xs
xsm
sm
md
lg

ส่องโซเชียลฯ แก้รัฐธรรมนูญ ฝ่ายไม่ให้แก้ยันสภาดันทุรังวาระ 3 ไม่ได้ ฝ่ายหนุนให้แก้อ้าง รธน.ยังไม่เริ่มจัดทำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สองความต่างศึกแก้รัฐธรรมนูญสุดปวดหัว ฝ่ายหนึ่งบอกถึงสภาทำได้ต้องทำประชามติก่อน สภาจะถือวิสาสะลงมติวาระ 3 ตั้ง ส.ส.ร. ไม่ได้ ถามนักการเมืองชอบอ้างประชาชนจะแถไปทางไหน ส่วนอีกฝ่ายบอกอย่าตะแบง สภาลงมติวาระ 3 ไปเลย อ้างยังไม่ได้เริ่มจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เลย ลงมติเสร็จค่อยประชามติถาม นักวิชาการระบุตีความได้ 2 แนวทาง จี้ออกกฎหมายประชามติโดยไว

หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก ให้รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง ในกรณีที่ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1) เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา

เฟซบุ๊ก “สมชาย แสวงการ” ของ นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา โพสต์ข้อความระบุว่า “สรุปง่ายๆ ครับ ถ้าจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ สภามีอำนาจทำได้ แต่ต้องไปถามประชามติจากประชาชนผู้สถาปนาอำนาจก่อนว่ายอมอนุมัติหรือไม่ ส่วนวาระ 3 จะตกไปหรือไม่ ไม่ต้องกังวลครับ เพราะตราบใดไม่มีประชามติอนุมัติให้สภาไปร่างธัฐธรรมนูญใหม่ สภาจะถือวิสาสะโหวตวาระ 3 เพื่อจะให้มี ส.ส.ร. (สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ไปร่างใหม่ไม่ได้เช่นกันครับ”

ขณะที่เฟซบุ๊ก “Chuchart Srisaeng” ของนายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลฎีกา โพสต์ข้อความระบุว่า “ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมากวินิจฉัย ว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญลงประชามติเสียก่อนว่า ประสงค์จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่ กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง

เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นอย่างยิ่ง เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการลงประชามติที่ประชาชนเสียงข้างมากเห็นด้วยจำนวน 16.8 ล้านคนคิดเป็นร้อยละ 61.35 ของผู้มาใช้สิทธิลงประชามติ ดังนั้น เมื่อจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ต้องให้ประชาชนลงมติว่าจะยินยอมให้แก้ไขหรือไม่ นักการเมืองที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่างอ้างว่าเป็นความต้องการของประชาชนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเช่นนี้ คือ การบอกว่าอำนาจเป็นของประชาชนก็ต้องถามประชาชน นักการเมืองที่ชอบอ้างประชาชนจะยอมรับกันหรือไม่ หรือจะแถกันไปทางไหนอีก?”

ด้านเฟซบุ๊ก “Somchai Srisutthiyakorn” ของนายสมชาย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์ข้อความระบุว่า “ใครจะตะแบงต่อว่า ต้องไปเริ่มวาระหนึ่งใหม่ โปรดอ่าน 1. ศาลรัฐธรรมนูญชี้แล้วว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้ แต่ต้องไปทำประชามติถามประชาชนก่อนว่าจะให้มีรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ 2. การประชุมรัฐสภา วาระที่สามที่จะมีขึ้นในวันที่ 17-18 มี.ค. 2564 เพื่อให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ยังไม่มีการเริ่มจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ดังนั้น รัฐสภาก็ควรประชุมลงมติวาระที่สามต่อไป

3. หากลงมติเห็นชอบวาระที่สามแล้ว จะต้องมีการจัดให้มีประชามติภายใน 90-120 วัน การลงประชามติ ก็สามารถประกอบด้วย คำถาม 2 คำถาม คือ คำถามแรก เห็นชอบกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมที่กำหนดให้เปลี่ยนเงื่อนไข ที่ต้องมี ส.ว.หนึ่งในสามเห็นชอบในวาระที่หนึ่งและสาม เป็นใช้เสียงสามในห้าของสมาชิกรัฐสภาหรือไม่ คำถามที่สอง เห็นชอบที่จะให้มีการเริ่มต้นร่างรัฐธรรมนูญใหม่ (โดยไม่เปลี่ยนแปลงหมวด 1 และ หมวด 2) โดยให้มี ส.ส.ร. 200 คน ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนเพื่อทำหน้าร่างรัฐธรรมนูญ หรือไม่ หากประชามติผ่าน การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่จึงเกิดขึ้นหลังประชามติ 4. จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จ ก็ไปทำประชามติอีกครั้ง ทั้งหมดนี้ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทุกประการ ซึ่งประธานรัฐสภา มีหน้าที่จัดให้มีการประชุมวาระที่สาม ตามข้อกำหนดและขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญทุกประการครับ”

ส่วนเฟซบุ๊ก “Siripan Nogsuan Sawasdee” ของ รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความระบุว่า “ว่าด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 คำวินิจฉัยความว่า “รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่ กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้ง” ดิฉันเห็นว่าคำวินิจฉัยนี้ตีความได้ 2 แนวทาง

ทางที่ 1 เปิดให้ทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เป็นอีกครั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชน เมื่อมีการขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติมาแล้ว (ศาลรัฐธรรมนูญเคยใช้เหตุผล “ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” เมื่อพรรคเพื่อไทยขอแก้ไขมาตรา 291 รัฐธรรมนูญปี 2550) ความเข้าใจของดิฉันคือ การจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ ทดแทนรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ ในทางปฏิบัติต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเสียก่อน โดยระหว่างการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กำหนดให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หรือฉบับใดฉบับหนึ่งเป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราว ดังนั้น คำถามประชามติจะต้องชัดเจน ตรงไปตรงมา เช่น “ท่านเห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบ ที่จะยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อเปิดทางให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ” หากประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบ และเมื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่แล้วเสร็จ จึงให้ทำประชามติอีกครั้ง เป็นการสถาปนารัฐธรรมนูญโดยประชาชน

หากดำเนินการแนวทางนี้ ขอเสนอให้เปลี่ยนวิธีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. จากเขตละ 1 คน 200 เขต ที่ผ่านวาระ 2 มาเป็น การใช้ระบบเลือกตั้งแบบ SNTV (Single Non-Transferable Vote หรือคะแนนเสียงเดียวโอนไม่ได้) เหมือนการเลือกตั้ง ส.ว. ปี 2543 หากเลือกเส้นทางนี้ ต้องเร่งผ่าน พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่ยังอยู่ในระหว่างทำคลอด และเร่งรัดให้ทำประชามติโดยไว หรือเพื่อความรวดเร็วจะใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 ที่ใช้ในการทำประชามติรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ได้ หลายท่านให้ความเห็นว่า ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 57/2557 ที่ให้ พ.ร.บ.ประชามติ มีผลบังคับใช้ต่อเนื่องมิได้สะดุดลง ยังมีผลบังคับใช้มาจนถึงทุกวันนี้ การทำประชามติครั้งนี้ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ยืนยันสิทธิในการรณรงค์อย่างเท่าเทียม ให้ประชามติเป็นไปตามหลักสากล

กรณีที่ 2 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กระบวนการที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ เป็นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 256 เพื่อเปิดช่องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราอื่น ไม่ได้เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยแท้ เพราะยกเว้นหมวด 1-2 และที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ มาตรา 256 วรรค 8 กำหนดว่าเมื่อผ่านวาระ 3 ต้องมีการออกเสียงประชามติ ก็เป็นไปตามคำวินิจฉัยอยู่แล้ว หากจะนำคำวินิจฉัยมาใช้เพื่อให้กระบวนการขณะนี้ดำเนินต่อไปได้ ไม่ให้เกิดทางตันทางการเมือง เมื่อแก้ไขแล้วเสร็จ ก็ให้นำร่างดังกล่าวมาทำประชามติอีกครั้ง ก่อนประกาศใช้

แต่หากเลือกเดินตามเส้นทางนี้ก็จะเจอด่านสำคัญ คือ มาตรา 256 วรรค 6 ที่ระบุว่า จะผ่านวาระ 3 ได้ต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภาไม่น้อยกว่า 1/3 ของจํานวนสมาชิกที่มีอยู่ หรือประมาณ 84 เสียง ค่ายกล ส.ว. นี้ จะทำให้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมที่ดำเนินอยู่ผ่านไปได้ยาก และการให้ ส.ส.ร. มีที่มาจากการเลือกตั้งเขตละ 1 คน 200 เขต ตามร่างที่ผ่านวาระ 2 มา จะทำให้เราได้ ส.ส.ร. ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของเครือข่ายการเมือง และจักรกลอำนาจรัฐในพื้นที่ มากกว่าจะได้ตัวแทนประชาชนที่หลากหลาย จึงเห็นว่า หากแนวทางที่ดำเนินอยู่นี้ต้องเจอทางตัน การเลือกแนวทาง ทำประชามติ 2 รอบ รอบแรกเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 เริ่มกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และ รอบ 2 ทำประชามติเพื่อรับรองรัฐธรรมนูญ จะทำให้เราได้รัฐธรรมนูญเพื่ออนาคตที่ถือกำเนิดจากอำนาจของประชาชนอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง แม้จะใช้เวลานานกว่า แต่ผลสัมฤทธิ์อาจคุ้มค่าการรอคอย”
กำลังโหลดความคิดเห็น