xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” ยันวาระ 1-2 ไม่แท้ง ชี้ช่องเดินหน้าวาระ 3 งดออกเสียง-ลงมติคว่ำ จบปัญหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ เผยแก้ รธน.วาระ 1-2 ไม่แท้ง ชี้ช่องสภาเดินหน้าโหวตวาระ 3 แนะ “งดออกเสียง-ลงมติคว่ำ” เป็นวิธีที่ดีที่สุด ไม่ต้องค้างคา ปัญหาจะได้จบ รับรัฐบาลไม่หนุนแก้ทั้งฉบับก็ทำไม่ได้ ไม่รู้ประชามติเร็วสุดตอนไหน

วันนี้ (12 มี.ค.) เมื่อเวลา 09.45 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่ารัฐสภาสามารถเดินหน้าโหวตวาระ 3 ต่อไปได้หรือไม่ว่า คดีนี้เนื่องจากไม่มีคู่ความ ศาลจึงไม่ได้อ่านคำพิพากษา มีแต่คำสรุปเผยแพร่ออกมาไม่กี่บรรทัด อ่านดูแล้วยังไม่เข้าใจ แต่เขาได้ส่งคำวินิจฉัยฉบับเต็มไปที่ประธานรัฐสภา คาดว่าส่งถึงแล้วและทางสภาคงได้วิเคราะห์กันแล้ว

“เอาโดยสรุปผมเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องของสภา ซึ่งสภาจะทำอย่างไรก็แล้วแต่ โดยวาระ 1 วาระ 2 ไม่ได้มีปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่วาระ 3 จะลงมติได้หรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งประธานสภาได้บรรจุวาระนี้เข้าไปในที่ประชุมรัฐสภา วันที่ 17 มี.ค.เวลา 09.30 น.ไว้แล้ว ก็คงจะมีการว่ากันในสภา ถ้าสภาเห็นว่าไม่ควรจะโหวตก็ไม่โหวต ก็เลิกไปเฉยๆ เพราะมีปัญหาข้อกฎหมายอยู่เหมือนกัน แต่ถ้าสภาเห็นว่าไม่เป็นอะไร โหวตไป สุดท้ายถ้าให้ทำประชามติก่อนเดี๋ยวคิดกันก็สามารถทำอย่างนั้นได้ แต่ความเสี่ยงก็จะมี เพราะคำวินิจฉัยออกมาอย่างนี้ แล้วก็มีอีกฝ่ายที่ไม่ค่อยจะเห็นด้วยในการโหวตวาระ 3 อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นซีกของ ส.ว.และ ส.ส.ก็อาจมีความเป็นไปได้เมื่อโหวตวาระ 3 หนึ่ง-อาจจะไม่มีคนมาประชุม สอง-มาแต่งดออกเสียง เพราะไม่รู้จะทำอย่างไรดี หรือสาม-ลงมติไม่เห็นชอบ หรือคว่ำเสียให้มันตกไปให้จบเรื่อง แล้วค่อยไปเริ่มต้นกันใหม่ โดยจะเริ่มที่ลงประชามติก่อนเพื่อแก้ทั้งฉบับตามที่ศาลรัฐธรรมนูญแนะนำ หรือจะแก้เป็นรายมาตราก็เป็นเรื่องที่ไปคิดอ่านกัน ซึ่งทั้งหมดนี้คือความเห็นของผม”

เมื่อถามว่า เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ววาระ 3 สามารถโหวตได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะตนยังไม่เห็นคำวินิจฉัย แต่มันคงไม่มีอะไรผิดพลาดที่จะโหวต แต่ถ้าโหวตแล้วก็อาจจะไม่ผ่าน ซึ่งถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดให้เรื่องมันจบลงดีกว่าค้างคาไว้

เมื่อถามว่า การทำประชามติควรเริ่มในช่วงเวลาใด นายวิษณุกล่าวว่า ช่วงไหนก็ได้ แต่ต้องเข็นให้กฎหมายประชามติผ่านเสียก่อน เมื่อออกมาแล้วก็คิดกันต่อไป ถ้าจะลงประชามติก่อนก็ลงได้ เมื่อถามว่าการทำประชามติจะเร็วสุดได้เมื่อใด นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะต้องเข้าวาระ 2 ก่อน ยังไม่รู้คณะกรรมาธิการเขาจะแก้อย่างไร มันมีหลายสำบัดสำนวน กรรมาธิการข้างน้อยเอาอย่าง กรรมาธิการข้างมากเอาอย่าง และรัฐสภาต้องเป็นคนโหวต และสมมติว่าผ่านวาระ3 ไปแล้วหลังมีการโปรดเกล้าฯ กฎหมายมีผลบังคับใช้ได้ทันที กฎหมายประชามติเป็นแค่เครื่องมือในการออกเสียงประชามติ โดยผู้ทำประชามติคือรัฐบาล ส่วนการตั้งคำถามก็คงต้องคิดด้วยกัน ถือเป็นคำถามของรัฐบาล เมื่อถามว่าหากรัฐบาลไม่เห็นด้วยกับการแก้ทั้งฉบับก็ไม่สามารถทำได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ถูกต้อง

เมื่อถามว่า หากมีการโหวตคว่ำการทำประชามติ หรือแก้รายมาตรา อันไหนจะมีแนวทางมากกว่ากัน นายวิษณุกล่าวว่า กระแสในสภาเขาอยากให้มีการทำรายมาตราอยู่แล้วซึ่งไม่ยาก เพราะการทำรายมาตรานั้นเร็ว เดือนครึ่งก็เสร็จแล้ว เพียงแต่คิดให้ตรงกันเสียก่อนว่า คำว่าหลายมาตรานั้นหมายถึงมาตราไหน ตรงนี้นี่แหละจะพูดกันยาว ถ้ามีความเห็นร่วมกันได้ก็จบ ในทางที่ดีคือ รายมาตราที่ไม่ต้องลงประชามติมันง่าย เดือนเดียวก็เสร็จ

เมื่อถามว่า นายวิษณุเคยยกตัวอย่าง 4-5 ประเด็นที่ต้องทำประชามตินั้นมีอะไรบ้าง นายวิษณุกล่าวว่า ประเด็นเหล่านี้เขียนอยู่ในมาตรา 256 อยู่แล้ว คือ 1. วิธีแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งตอนนี้มีวิธีแก้อยู่ 2 แบบแล้ว คือ วิธีแก้ธรรมดากับไปร่างใหม่ ถ้าร่างใหม่ก็ต้องไปทำประชามติก่อนและหลัง ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเมื่อวันที่ 11 มี.ค. แต่ถ้าเป็นการแก้ธรรมดาก็ต้องดู (1. วิธีแก้รัฐธรรมนูญจะต้องไปออกเสียงประชามติ (2. ในส่วนที่เกี่ยวกับคุณสมบัติอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระ (3. ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องของหมวดพระมหากษัตริย์ สิ่งเหล่านี้ชัดเจนว่าไม่มีอะไรต้องตีความ

เมื่อถามว่ามีความกังวลในเรื่องของกรอบเวลาหรือไม่ หากต้องไปร่างใหม่ที่ต้องใช้เวลา 24-26 เดือน อาจจะไม่ทันสภาชุดนี้ นายวิษณุกล่าวว่า ก็ไม่จำเป็นต้องยาวขนาดนั้น ทุกอย่างใช้คำว่าภายใน ดังนั้น 1 เดือนก็ภายใน 2 เดือนก็ภายใน แต่ความหมายคือไม่เกิน 280 วัน แล้วจะไปรอให้จบที่ 280 วันทำไม ในไทม์ไลน์นี้ก็สามารถยืดหยุ่นได้ อยู่ที่ว่าแก้อะไรและเห็นพ้องต้องกันหรือไม่ ถ้าทำได้เร็วมันก็เร็ว ข้อสำคัญเมื่อเกิด ส.ส.ร.ขึ้นแล้วสภาจะยุบหรือไม่ หรือจะตั้งใหม่หรือไม่นั้นไม่เกี่ยวกัน ทุกอย่างเดินหน้าของมันไปเรื่อย เพราะสภาชุดใหม่ก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้เลย ส.ส.ร.เป็นอีกหนึ่งสภาที่แยกออกมาต่างหากจากรัฐสภา

นายวิษณุกล่าวว่า เพราะฉะนั้นคำตอบโดยสรุปง่ายๆ คือ อยู่ที่สภาว่าจะต้องคิดอย่างไร ถ้าสภาคิดว่าอย่างนั้นไม่รู้จะไปโหวตทำไมก็จบ และถ้าเป็นอย่างนี้ในวันที่ 17 มีนาคม เวลา 09.30 น.ก็ให้คุยกันเสียก่อน แต่ถ้าสภาบอกว่าให้ลงมติแล้วค่อยไปคิดกันต่อว่าจะทำอย่างไร ก็ลงไป แต่มีโอกาสที่สมาชิกสภาจะงดออกเสียงเป็นไปได้สูง สูงมากด้วย

เมื่อถามว่า ถึงแม้ว่าสภาจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เช่น อาจจะยุบสภา เรื่องที่ค้างอยู่นี้ยังคงเดินหน้าต่อไปใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ใช่ครับ ไม่สะดุด

เมื่อถามย้ำว่า อย่างนี้วาระ 1 วาระ 2 ที่ทำมานั้นไม่แท้งใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า “วาระ 1 กับวาระ 2 ไม่แท้ง แต่วาระ 3 นี่แล้วแต่ว่าจะตัดสินใจให้แท้งหรือเปล่า ซึ่งจะตัดสินใจว่าเลิกไปมันก็ได้ หรือจะดันเข้าสภาต่อก็ได้ แต่ทีนี้จะยุ่งหน่อย เพราะตอนที่เขาแก้กันเมื่อวันก่อนเขาแก้กันแม้กระทั่งคำว่า 2 ใน 3 หรือ 3 ใน 4 ซึ่งตรงนี้ไม่เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเขาคิดจะแก้ในเรื่องอื่นอยู่แล้ว ตนจึงได้บอกว่าถ้าอย่างนั้นอาจจะเดินหน้าต่อไปก็ได้ แต่มีบางมาตราที่พ่วงเข้าไปและทำให้เกิดปัญหา เช่น มาตรา 5 ซึ่งถ้าสภาลงมติในวาระ 3 ตกไป คือ ได้คะแนนเสียงไม่ถึง ก็ดูว่าน่าจะจบลงด้วยดี แต่อาจจะไม่ถูกใจบางคน แต่มันจะไม่เป็นปัญหา แต่หากสภาลงมติวาระ 3 ผ่าน ถ้าจะเดินต่อ มันก็จะเดินต่อยากแล้ว และรับรองเลยว่าจะมีคนเลี้ยวเข้าไปยื่นที่ศาลรัฐธรรมนูญอีกหนแน่ นอกจากมาตรา 5 แล้วยังมีมาตราอื่นอีกหลายมาตรา ทุกมาตราที่ผูกกับ ส.ส.ร.นั้นจะมีปัญหาหมด

เมื่อถามว่า แสดงว่าวาระ 3 นี้ ควรจะโหวตให้ตกไปเลยใช่หรือไม่ ถ้าอยากให้จบ นายวิษณุกล่าวว่า “ก็งดออกเสียงไง”


กำลังโหลดความคิดเห็น