xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” เผยร่าง พ.ร.บ.ประชามติฉบับปรับแก้พร้อมเข้าสภา เพิ่ม 2 เหตุแต่สุดท้ายจบที่ ครม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ส.ว.คำนูณ” เผยร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ที่กฤษฎีกานำไปปรับแก้ ผ่านมติเห็นชอบของ กมธ.แล้ว พร้อมนำเข้าวาระประชุมร่วมกันของรัฐสภา 7-8 เม.ย. ระบุเนื้อหาให้เพิ่ม “มติของสภา” และ “ประชาชนเข้าชื่อ” เป็นเหตุแห่งการออกเสียงประชามติ แต่ต้องจบที่ มติ ครม. เชื่อเป็นการปฏิรูปใหญ่

วันนี้ (3 เม.ย.) นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว Kamnoon Sidhisamarn เกี่ยวกับความคืบหน้าของการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ว่า
 
ประชามติ - จบที่มติคณะรัฐมนตรี !
ลงตัวแล้วครับ !
ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติที่เกิดอุบัติเหตุในมาตรา 9 เมื่อเย็นวันที่ 18 มีนาคม 2564 เพิ่มเหตุแห่งการจัดออกเสียงประชามติขึ้นมาอีกสอง คือ (1) มติของรัฐสภา และ (2) ประชาชนเข้าชื่อกันเสนอ จนทำให้การประชุมเดินหน้าต่อไม่ได้ เพราะจะต้องมีการปรับมาตราต่อเนื่องให้สอดคล้องกันและไม่ให้เสี่ยงต่อการขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดเหตุแห่งการจัดออกเสียงประชามติไว้เพียงสอง คือ เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีเหตุอันสมควร และการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 5-6 ประเด็นสำคัญ ล่าสุด กฤษฎีกานำไปปรับแก้แล้ว และคณะกรรมาธิการ ประชุม 2 วัน 1-2 เมษายน 2564 มีมติเห็นชอบ กระทั่งนำรายงานกราบเรียนประธานรัฐสภาแล้ว ลงตัว ไม่มีปัญหา ขอเพียงผ่านมติของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาที่เปิดสมัยวิสามัญอีกครั้ง 7-8 เมษายน 2564 นี้


สาระสำคัญอยู่ในร่างมาตรา 11 ฉบับปรับแก้ที่เป็นการกำหนดขั้นตอนของเหตุให้มีการจัดออกเสียงประชามติที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ 2 กรณีให้มีความชัดเจนขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 11 วรรคสาม
“เมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรตามมาตรา 166 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในการที่จะให้มีการออกเสียงตามมาตรา 9 (2) (3) (4) หรือ (5) ให้นายกรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงตามวันที่กำหนด...”

สรุปง่ายๆ คือไม่ว่าจะมติของรัฐสภา หรือประชาชนเข้าชื่อเสนอ จะต้องไปจบสุดท้ายที่มติ ครม.ที่จะตัองมีความเห็นว่า ‘...มีเหตุอันสมควร’ หรือไม่ก่อน ไม่ใช่เกิดผลให้ต้องจัดออกเสียงประชามติโดยอัตโนมัติ

พูดง่ายๆ คือ อำนาจ say the last word ยังอยู่ที่คณะรัฐมนตรี !

ร่างปรับแก้มาตรา 11 ยังได้วาง ‘กรอบ’ หลักเกณฑ์ที่ กกต.จะไปกำหนดสำหรับกรณีประชาชนเข้าชื่อกันว่าจะต้องไม่น้อยกว่า 50,000 คน โดยเฉพาะกรณีนี้จะไปตัดสินโหวตกันในที่ประชุมใหญ่วันที่ 7 เมษายน 2564 นี้อีกครั้งเพราะยังมีกรรมาธิการเสียงข้างน้อยสงวนความเห็นไว้ว่าขอแค่ประชาชนเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 10,000 คนพอ

ร่างปรับแก้มาตรา 11 ยังได้ระบุให้ชัดเจนไปว่ามติของรัฐสภาหมายถึงมติของ 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ไม่ใช่มติของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพราะไม่สามารถจะประชุมร่วมเพื่อหามติของรัฐสภาในกรณีประชามติได้ เพราะการประชุมร่วมกันของรัฐสภาจะเกิดขึ้นได้จำกัดเฉพาะ 16 กรณีที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น ซึ่งไม่มีกรณีเกี่ยวกับประชามติ

เป็นทางออกที่ดีที่สุด และเป็นการปฏิรูปใหญ่มาก

เพราะที่สุดของที่สุดแล้ว แม้กฎหมายจะเขียนให้อำนาจ say the last word ยังคงอยู่ที่คณะรัฐมนตรีก็ตาม แต่หากมีมติของสภาหรือการเข้าชื่อของประชาชน 50,000 คน เสนอเข้ามา จะเป็นประเด็นสำคัญทางการเมืองประกอบเข้ามา คณะรัฐมนตรีผู้มีอำนาจตามกฎหมายจะ say YES หรือ say NO จึงต้องใช้วิจารณญาณให้รอบคอบโดยมองทุกเหตุผลประกอบกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เรื่องที่ขอให้จัดออกเสียงประชามตินั้นมาจาก 2 ทางคู่กัน คือ ทั้งมติของสภาและประชาชนเข้าชื่อ 50,000 คน






กำลังโหลดความคิดเห็น