ประธานรัฐสภา เดินหน้าถกร่าง พ.ร.บ.ประชามติ แม้วิปรัฐบาลให้เลื่อนการประชุม เหตุสมาชิกรัฐสภาขาดประชุมเพราะโควิด-19 ด้าน “ฝ่ายค้าน” ให้ลดใช้หมื่นชื่อทำประชามติ
วันนี้ (7 เม.ย.) เมื่อเวลา 09.40 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญ มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยมีสมาชิกลงชื่อเข้าประชุม 289 คน ขณะที่องค์ประชุมต้องมี 368 คน จึงยังไม่สามารถเปิดประชุมได้ เนื่องจาากมี ส.ส.พรรคภูมิใจไทยทั้งพรรค ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ว.บางส่วนที่ต้องกักตัวดูอาการติดเชื่อโควิด-19 ทำให้นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นกล่าวตำหนิสมาชิกรัฐสภาที่ไม่มาประชุมทั้งๆที่เป็นการเปิดประชุมสมัยวิสามัญ อย่างนี้ประธานตั้งกรรมการสอบสมาชิกรัฐสภาที่ไม่มาร่วมประชุม
ทั้งนี้ นายชวนได้ชี้แจงว่า การเปิดประชุมสมัยวิสามัญเป็นความต้องการของสมาชิกที่ขอไปยังรัฐบาล แล้วรัฐบาลดำเนินการให้ ทางรัฐสภาไม่มีอำนาจในการเปิดสมัยวิสามัญ
จนกระทั่งเวลา 10.03 น. การประชุมกลับมาเปิดอีกครั้งโดยมีสมาชิกเป็นองค์ประชุม 377คน ถือว่าครบองค์ประชุม โดยนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ชี้แจงว่า ตั้งแต่ค่ำวันที่ 6 เม.ย.จนเช้าวันนี้ (7 เม.ย.) ตนได้รับแจ้งจาก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ขอลากากรประชุมเนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาตัวเองและสังคมจึงขอกักตัว ป้องกันตัวเอง และจะไปตรวจโควิด ขณะเดียวกัน ทราบว่าบางพรรคขอลาการประชุมยกพรรค ในส่วนตรงนี้ขอนุญาตเลื่อนการประชุมออกไปก่อนเพื่อให้กฎหมายที่จะพิจารณาต่อไปนี้มีความรอบคอบ และเป็นไปตามรูปแบบของรัฐสภา
ด้านนายชวนชี้แจงว่า เมื่อองค์ประชุมครบแล้วประธานก็ต้องทำหน้าที่ ไม่สามารถเลื่อนการประชุมได้ และการเปิดวิสามัญก็เป็นเรื่องที่ตกลงกัน เหตุการณ์ที่นายวิรัชพูดก็มีความจริงส่วนหนึ่ง ซึ่งพรรคภูมิใจไทยได้โทรศัพท์มาแจ้งตนแล้วว่าขอลาการประชุม แต่สำหรับบุคคลที่ไม่ติดโควิดก็ขอให้มาเช้าร่วมประชุม ส่วนคนที่ติดก็ไม่ต้องมาเพราะจะมีความเสี่ยงต่อเพื่อนสมาชิก และหากจะขอเลื่อนการประชุมต้องไปหารือทั้งหมดเพื่อให้เป็นมติเอกฉันท์
ส่วนนายสุทิน คลังแสง ส.ศงหมาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน อภิปรายว่า เคารพความคิดเห็นของนายวิรัชเพราะมีเหตุผลที่ดี เนื่องจากสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคำนึงถึง แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือภารกิจและความคาดหวังของร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติฉบับนี้ที่สังคมรอคอย และขณะนี้ก็ครบองค์ประชุมแล้วขอให้เดินหน้าต่อ หากมีปัญหาก็ค่อยว่ากันอีกครั้ง
ทั้งนี้ มีความพยายามจาก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ โดยนายวีรกร คำประกอบ ส.ส.ส.นครสวรรค์ พยายามโน้มน้าว ให้เลื่อนการประชุมออกไปก่อน เพราะหากมี ส.ส.คนใดคนหนึ่งที่มาจากพื้นที่เสี่ยงอาจทำให้ติดโควิดกันหมด แต่นายชวนวินิจฉัยไม่เลื่อนการประชุมเพราะถือว่าองค์ประชุมครบแล้ว จึงดำเนินการประชุม โดยพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติที่ค้างอยู่ต่อทันที่
จากนั้น นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว. ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ได้ชี้แจงถึงรายละเอียดการแก้ไขเนื้อหามาตรา 10-11 และมาตรา 20/3 ที่คณะกรรมการกฤษฎีกานำไปปรับปรุงให้สอดคล้องกับเนื้อหามาตรา9 ที่รัฐสภามีมติให้ปรับปรุงแก้ไขในการประชุมครั้งที่แล้ว โดยในส่วนมาตรา10 การให้ทำประชามติภายใน 90-120 วัน นับจากวันที่ประธานรัฐสภาส่งเรื่องการทำประชามติให้นายกรัฐมนตรีทราบ ไม่มีสมาชิกคนใดคัดค้าน ที่ประชุมลงมติเห็นชอบด้วยคะแนน 449 ต่อ 0 งดออกเสียง 2 ส่วนมาตรา 11 เรื่องจำนวนผู้เสนอเข้าชื่อทำประชามติ ที่ร่าง กมธ.เสียงข้างมากระบุให้มีประชาชนเข้าชื่อ 50,000 คนขึ้นไป โดยมี กมธ.เสียงข้างน้อย และสมาชิกหลายคน เช่น นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เห็นแย้งว่าเป็นจำนวนมากเกินไป ควรกำหนดแค่ 10,000 คนก็เพียงพอ เพราะไม่ว่าจะเสนอไปกี่รายชื่อ อำนาจชี้ขาดจะทำประชามติหรือไม่ก็ยังอยู่ที่ ครม.
นายชูศักดิ์ ศิรินิล กมธ.เสียงข้างน้อย อภิปรายว่า การทำประชามติไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องรัฐธรรมนูญหรือเรื่องที่ ครม.มีมติเห็นสมควร เพราะอาจมีกรณีอื่นๆ ที่ทำประชามติได้ เช่น การทำประชามติระดับพื้นที่ ระดับภาค ที่ไม่ต้องใช้ประชาชนทั้งประเทศเข้าชื่อ ดังนั้นการไปเพิ่มจำนวนผู้เข้าชื่อทำประชามติเป็น 5 หมื่นชื่อนั้น ถ้าต้องทำประชามติในพื้นที่จะเป็นจำนวนมากเกินไป การเข้าชื่อเพื่อทำประชามติตามมาตรา 11 นั้น แม้ประชาชนจะเข้าชื่อ แต่สุดท้ายต้องให้ ครม.เป็นผู้พิจารณาจะอนุญาตให้ทำประชามติหรือไม่ ถ้า ครม.ไม่เห็นชอบก็ทำประชามติไม่ได้ การให้ประชาชนเข้าชื่อเป็นการริเริ่มทำประชามติเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าจะสำเร็จผลต้องทำประชามติ จึงควรกำหนดไว้ 10,000 คน น่าจะเหมาะสมแล้ว หลังจากที่ประชุมอภิปรายครบถ้วนแล้ว ที่ประชุมลงมติเห็นด้วยตามที่ กมธ.เสียงข้างมากเสนอมาด้วยคะแนน 347 ต่อ 154 งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนน 2