xs
xsm
sm
md
lg

องค์กรผู้บริโภคยื่นฟ้องศาล ปค. เพิกถอนมติ คกก.แข่งขันทางการค้า ปมอนุญาตให้ บ.เทสโก้ รวมธุรกิจกับซีพี ชี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



องค์กรผู้บริโภคผนึกกำลังยื่นฟ้องศาลปกครอง เพิกถอนมติ คกก.แข่งขันทางการค้า ที่อนุญาตให้ บ.เทสโก้ รวมธุรกิจกับ บ.ซีพี ชี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำลายระบบเศรษฐกิจ ส่อเกิดการกินรวบประเทศ

วันนี้ (15 มี.ค.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ 37 องค์กรผู้บริโภค และตัวแทนผู้บริโภคจากทั่วประเทศ ยื่นฟ้องคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอเพิกถอนมติ กขค.ที่อนุญาตให้มีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ซีพี รีเทล ดีเวอร์ลอปเม้นท์ จำกัด กับบริษัท เทสโก้ สโตร์ (ประเทศไทย) จำกัด

โดย น.ส.กชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากการที่ กขค.มีมติเสียงข้างมาก 4 ต่อ 3 อนุญาตให้ควบรวมบริษัท เทสโก้ สโตร์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ซีพี รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด นั้น ทำให้เครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ มีอำนาจเหนือตลาดอย่างสมบูรณ์ในธุรกิจค้าส่งค้าปลีก โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 83.97 ซึ่งบริษัทเจริญโภคภัณฑ์เป็นผู้ผลิตสินค้าอาหารสำคัญหลายประการ ทั้ง วัตถุดิบ สินค้าเกษตร และสินค้าแปรรูป สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำซึ่งนำไปสู่การผูกขาดทางการค้า ทำให้กลไกตลาดไม่เป็นอิสระ ส่งผลเสียต่อผู้บริโภค ธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อมและระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

ผอ.มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวด้วยว่า ก่อนที่ กขค.จะอนุญาตให้มีการควบรวมธุรกิจก็ไม่ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียตามที่ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า 2560 กำหนด ขั้นตอนการลงมติก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ให้กรรมการเสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมธุรกิจ ได้มีสิทธิลงมติในการกำหนดเงื่อนไขทางโครงสร้างและเงื่อนไขทางพฤติกรรมสังคมเพื่อป้องกันไม่ให้ 2 บริษัทเมื่อควบรวมธุรกิจแล้วมีอำนาจเหนือตลาดกว่าร้อยละ 80 มีการผูกขาดตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค การไม่เปิดเผยรายชื่อคณะอนุกรรมการที่ทำการศึกษาและเสนอรายงานพร้อมความเห็นให้มีการอนุญาตควบรวม 2 บริษัทได้ขัดต่อ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร เพราะอนุกรรมการบางคนอาจมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดบริษัท ซีพี มติเสียงข้างมากของ กขค.ขัดต่อเจตนารมณ์ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า 2560 ที่มุ่งป้องกันการผูกขาดทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ขัดต่อประกาศของ กขค.ที่กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มีส่วนแบ่งในตลาดเกินร้อยละ 50 เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด แต่กลับอนุญาตให้ 2 บริษัทรวมธุรกิจ จนทำให้มีส่วนแบ่งตลาดสูงกว่าร้อยละ 80 ทำให้มีอำนาจเหนือตลาดเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น มติ กขค.ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

“มติ กขค.ดังกล่าวนอกจากทำให้เกิดผลเสียกับประเทศอย่างร้ายแรง ยังจะเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบธุรกิจอื่น เช่น ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจภาพยนตร์ อาจขอรวมธุรกิจเข้าด้วยกันจนมีอำนาจเหนือตลาดในกิจการนั้น และผูกขาดสินค้าหรือบริการ จนก่อให้เกิดการกินรวบประเทศโดยนักลงทุนไทยหรือนักลงทุนต่างประเทศไทยได้ซึ่งจะส่งผลเสียต่อผู้บริโภคและระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างมาก”








กำลังโหลดความคิดเห็น