นายกรัฐมนตรีเผยผ่าน PM PODCAST บุคลากรทางการแพทย์กว่า 3,000 คน ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว พบอาการข้างเคียงหลังฉีดเพียงเล็กน้อย คาดการปรับ ครม.มีความชัดเจนในเดือนมีนาคม
วันนี้ (6 มี.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมพูดคุยประเด็นเศรษฐกิจ วัคซีนโควิด-19 รวมทั้งประเด็นการปรับ ครม. พร้อมฝากความห่วงใยถึงพี่น้องประชาชน รักษาสุขภาพ ในช่วงที่ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน ผ่าน PM PODCAST สรุปประเด็นดังนี้
นายกรัฐมนตรียินดีไทยได้รับวัคซีนโควิด-19 ล็อตแรก จากซิโนแวค จำนวน 200,000 โดส ถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ได้รับวัคซีนจากจีนในเชิงพาณิชย์ สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างไทยกับจีนที่ช่วยเหลือดูแลกันมาตลอด โดยมีการกระจายวัคซีนไปยังหน่วยบริการเป้าหมาย 13 จังหวัด ประมาณ 116,000 โดส เพื่อฉีดให้แก่บุคลากรทางการแพทย์มากกว่า 3,000 คน ซึ่งพบอาการข้างเคียงหลังฉีดเพียงเล็กน้อย สำหรับแผนการจัดหาวัคซีนในระยะต่อไปจากแอสตร้าเซนเนก้า ที่ได้จองไปแล้วจำนวน 26 ล้านโดส รวมทั้งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมาได้อนุมัติงบประมาณกว่า 6,300 ล้านบาท เพื่อจัดหาเพิ่มเติมอีก 35 ล้านโดส รวม 61 ล้านโดส ให้ครอบคลุมคนไทยอย่างน้อยครึ่งหนึ่งภายในปี 2564 ส่วนภาคเอกชนที่ต้องการนำเข้าวัคซีนต้องขออนุญาตนำเข้าและขึ้นทะเบียนวัคซีนกับ อย. พร้อมยืนยันว่าการฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขกลุ่มแรกในจังหวัดเชียงใหม่นั้น เป็นผู้มีโอกาสสัมผัสกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูง ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ของทีมแพทย์ วัคซีนที่รัฐบาลจัดหามาจะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นควบคู่ไปกับมาตรการควบคุมโรค รวมไปถึงการดูแลเศรษฐกิจและประชาชนที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว
นายกรัฐมนตรีเผยข่าวดีประเทศไทย บริษัท S&P Moody’s และ Fitch ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับเครดิตแนวหน้าของโลกยังคงอันดับความน่าเชื่อถือ จากเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง เสถียรภาพทางการคลังและวินัยทางการคลังอยู่ในเกณฑ์ดี กระทรวงการคลังคาดการณ์ว่าหลังจากนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวขึ้น เพราะมีสัญญาณที่ดีจากการได้รับวัคซีน รวมไปถึงผลจากมาตรการของรัฐบาล ที่มีการจับจ่ายใช้สอยอย่างคึกคักในช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา
นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อช่วยลดผลกระทบประชาชนในกลุ่มต่างๆ เช่น มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประกันตนมาตรา 33 ผู้พิการ และผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาตรการเพิ่มกำลังซื้อผู้มีรายได้น้อย ช่วยเหลือกลุ่มอาชีพอิสระ มาตรการช่วยเหลือแรงงานและนายจ้าง มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) และภาคธุรกิจ มาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว มาตรการด้านการเงิน มาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบระยะที่ 2 มาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบระยะที่ 3 มาตรการช่วยเหลือธุรกิจ SMEs และภาคการท่องเที่ยว มาตรการการค้าประกันสินเชื่อ และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ นอกจากนี้ในปี 2564 รวมทั้งมาตรการเศรษฐกิจเพื่อรองรับการระบาดระลอกใหม่ ทั้งโครงการเราชนะ โครงการเรารักกัน มาตรการลดค่าน้ำค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว รวมทั้งมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ใช้โรงงานเป็นที่กักตัวแรงงานใน 5 จังหวัด คือ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด มาตรการทางภาษี และมาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องโดย ธ.ก.ส.
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนาได้ประกาศผลการจัดอันดับ B2C หรือ Business-to-Customer e-Commerce ประจำปี 2563 ซึ่งเป็นการวัดความพร้อมทางเศรษฐกิจเพื่อตอบโจทย์การค้าแบบ e-Commerce จาก 152 ประเทศทั่วโลก ผลปรากฏว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 42 โดยติด Top Ten ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน โดยโดดเด่นในด้านความเชื่อมั่นการขนส่งไปรษณีย์ ซึ่งได้คะแนนสูงเท่ากับสวิสเซอร์แลนด์ที่เป็นอันดับหนึ่ง รวมถึงด้านจำนวนการเปิดบัญชีธนาคารซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญพื้นฐานของการเติบโตของ e-Commerce ด้วย
ช่วงหนึ่งในรายการ นายกรัฐมนตรีเผยถึงการปรับ ครม.ว่าได้หารือกับพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว และเป็นหน้าที่ตัดสินใจขั้นสุดท้าย คาดว่าจะชัดเจนในเดือนมีนาคมอย่างเร็วที่สุด พร้อมฝากให้ทุกคนมีความรักสามัคคี มีจิตสำนึก และรับผิดชอบ เคารพกฎหมาย เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานรัฐให้บริการประชาชน แจ้งข่าวแก่ประชาชน เช่น การเตือนภัยพิบัติ หรือเรื่องสวัสดิการต่างๆ และหมั่นตรวจสอบข่าวสารว่าไปถึงประชาชนจริงหรือไม่ ถ้าไม่ถึงจะทำอย่างไร เช่น สร้างความร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่นหรือผู้นำชุมชน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนด้วย