“ส.ว.คำนูณ” ชี้รัฐบาลไม่ได้ชนะทุกเรื่อง ยกกรณีแพ้โหวตร่าง พ.ร.บ.ประชามติ เมื่อคืนวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา ในประเด็น “เหตุ” ที่จะให้ออกเสียงประชามติ หลังเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเห็นด้วยกับคำแปรญัตติของฝ่ายค้าน จนต้องนำร่างกลับไปให้กฤษฎีกาปรับแก้ และต้องอาจเปิดประชุมสมัยวิสามัญอีกครั้งเพื่อพิจารณาต่อให้จบ
วันนี้ (19 มี.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Kamnoon Sidhisamarn ในหัวข้อ รัฐบาลไม่ได้ชนะเสมอไปในทุกเรื่อง! มีรายละเอียดว่า “ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. .... วาระ 2 ในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เมื่อช่วงค่ำวันที่ 18 มีนาคม ที่ผ่านมา รัฐบาลแพ้มติฝ่ายค้านหวุดหวิดในมาตราสำคัญ จนทำให้การพิจารณาต้องสะดุดหยุดลง ไม่อาจพิจารณาต่อจนจบวาระ 2-3 ในสมัยประชุมวิสามัญ 17-18 มีนาคมนี้ได้ เพราะต้องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานำไปปรับแก้มาตราอื่นที่เกี่ยวเนื่องกันให้รอบคอบเสียก่อน
ทำให้อาจจะต้องมีการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญอีกครั้งในช่วงปลายเดือนมีนาคมหรือต้นเดือนเมษายนนี้ เพื่อพิจารณาต่อให้จบ
ที่ว่าสำคัญนั้นมันเป็นไฉน ?
จะพยายามเล่าให้ฟังง่ายๆ นะครับ
มันเป็นเรื่องของเหตุที่จะให้มีการออกเสียงประชามติ
ซึ่งปัจจุบันมีได้เพียง 2 เหตุเท่านั้น
1. คณะรัฐมนตรีให้ทำ “ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร” ทั้งนี้ เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 166
2. เมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็นสำคัญ ทั้งนี้ เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 256(8)
ร่างกฎหมายประชามติที่รัฐบาลเสนอเข้ามาเดินตามแนวทางนี้ การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการร่วมของรัฐสภายังคงมีมติเดินตามร่างรัฐบาล ปรับแก้รายละเอียดเล็กน้อย เพราะเห็นว่าโดยลักษณ์อักษรแล้ว เหตุข้อ 1 เขียนไว้ “กว้าง” ครอบคลุมทุกเรื่องทุกมิติแล้ว เพราะอาจเป็นเหตุใดก็สามารถเข้า “เหตุอันสมควร” ขอเพียงให้คณะรัฐมนตรีมีมติเท่านั้น ซึ่งก็หมายถึงคณะรัฐมนตรีทุกชุดในอนาคต ไม่จำเป็นต้องเขียนขยายเหตุเพิ่มเติม ตามหลักการเขียนกฎหมายที่ว่าเขียนเปิดกว้างไว้ดีกว่า ยิ่งไปเขียนรายละเอียดเพิ่มเติม อาจให้ผลทำให้ “แคบ” ลงก็ได้
พรรคฝ่ายค้านทั้งที่เป็นกรรมาธิการและสมาชิกรัฐสภาทั่วไปเสนอขอแปรญัตติแก้ไขเพิ่มเหตุที่จะให้มีการออกเสียงประชามติเข้ามามาก
เพราะเห็นว่า เหตุตามข้อ 1 น่ะกว้างก็จริง แต่ไม่เคยเกิดขึ้นได้เลย และเชื่อว่าถ้าไม่เขียนขยายไว้ ก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้จริง เพราะโดยธรรมชาติของคณะรัฐมนตรีในฐานะฝ่ายบริหารมักจะไม่เห็น “เหตุอันสมควร” เสียที
อย่ากระนั้นเลย เขียนขยายความไว้ดีกว่า
ไหนๆ ก็เป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศแล้ว
คำแปรญัตติที่เป็นหลักอยู่จนถึงการลงมติในช่วงค่ำวันที่ 18 มีนาคม เป็นของอาจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิล กรรมาธิการจากโควตาพรรคเพื่อไทย ขอขยายเหตุเป็น 5 อนุมาตราดังนี้
(1) การออกเสียงเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามที่มีบทบัญญัติกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
(2) การออกเสียงกรณีเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีเหตุอันสมควร
(3) การออกเสียงตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการออกเสียง
(4) การออกเสียงในกรณีที่รัฐสภาได้พิจารณาและมีมติเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีเหตุสมควรที่จะให้มีการออกเสียงและได้แจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ
(5) การออกเสียงกรณีประชาชนเข้าชื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
เป็นการขอแก้ไขที่ไม่ทำให้แคบลงแน่ เพราะรวบเอาเหตุเดิมตามข้อ 1 มาอยู่ใน (2) เรียบร้อยแล้ว เคยกว้างอยู่อย่างไรตามที่กล่าวอ้างกันก็ยังกว้างอยู่อย่างนั้น
ประเด็นสำคัญอยู่ที่ (4) และ (5) ครับ !
~ มติของ “รัฐสภา” ในฐานะผู้แทนประชาชนสามารถขอให้คณะรัฐมนตรีจัดประชามติได้ !
~ นอกจากนั้น “ประชาชน” ยังสามารถใช้สิทธิโดยตรง โดยเข้าชื่อกันเสนอให้คณะรัฐมนตรีจัดประชามติได้ !!
เป็นประเด็นสำคัญที่อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนของบ้านเมืองได้ในอนาคต
ญัตติของอาจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิล ชนะไปได้ด้วยเสียงหวุดหวิด ไม่ถึง 10 เสียง โดย ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และอาจจะมีพรรคอื่นๆ ด้วย รวมทั้ง ส.ว.บางท่าน ร่วมโหวตให้
ก็เลยทำให้ต้องเลื่อนการประชุมออกไปก่อน
เพราะมาตราต่อๆ ไปอย่างนัอย 4 มาตราต้องเขียนใหม่เพื่อปรับให้เข้ากับหลักการใหม่นี้”