ปธ.สภา ยังไม่เข้าใจ มือกฎหมาย รบ. ติงเปิดประชุมวิสามัญเร็วเกินไป ทั้งที่เป็นวาระเร่งด่วน แต่เป็นสิทธิ รบ. กำหนดวัน สภาไม่เกี่ยว ชี้ร้องศาล รธน.คนละเรื่อง แล้วแต่สมาชิก
วันนี้ (24 มี.ค.) นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงกรณีที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุถึงการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ในวันที่ 7-8 เม.ย. เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ เร็วเกินไป ว่า เรื่องนี้อยู่ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ พ.ศ. ... จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จ ซึ่งเมื่อวันที่ 23 มี.ค. ตนได้พูดคุยกับนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว. ในฐานะประธาน กมธ. ทราบว่า จะมีการประชุมในวันที่ 1 เม.ย. ก็จะเสร็จ แต่ถ้ารอให้เสร็จแล้วทำเรื่องกราบบังคมทูลฯเพื่อเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญอาจจะไม่ทันในวันที่ 7-8 เม.ย. เพราะต้องมีระยะเวลาในการทำเรื่องทูลเกล้าฯ ซึ่งทางคณะ กมธ.ให้การรับรองแล้วว่าพิจารณาเสร็จทัน อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายด่วนของรัฐบาล ไม่ใช่สภาเป็นผู้เสนอ ซึ่งประธาน กมธ. ผู้นำฝ่ายค้าน และ นายวิษณุ ได้พูดคุยกันเบื้องต้นแล้วว่าจังหวะเวลาเปิดประชุมสมัยวิสามัญ มีความเห็นสอดคล้องกันว่าวันที่ 7-8 เม.ย. เหมาะสม เพราะหลังจากนี้จะเป็นวันหยุดยาวของสมาชิกรัฐสภา
“ผมไม่เข้าใจว่าเร็วเกินไปหมายถึงอะไร ถ้าไม่เร็วก็ต้องไปพิจารณาในสมัยสามัญเดือนพฤษภาคมเลย ถ้าไม่ใช่เรื่องด่วนก็พิจารณาแบบนั้นได้ แต่ในกรณีนี้ถือเป็นเรื่องด่วนที่รัฐบาลเป็นผู้เสนอ” นายชวน กล่าว
เมื่อถามว่า มีบางฝ่ายเป็นห่วงร่างกฎหมายดังกล่าวอาจจะขัดรัฐธรรมนูญ นายชวน กล่าวว่า ไม่ขอวิจารณ์เรื่องนี้ เพราะเราทำหน้าที่ต่อฝ่ายที่เสนอกฎหมายมาให้ได้รับการพิจารณาตามวาระที่สภาดำเนินการ เพื่อไม่ให้กฎหมายค้างพิจารณา แต่การเปิดประชุมสภาวิสามัญที่ผ่านมาก็เปิดมาเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ให้จบ แต่บังเอิญเกิดปัญหาขึ้นมาก็ต้องมาพิจารณาอีกรอบ
ถามอีกว่า ถ้ามีคนไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญจะทำให้กระบวนการพิจารณาสะดุดหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า คนละเรื่องกัน การไปร้องก็แล้วแต่สมาชิกหรือใครก็ตามที่จะไปร้อง แต่สภามีหน้าที่กำหนดระยะเวลาโดยหารือกับทุกฝ่าย เพราะสภากำหนดเองไม่ได้ ถ้าเกิดรัฐบาลหรือฝ่ายอื่นไม่พร้อม หรือไม่ประสงค์จะเปิดประชุมก็เป็นสิทธิ เพราะผู้เสนอเปิดประชุมวิสามัญ คือ ฝ่ายบริหาร ไม่ใช่ฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้น จึงอยู่ที่รัฐบาลว่าต้องการให้กฎหมายฉบับนี้เป็นอย่างไร หากรัฐบาลเปลี่ยนใจไม่เร่งเสนอกฎหมายก็เป็นสิทธิของรัฐบาล เราไม่มีปัญหาอะไร สภามีหน้าที่ดูแลนัดวันประชุมและกำหนดวาระให้ เพื่อให้เสร็จภารกิจเท่านั้น ทั้งนี้ ทางรัฐบาลได้แจ้งมายังสภาให้ยืนยันว่าติดปัญหาอย่างไร ซึ่งตนตอบไปแล้วว่าเป็นเรื่องของรัฐบาล เพราะเป็นกฎหมายของรัฐบาลที่เป็นเรื่องด่วน