอ็นยู และอาจจะลามไปถึงฐานที่มั่นของกองทัพไทยใหญ่ถ้ามีการปะทะกันเมื่อสถานการณ์ลุกลามจากที่เป็นอยู่
นอกจากเครื่องบินขับไล่โจมตีทิ้งระเบิดแล้ว กองทัพพม่ายังสั่งซื้อเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธทันสมัยรุ่นเอ็มไอ-35 จำนวน 9 ลำและรุ่นเอ็มไอ-17 จำนวน 12 ลำสำหรับใช้ลำเลียงขนส่ง
เฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธรบเหล่านี้ยังใช้ในการโจมตีที่มั่นของกองทัพทหาร คะฉิ่น ในการรบช่วงปี 2012-2013 อีกด้วย
กองทัพพม่ายังซื้อรถถังและรถสายพานลำเลียงของรัสเซียแต่ผ่านการผลิตจากยูเครนซึ่งถือว่าเป็นฐานกำลังรบภาคพื้นดินในการเผชิญกับทหารชาติพันธุ์อื่นๆ ในพื้นที่เข้าถึงยากสำหรับทหารราบ
เป็นรถถังและรถรบที่ยูเครนส่งให้กองทัพไทยแต่ใช้งานได้ไม่เต็มที่เพราะเครื่องยนต์มีปัญหา จนทำให้เลิกการซื้อส่วนที่เหลือและไทยหันไปซื้อจากจีน สหรัฐฯ
กองทัพพม่ามีรายได้สำคัญจากการทำธุรกิจ ครอบคลุมทุกกิจการในพม่า ทั้งก๊าซและน้ำมัน ธนาคาร ประกันภัย ขนส่ง เหมืองทองคำ และหยก รวมทั้งการค้าปลีก ค้าส่ง มีร้านสะดวกซื้อเป็นเครือข่ายทั่วประเทศมากกว่า 537 แห่ง
ดังนั้น เงินสำหรับการจัดซื้ออาวุธมาจากงบประมาณของรัฐบาล และรายได้จากกิจการต่างๆ จาก 2 บริษัทขนาดใหญ่ และมีบริษัทลูกข่ายกว่า 135 บริษัท
นอกจากนี้กองทัพพม่ายังวางแผนซื้อเรือดำน้ำจากรัสเซียซึ่งจะเป็นการเพิ่มแสนยานุภาพในการปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติในทะเล โดยเฉพาะแหล่งน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติซึ่งบริษัทต่างชาติเป็นผู้รับสัมปทานในการสำรวจและผลิต
ปัจจุบันบริษัทต่างชาติเช่นโททาลของฝรั่งเศสยังไม่อยู่ในขอบข่ายของการคว่ำบาตรโดยสหรัฐฯ และกลุ่มประชาคมยุโรป บริษัทอ้างว่าเป็นความจำเป็นที่จะต้องรักษาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้เพื่อให้รายได้ยังคงอยู่
ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพพม่าและรัสเซียแนบแน่น เพราะตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา พม่าได้ส่งทหารและผู้เชี่ยวชาญไปกับการฝึกอบรมในรัสเซียมีจำนวนมากกว่า 5,000 คน เป็นการยกระดับขีดความสามารถของกองทัพและฝ่ายเทคนิค
มหาวิทยาลัยย่างกุ้งยังสอนภาษารัสเซียอีกด้วยซึ่งจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์เพราะการสื่อสารภาษาอื่นๆ อาจจะจำเป็นน้อยลงถ้าชาวพม่าซึ่งทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานของรัสเซียสามารถพูดภาษาเดียวกันได้
ปัจจุบันมีทหารรัสเซียเป็นทั้งที่ปรึกษาและดูแลงานบำรุงรักษาและซ่อมแซมเครื่องบินต่างๆ ในพม่า ดังนั้นจะเห็นได้ชัดถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดดังที่สะท้อนให้เห็นในวันกองทัพพม่าซึ่งรัฐมนตรีช่วยกลาโหมของรัสเซียเข้าร่วมงานด้วย
ก่อนหน้าการรัฐประหาร 1 วัน มีทีมที่ปรึกษารัสเซียเข้าร่วมงานเปิดตัวบริษัทไฮเทคสำคัญในกรุงย่างกุ้ง ซึ่งลูกชายของนายพลมิน อ่อง หล่าย เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ มีการฉลองอย่างเอิกเกริกซึ่งชวนให้คิดว่าทุกฝ่ายรู้ว่าจะมีการรัฐประหาร
และเป็นการฉลองล่วงหน้าสำหรับการยึดอำนาจได้สำเร็จหรือไม่?