xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียนคนอกหัก “เราชนะ-เรารักกัน” : เงินฝากเกิน 5 แสนทำอะไรดี?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

โครงการ “เราชนะ” และ “ม.33 เรารักกัน” ที่รัฐบาลสนับสนุนวงเงินช่วยเหลือค่าครองชีพแก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และประชาชนที่ประกอบอาชีพอิสระ มีคนที่ไม่ได้รับสิทธิอยู่ 2 กลุ่มหลักๆ คือ

มีเงินได้พึงประเมินเกิน 300,000 บาท (ปีภาษี 2562) ซึ่งโชคดีที่ไม่ได้นับมาเป็นเกณฑ์กับโครงการ ม.33 เรารักกัน

กับ มีเงินฝากรวมทุกบัญชีเกิน 500,000 บาท (ณ 31 ธ.ค. 2563)

แม้ว่ามนุษย์เงินเดือนที่หักเงินเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน ถ้าลงทะเบียนโครงการ ม.33 เรารักกัน จะยกเว้นคุณสมบัติเงินได้พึงประเมิน โดยวงเงินที่ได้รับเพียง 4,000 บาท น้อยกว่าโครงการเราชนะที่ได้รับวงเงินสูงสุด 7,000 บาท

แต่คุณสมบัติที่ว่า “มีเงินฝากรวมทุกบัญชีไม่เกิน 500,000 บาท”ก็ทำให้คนที่ทำงานเก็บเงินมาทั้งชีวิต หรือคนที่เพิ่งรับมรดก เพิ่งรับค่าสินสอด ขายที่ดินได้ หรือเพิ่งถูกหวยชุดใหญ่ ได้แต่หัวเสียไปไม่น้อยเหมือนกัน

สำหรับการพิจารณาเกณฑ์เงินฝากเพื่อรับสิทธิโครงการเราชนะ หรือ ม.33 เรารักกัน จะคำนวณจากเงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ บัตรเงินฝาก ใบรับฝากเงิน และผลิตภัณฑ์เงินฝากอื่นใดที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน

โดยคำนวณจากบัญชีเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์)

ไม่รวมคำนวณเงินฝากใน “บัญชีร่วม” “บัญชีเพื่อ” และสลากออมทรัพย์ เช่น สลากออมสิน, สลากออมทรัพย์ ธ.ก.ส., สลากออมทรัพย์ ธอส. และไม่รวมคำนวณเงินฝากในรูปสกุลเงินตราต่างประเทศ

เมื่อหลักเกณฑ์ออกมาเป็นแบบนี้ ก็มีคนที่ไม่พอใจรัฐบาลอยู่บ้าง เช่น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์แกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มสร้างไทย ชี้ว่าผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จะต้องเยียวยาทุกคนโดยเสมอภาค

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า การกำหนดเงื่อนไขเงินฝากในบัญชีธนาคารไม่เกิน 500,000 บาท มีช่องว่าง สร้างความไม่เท่าเทียม ไม่เป็นธรรมกับผู้ประกันตน ที่จ่ายเงินสมทบเหมือนกัน แต่กลับได้รับสิทธิประโยชน์ไม่เท่ากัน

ส่วน กรณ์ จาติกวณิชหัวหน้าพรรคกล้า แม้จะไม่ได้กล่าวถึงหลักเกณฑ์โครงการโดยตรง แต่น่าสนใจตรงที่ รัฐบาลมองข้ามประชาชนกลุ่มที่ “ไม่รวย แต่เสียภาษีให้รัฐ”ตลอด เช่น กลุ่มเอสเอ็มอี และคนมีรายได้ไม่เกิน 40,000 บาทต่อเดือน

กรณ์เสนอให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี ที่เป็นพลเมืองดีมาตลอดแต่วันนี้เดือดร้อน ด้วยการชดเชยรายได้ ใช้ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เปรียบเทียบยอดขายระหว่างปี 2562 และปี 2563

ส่วนประชาชนที่จ่ายภาษีเงินได้มาโดยตลอด รัฐบาลควรเว้นภาษีเงินได้ทั้งหมดให้กับผู้เสียภาษีในกลุ่มที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 500,000 บาท และเสียภาษีในอัตราไม่เกิน 10% รวมประมาณ 3 ล้านคน เป็นเม็ดเงินภาษีประมาณ 50,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ สุขาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ออกมาเคลียร์ถึงหลักเกณฑ์เงินฝากในโครงการ ม.33 เรารักกันผ่านสื่อมวลชน ระบุว่า โครงการนี้เกิดขึ้นเพราะสหภาพแรงงาน ผู้นำสภาองค์การลูกจ้างต่างๆ เรียกร้องให้เกิดขึ้น

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาจึงผลักดันโครงการ ม.33 เรารักกัน ตามข้อเรียกร้อง โดยใช้เงินกู้มาจากก้อนเดียวกับโครงการเราชนะ คือ “พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท” ไม่ใช่เงินกองทุนประกันสังคม

โครงการนี้กลุ่มผู้นำแรงงานเรียกร้องให้อย่าเอาเกณฑ์เงินเดือนไม่เกิน 300,000 บาทต่อปี มาจับ เพราะจะทำให้คนที่มีเงินเดือน 25,000-26,000 บาท ในออฟฟิศเดียวจะไม่ได้รับเงินเยียวยา (ภาษาชาวบ้าน คือ จะแตกความสามัคคีในที่ทำงาน)

ส่วนเกณฑ์เงินฝากไม่เกิน 500,000 บาทนั้น กลุ่มผู้นำแรงงานรับได้ เพราะรู้อยู่แล้วว่ามีไม่กี่คนหรอกที่มีเงินเก็บถึง 500,000 บาท จึงเป็นที่มาของหลักเกณฑ์ที่แตกต่างจาก “โครงการเราชนะ” ก่อนหน้านี้

คาดว่า ม.33 เรารักกัน จะมีผู้ผ่านหลักเกณฑ์ 9 ล้านคน ใช้งบประมาณ 38,000 ล้านบาท ส่วนผู้ที่ไม่เข้าเกณฑ์จะมี 2 ล้านคน นอกจากมีเงินฝากเกิน 5 แสนบาทแล้ว ยังเป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และแรงงานต่างชาติ

การนำหลักเกณฑ์เงินฝากมาใช้กับโครงการของรัฐบาล อาจจะทำให้คนที่มีเงินในบัญชีธนาคารเกิน 5 แสนบาท แต่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวย รู้สึกไม่พอใจอยู่บ้าง ซึ่งรัฐบาลมักจะอธิบายทำนองว่าให้เสียสละ เพราะเงินที่มีอยู่ไม่พอช่วยทุกคน

อีกมุมหนึ่ง ก็มีคนเริ่มคิดแล้วว่า ถ้ามีเงินฝากมากกว่า 5 แสนบาท ถ้าไม่ฝากเงินจะเอาไปลงทุนอะไรดี?

หลายคนอาจมีมุมมองแตกต่างกันไป บ้างก็ซื้อ “สลากออมทรัพย์” เผื่อจะถูกรางวัลใหญ่สัก 5 ล้านบาทขึ้นมาบ้าง แต่ในปัจจุบันผลตอบแทนกรณีที่ไม่ถูกรางวัลเลยอยู่ที่ 0.05-0.20% ต่อปีเท่านั้น

บางคน “ซื้อประกันชีวิต” ที่สามารถนำเบี้ยประกันมาลดหย่อนภาษีได้ แต่ก็มีรูปแบบที่ตายตัว ผลตอบแทนน้อย ภายหลังจึงมีประกันควบการลงทุน เรียกว่า “ยูนิต-ลิงก์” (Unit-Linked) แต่ลูกค้าต้องรับความเสี่ยงสร้างมูลค่าบัญชีขึ้นมาเอง

หรือบางคน “ซื้อพันธบัตรรัฐบาล” ที่ไม่ได้เปิดขายบ่อยๆ ขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลังประกาศ แม้จะเป็นการลงทุนที่มั่นคง แต่ก็มีความเสี่ยงหากอนาคตดอกเบี้ยในตลาดสูงขึ้น หรือถ้าต้องขายก่อนกำหนด ก็ต้องขายในตลาดรองแบบขาดทุน

ด้วยความเป็นมนุษย์เงินเดือน ไม่เคยมีประสบการณ์คนเคยรวยมาก่อน จึงสอบถาม “แหล่งข่าว” ที่ทำงาน หรือเคยทำงานที่เกี่ยวข้องด้านการลงทุนอยู่ 2 ราย ต่างแนะนำเป็นเสียงเดียวกันว่าให้ลงทุนใน “กองทุนรวม”

แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าวว่า คนรวยที่มี “ทักษะทางการเงิน” (Financial Literacy) มักจะเอาเงินไปใส่ในกองทุนรวมตามการจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation) ที่ “ผู้ที่ให้คําแนะนําการลงทุน” (Investment Planner) แนะนำไว้

ยกตัวอย่างเช่น กองทุนหุ้น (Equity Funds), พันธบัตร (Bond) หรือกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Fund)

เขากล่าวว่า คนที่มีฐานะร่ำรวย และมีทักษะทางการเงิน เงินคงค้างในบัญชีออมทรัพย์น่าจะคงเหลืออยู่ “ไม่กี่แสนบาท” ยกเว้นคนที่มีฐานะร่ำรวยแบบชนิดที่ว่าเงินทองเหลือล้นจริงๆ (หัวเราะ)

เมื่อถามว่า ถ้าสมมติว่าชาวบ้านที่ไม่มีความรู้เรื่องการลงทุนมาก่อน อยากจะเอาเงินเก็บมาทั้งชีวิตไปลงทุนอย่างอื่นบ้าง ควรแนะนำยังไง เริ่มต้นจากตรงไหน?

แหล่งข่าวกล่าวว่า ถ้าจะให้ปลอดภัยให้ซื้อ “กองทุนรวมตลาดเงิน” (Money Market Fund) ของธนาคารที่มีเงินฝากอยู่ ซึ่งเขาเห็นว่าปลอดภัยที่สุดแล้ว เจ๊งยาก ผลตอบแทนดีกว่าเงินฝาก

ถ้ายอมรับความเสี่ยงได้บ้าง ก็แนะนำให้ซื้อ กองทุนรวมพันธบัตร (Government Bond Fund), กองทุนรวมตราสารหนี้ (Fixed Income Fund) ก็ได้

“ถ้ามีเงินฝากจำนวนมากในธนาคารแห่งหนึ่ง ก็ขอเอาเงินไปใส่กองทุนของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนนั้นได้ สาขาช่วยเหลือแน่นอน เพราะได้ยอดขายกองทุน” แหล่งข่าว ระบุ

ส่วนแหล่งข่าวอีกรายหนึ่งก็กล่าวว่า ถ้าตอบตามหลักแล้วคือการนำเงินไปลงทุนในกองทุนรวม โดยก่อนที่จะลงทุนต้องทำแบบประเมินความเสี่ยงก่อน สามารถทำได้ทุกธนาคาร และ บลจ. เพราะใช้คำถามเดียวกัน

เมื่อได้คะแนนความเสี่ยง ธนาคารหรือ บลจ. ก็จะมี “พอร์ตการลงทุน” (Investment Portfolio) จัดสรรเงินตามความเสี่ยงที่รับได้ ถ้าเน้นความเสี่ยงต่ำก็ลงทุนใน กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น (Short-Term Fixed-Income Fund) เยอะหน่อย

ส่วนคนที่รับได้กับความเสี่ยงสูง ก็จะก็เน้นไปที่สินทรัพย์เสี่ยง เช่น กองทุนหุ้น หรือ กองทุนรวมที่ลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก (Alternative Fund) เช่น ทองคำ น้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ ฯลฯ

สำหรับพอร์ตที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แนะนำ จะทำผลตอบแทนย้อนหลัง (Back Test) ระดับหนึ่งแล้วว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหนที่จะขาดทุนกี่เปอร์เซ็นต์

แหล่งข่าวกล่าวว่า มาถึงยุคนี้ คนรุ่นใหม่มักจะลงทุนเทรดหุ้น หรือลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วยตัวเอง, สกุลเงินคริปโต (Cryptocurrency) เช่น บิตคอยน์ (Bitcoin) และตลาดซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยน หรือ ฟอเร็กซ์ (FOREX)

ขณะที่อีกหลายคนก็จะลงทุนตามคำแนะนำของ “บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.)” ซึ่งเป็นที่นิยม เพราะมีความเป็นกลาง ขายกองทุนทุก บลจ. และข้อมูลแน่น แต่สำหรับตนนั้น ลงทุน 1-2 ปี ก็ปรับเปลี่ยนทันที

“ที่ผ่านมาลงทุนในกองทุนที่เรียกว่า US TECH เป็นหลัก แต่เมื่อราคาเริ่มตึงตัว หลายคนลดพอร์ตมายังกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย เช่น เวียดนาม เกาหลี ไทย อินโดนีเซีย อินเดีย ถ้าให้ฟันธงก็ลงตลาดเอเชียเกิดใหม่ หรือกลุ่มกระแส พวกพลังงานสีเขียว (Green Energy)” แหล่งข่าวระบุ

เมื่อถามว่า ถ้าสมมติว่าชาวบ้านที่ไม่มีความรู้เรื่องการลงทุนมาก่อน ควรแนะนำยังไง แหล่งข่าวกล่าวว่า ก็ดูที่อายุตัวเอง ถ้าอายุยังน้อย ก็แบ่งเงินตัวเองซื้อประกันชีวิตส่วนหนึ่ง

หรือถ้าเป็นลูกค้าที่มีอายุระดับหนึ่ง นิยมรอซื้อ “หุ้นกู้” (Debenture) ของบริษัทเอกชน หรือซื้อ “หุ้นไอพีโอ” (IPO) บริษัทระดับชาติ เช่น รอบนี้มีหุ้นโออาร์ ซึ่งติดแบรนด์ ปตท. ลูกค้ากองทุนเชื่อมั่น ซื้อเก็บไว้ไม่เทขายก็มี

จากที่ถามแหล่งข่าวทั้งสองราย โดยสรุปก็คือ แม้ว่ากองทุนรวมผลตอบแทนดีกว่าเงินฝาก แต่ “การลงทุนในกองทุนรวมไม่ใช่การฝากเงิน” และมีความเสี่ยงของการลงทุน แม้จะลงทุนเฉพาะทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่ก็มีโอกาสขาดทุนได้

ทางที่ดีควรอ่านหนังสือชี้ชวนฉบับเต็ม หรือสอบถามผู้สนับสนุนการขายและบริษัทจัดการ เช่น สาขาของธนาคารโดยตรง จะให้คำแนะนำในการลงทุนที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ และความเสี่ยงของแต่ละคนได้ดีกว่า


กำลังโหลดความคิดเห็น