xs
xsm
sm
md
lg

“อดีตว่าที่ กสทช.” จ่อเอาเรื่อง “ส.ว.” ดึงเวลาปล่อย กม.ใหม่แซง-คว่ำสรรหา กสทช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พ.ร.บ.กสทช.” ฉบับใหม่มีผลแล้ว คว่ำสรรหาที่ค้างในชั้น ส.ว.ทันที “ผู้ได้รับการสรรหาฯ” โวย “ปฏิบัติการนมชง” ดัน กม.ผ่านทั้งที่ยังไม่สมบูรณ์ แค่หวังให้แซงกระบวนการสรรหา พิรุธขอขยายเวลาสอบจริยธรรมแค่ 8 วัน เพื่อให้เข้าช่วงปิดสมัยประชุม จ่อเอาเรื่อง ส.ว.ทั้งชุด เหตุตั้ง กก.สอบประวัติ-จริยธรรมฯ เกินอำนาจ ผิดอาญา-ถอดถอน

เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 64 เวบไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลนื่ความถรี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2564 หรือ พ.ร.บ.กสทช.ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งผ่านการลงมติวาระที่ 3 ในชั้นวุฒิสภา เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 64 ที่ผ่านมา โดยในมาตรา 2 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ระบุว่า ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

รายงานข่างแจ้งว่า เมื่อ พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ ส่งผลให้กระบวนการสรรหา กสทช.ชุดใหม่ที่อยู่ในชั้นวุฒิสภา มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบจริยธรรมผู้ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหา 14 ราย ต้องสิ้นสุดโดยอัตโนมัติ เนื่องจากคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ กสทช.ใน พ.ร.บ.ฉบับใหม่นั้นแตกต่างจาก พ.ร.บ.กสทช.ฉบับปี 2560 ที่ใช้ทำการสรรหา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงที่กระบวนการสรรหา กสทช.ชุดใหม่ดำเนินการอยู่นั้น เป็นช่วงเดียวกับที่มีการส่งร่าง พ.ร.บ.กสทช.เข้าสู่ชั้นวุฒิสภาเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 63 ซึ่งในการรับหลักการวาระที่ 1 ได้มี ส.ว.หลายรายแสดงความไม่เห็นด้วย และตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรขึ้นมาไว้หลายประเด็น ก่อนจะมอบหมายให้คณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม (กมธ.ไอซีที) วุฒิสภา ที่มี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ส.ว.เป็นประธาน ทำหน้าที่ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กสทช. ซึ่งได้มีการแก้ไขรายละเอียดในร่าง พ.ร.บ.ไว้ปลายประเด็น เช่น การเพิ่มจำนวนด้านของกรรมการ กสทช.จาก 4 เป็น 6 ด้านให้ครอบคลุมภารกิจขององค์กร และการกำหนดยศตำรวจและทหารในการเข้ารับการสรรหา เป็นต้น รวมทั้งยังมี ส.ว.สงวนคำแปรญัตติไว้อีกจำนวนหนึ่ง คาดว่าจะทำให้กระบวนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กสทช.ต้องยืดเยื้อออกไป และมีโอกาสที่จะต้องตั้ง กมธ.ร่วมระหว่าง 2 สภาเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายร่วมกัน แต่ปรากฎว่าในการพิจารณาวาระที่ 2 และ 3 ส.ว.เสียงส่วนใหญ่กลับไม่เห็นชอบร่างที่ กมธ.ไอซีทีเสนอ และเห็นชอบร่างของสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่มีการแก้ไขใดๆ รวมทั้ง ส.ว.ที่สงวนคำแปรญัตติก็ไม่ได้ใช้สิทธิในการคัดค้านแต่อย่างใด และเป็นที่น่าสังเกตว่า กมธ.ไอซีที ทั้งหมดเลือกที่จะลงคะแนนงดออกเสียง

แหล่งข่าวที่เป็นหนึ่งในผู้ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาฯ ระบุว่า เมื่อกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ ได้กำหนดให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เร่ิมดำเนินการจัดให้มีการสรรหา กสทช.ตาม พ.ร.บ.ใหม่ภายใน 15 วัน ซึ่งเชื่อว่าทั้ง 14 คนที่ผ่านการคัดเลือกครั้งที่แล้วพร้อมที่จะสมัครเข้ารับการสรรหาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า กระบวนการในชั้นวุฒิสภาพยายามที่จะล้มการสรรหา กสทช.มาโดยตลอด ตามกระแสข่าวว่ามีการล็อบบี้ กมธ.ไอซีที และ ส.ว.ที่แปรญัตติให้ถอนคำแปรญัตติ เพื่อให้การลงมติในวาระที่ 3 ราบรื่น ซึ่งทราบว่า พล.อ.อนันตพร ประธาน กมธ.ไอซีทีนั้นไม่เล่นด้วย เนื่องจากเห็นว่าร่างกฎหมายของ ส.ส.ยังขาดความสมบูรณ์ในหลายจุด จึงเปลี่ยนแผนไปใช้ล็อบบี้ ส.ว.ทั้งสภาให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายของ ส.ส.แทน เรียกกันว่า “ปฏิบัติการนมชง” ตามที่ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ได้เคยออกมาเปิดเผยว่าได้รับข้อมูลความไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับกระบวนการสรรหา กสทช.ชุดใหม่ โดยมีเพื่อนสนิทผู้นำรัฐบาล ที่เคยเป็นถึงอดีตรองนายกฯ ออกโรงรวบรวมคะแนนเสียงจาก ส.ว.ผลักดันร่าง พ.ร.บ.กสทช.ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม

“ในกลุ่มผู้ได้รับการคัดเลือกทั้ง 14 คน ทราบดีว่ามีกระบวนการล้มการสรรหา เนื่องจากแต่ละคนได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาจากความเหมาะสมและการแสดงวิสัยทัศน์ และไม่ได้มีความใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจในรัฐบาล ต่างจากคนที่เป็นตัวเต็งที่เป็นเด็กนายที่ไม่ผ่านการคัดเลือก จึงมีการแทรกแซงการทำงานของ ส.ว.เพียงเพื่อต้องการผลักดันคนของตัวเองเข้ามาเป็น กสทช.ให้ได้” ผู้ผ่านการคัดเลือกรายหนึ่งระบุ

พรเพชร วิชิตชลชัย
แหล่งข่าวรายเดิมระบุด้วยว่า นอกจากนี้ยังมองกันว่ามีความพยายามประวิงเวลาในการเลือก กสทช.ชุดใหม่ ทั้งที่กฎหมายกำหนดให้วุฒิสภาเลือกจาก 14 คนเลือก 7 คน ภายใน 30 วันหลังได้รับรายชื่อจากคณะกรรมการสรรหาแล้ว ผ่านการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม ของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กสทช. ที่เดิมที่ประชุมวุฒิสภาให้เวลาตรวจสอบ 15 วัน แต่ได้มาขอขยายเวลาเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 64 ไปอีก 8 วัน เพื่อให้หมดสมัยประชุมรัฐสภา เพราะมีการตีความเองว่า 30 วันที่กฎหมายกำหนดนั้นหมายถึงในช่วงเปิดสมัยประชุมรัฐสภาเท่านั้น ทั้งนี้ยังมองด้วยว่า วุฒิสภาไม่มีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งคณะกรรมการหรือ กมธ.ในลักษณะสอบประวัติจริยธรรม หรือลักษณะต้องห้ามใดๆอีก เพราะสถานะของ กสทช. มิใช่องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แตกต่างจากการแต่งตั้งเป็นกรรมการในองค์กรอิสระอื่นๆ อาทิ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), คณะกรรมการป้องกันปละปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นที่ต้น ที่เป็นอำนาจที่วุฒิสภากระทำได้ เนื่องจากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญได้กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม และกำหนดให้บุคคลที่จะดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรอิสระต้องมีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ วุฒิสภาจึงมีอำนาจในการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม และจริยธรรมของผู้ที่จะถูกคัดเลือกเป็นกรรมการในองค์กรอิสระ

“ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 60 วรรคสาม บัญญัติว่า กสทช. เป็นองค์กรของรัฐที่มีความอิสระในการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น ไม่ใช่องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้ง พ.ร.บ.กสทช.ก็ไม่ได้ให้อำนาจวุฒิสภาในการดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม รวมถึงจริยธรรมจากรายชื่อของผู้สมควรได้รับการคัดเลือกเป็น กสทช. อีก เนื่องจากอำนาจหน้าที่ดังกล่าวเป็นของคณะกรรมการสรรหาฯ ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จแล้ว วุฒิสภาไม่มีอำนาจและไม่จำเป็นต้องตรวจสอบซ้ำซ้อนกับในสิ่งที่คณะกรรมการสรรหาฯได้ดำเนินการไปแล้วอีก” แหล่งข่าวระบุ

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ในการประชุมวุฒิสภา เพื่อพิจารณาแต่งตั้ง กมธ.เพื่อตรวจสอบประวัติฯ กสทช.นั้น นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ที่ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมก็กล่าวเองว่า พ.ร.บ.กสทช.กำหนดให้วุฒิสภาเลือกรายชื่อผู้ที่ผ่านคณะกรรมการสรรหาฯจาก 14 เหลือ 7 ราย ภายใน 30 วัน มิได้ให้อำนาจในการดำเนินการอื่นๆแต่อย่างใด แต่ก็ได้อ้างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา 2562 ข้อ 105 ในการตั้ง กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ กสทช.ขึ้นอีก เข้าข่ายการใช้ข้อบังคับวุฒิสภา เหนือกว่ารัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.กสทช.ที่ไม่ได้ให้อำนาจวุฒิสภาไว้ แต่งตั้งจากการพิจารณาแต่งตั้งกรรมการในองค์กรอิสระอื่นๆ ดังนั้น การตั้ง กมธ.ดังกล่าวจึงถือเป็นการกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ที่ได้รับการสรรหา และการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ดังกล่าวสิ้นเปลืองงบประมาณ ต้องจ่ายเบี้ยประชุม และเสียค่าใช้จ่ายอื่นๆ อันเป็นเงินที่มาจากภาษีประชาชน จึงถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมีเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายกับบุคคลอื่น และเสียหายกับงบประมาณของชาติ

“ดังนั้น ที่ประชุมวุฒิสภาที่แต่งตั้ง กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ กสทช. ทั้งที่รู้ว่าตัวเองไม่มีอำนาจจะต้องถูกฟ้องร้องในทางอาญา และถูกร้องให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง เนื่องจากฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมต่อไป” แหล่งข่าวระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณาตั้ง กมธ.เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติฯ กสทช.เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 64 โดยอาศัยข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา 2562 ข้อ 105 ในการตั้ง กมธ.ฯ และไม่ได้มีการลงมติแต่อย่างใด เนื่องจากไม่มี ส.ว.คัดค้านเป็นอื่น ก่อนจะมีการลงมติกรอบเวลาการทำงานของ กมธ.ที่ปรากฏว่าเสียงข้างมาก 128 เสียง เห็นชอบกับระยะเวลา 15 วัน ขณะที่ 68 เสียง เห็นตามเวลา 25 วัน และงดออกเสียง 20 เสียง ก่อนที่เมื่อการประชุมวุฒิสภา วันที่ 22 ก.พ. 64 ซึ่งครบกำหนดกรอบการทำงาน 15 วัน จะมีการเสนอขอขยายเวลาทำงานไปอีก 8 วัน โดยที่ประชุมวุฒิสภาไม่ได้ลงมติ เนื่องจากไม่มี ส.ว.คัดค้านเป็นอื่นเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น