xs
xsm
sm
md
lg

เสียงข้างมากรัฐสภากลับมติใช้เขต ส.ส.เลือกตั้ง ส.ส.ร. วุฒิฯ ต้านฝ่ายค้านดันแก้หมวด 1-2 สำเร็จ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประชุมรัฐสภา (แฟ้มภาพ)
รัฐสภาถกแก้ รธน.ต่อ ม.4 ที่มา ส.ส.ร. เสียงข้างมากกลับมติใช้เขต ส.ส.เลือกตั้ง ส.ส.ร. ขีดกรอบจัดทำ รธน.ภายใน 240 วัน ฝ่ายค้านรุมเสนอแก้หมวด 1 -2 ได้ เจอ ส.ว.ผนึกกำลังต้านป้องสถาบันได้สำเร็จ

วันนี้ (25 ก.พ.) ที่ประชุมรัฐสภาได้มีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมแห่งราชอาณาจักรไทย วาระ 2 โดยเป็นการพิจารณามาตรา 4 ต่อเนื่องเป็นวันที่สอง เรื่องลักษณะต้องห้ามของ ส.ส.ร. ตามมาตรา 256/3 ที่ กมธ.เสียงข้างมาก ห้ามพระภิกษุสงฆ์ ลงสมัครเป็น ส.ส.ร. โดย ส.ส.พรรคก้าวไกลหลายคนอภิปรายแย้งอยากให้พระภิกษุสงฆ์ลงสมัคร ส.ส.ร.ได้ เพื่อแสดงออกถึงความเสมอภาค และให้พระแสดงออกทางการเมืองได้ เพราะเป็นพลเมืองของรัฐเหมือนกัน

นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอห้ามบุคคลที่อยู่แม่น้ำ 5 สาย มาสมัคร ส.ส.ร. รวมถึงกลุ่มองค์กรอิสระที่มาจากแต่งตั้งของ คสช. เมื่อหมดวาระแล้ว ไม่ควรมีสิทธิสมัครเป็น ส.ส.ร. บุคคลเหล่านี้ไม่ควรสถาปนารัฐธรรมนูญ เพราะสมยอมรับประโยชน์จากคนล้มล้างรัฐธรรมนูญ เคยกินข้าวหม้อเดียวกับ คสช. ไม่ควรมีรายชื่ออยู่ในบัตรเลือกตั้ง ส.ส.ร. ก่อนที่ประชุมจะลงมติเห็นชอบตามที่ กมธ.เสียงข้างมากเสนอมา

จากนั้นเข้าสู้การพิจารณา มาตรา 256/5 ที่ กมธ.เสียงข้างมากกำหนดให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ส.ส.ร. และใช้เกณฑ์จำนวนราษฎรในพื้นที่เป็นตัวกำหนดจำนวน ส.ส.ร.ในแต่ละจังหวัด ทั้งนี้ มี ส.ส.และ ส.ว.หลายคนเห็นแย้งกับ กมธ.เสียงข้างมาก โดยเสนอให้ใช้วิธีแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นเขตย่อยในจังหวัดเหมือนกับการเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อให้คนในพื้นที่ได้มีโอกาสมาเป็นส.ส.ร. เพราะการใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งไม่เกิดประโยชน์ที่จะได้ตัวแทนประชาชนที่เป็นคนในพื้นที้จริงๆ

ขณะที่ ส.ส.พรรคก้าวไกลหลายคน อาทิ นายรังสิมันต์ โรม นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เสนอให้ใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ส.ส.ร. เพื่อเปิดกว้างให้คนแต่ละอาชีพ แต่ละสาขาเข้ามาเป็น ส.ส.ร. ได้คนดีมาร่างกติกาสูงสุดของประเทศ ให้แตกต่างจากการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ได้แต่ผู้ทรงอิทธิพลในพื้นที่เข้ามาเป็น

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมลงมติไม่เห็นชอบร่างของ กมธ.เสียงข้างมาก โดยให้ใช้รูปแบบตามที่ กมธ.เสียงข้างน้อยเสนอมาคือ ให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เหมือนกับการเลือกตั้ง ส.ส.

สำหรับการพิจารณา มาตรา 256/10 ที่ กมธ.เสียงข้างมากกำหนดให้ กกต.จัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.แทนตำแหน่งที่ว่างลง ภายใน 45 วัน เว้นแต่จะเหลือเวลาไม่ถึง 90 วัน ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องดำเนินการเลือกตั้ง ซึ่งที่ประชุมลงมติเห็นชอบตามที่ กมธ.เสียงข้างมากเสนอมา

ส่วนมาตรา 256/13 ที่ กมธ.เสียงข้างมากให้ ส.ส.ร.จัดทำร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จภายใน 240 วัน และการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 และหมวด 2 จะกระทำมิได้ โดย ส.ส.ฝ่ายค้านหลายคน อภิปรายให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขในหมวด 1 และ 2 ได้

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ขอเพิ่มเติมในมาตรา 256/13 ว่า “การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ จะกระทำมิได้ เว้นแต่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมที่ ทำให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น”เพราะเป็นห่วงหมวด 1 และ 2 ถ้าในอนาคตมีการเปลี่ยนแปลงหรือมีสิ่งดีๆ ที่จะเติมเต็มเข้าไป เพื่อให้ระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขดีขึ้นนั้น จะทำมิได้ ถ้าไม่มีเขียนระบุไว้ ไม่ได้มีเจตนาแก้ไข แต้ต้องการเติมเต็มให้ดีขึ้น

นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการห้าม ส.ส.ร.แก้หมวด 1 และ 2 ที่ผ่านมา เคยมีการแก้ไขปรับปรุงหมวด 1 และ 2 ให้เหมาะกับกาลสมัยที่เกิดขึ้น แสดงว่า การแก้ไขสามารถทำได้ แต่ที่ผ่านมา พูดราวกับว่า 2 หมวดนี้เป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ ไม่มีประเพณีที่เคยทำมา แต่เพราะเหตุใดในการตั้ง ส.ส.ร.ถึงไม่ให้ ส.ส.ร.ทำตามที่คิดว่าเหมาะสมกับกาลสมัย จะไปบอกว่าหมวดนี้ห้ามแตะ ทำแบบนี้เป็นผลดีต่อสถาบันหรือไม่ ยิ่งห้ามยิ่งเป็นผลเสีย ยิ่งทำราวกับว่าพูดไม่ได้เลย ยิ่งไม่เป็นผลดี จึงไม่เห็นด้วยกับการห้าม ส.ส.ร.แตะต้องหมวด 1 และ 2 ขอตั้งคำถามว่า การไปกำหนดห้ามแก้หมวด 1 และ 2 จึงเป็นความประหลาด ไม่เข้าใจว่า ส.ส.รัฐบาล และ ส.ว. จะเป็นปัญหาอะไรกับเรื่องนี้ขนาดนี้

“รัฐสภาถ้ามาจากประชาชนอย่างแท้จริง อย่าล็อกหรือบีบคอ ส.ส.ร. ให้เขาทำหน้าที่อย่างอิสระ คิดว่าจะได้รัฐธรรมนูญที่ดีกว่าที่เป็นอยู่แน่นอน ถ้าไปล็อกบางมาตรา ไม่ให้แก้ไขได้ เชื่อว่าจะไม่ได้รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด”

ขณะที่ ส.ว.หลายคนอภิปรายยืนยันห้าม ส.ส.ร.แตะต้องหมวด 1 และ 2 จำเป็นต้องปกป้องสถาบัน อาทิ นายสมชาย แสวงการ ส.ว. อภิปรายว่า หากไม่กำหนดห้ามแตะต้องหมวด 1 และ 2 เท่ากับตีเช็กเปล่าให้ ส.ส.ร.แก้ไขรัฐธรรมนูญ นอกจากจะห้ามแตะต้อง หมวด 1 และ 2 และเชื่อว่า ส.ว.ทุกคน ยังอยากให้เติมว่า ห้าม ส.ส.ร.แตะต้องอีก 38 มาตรา ที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจเข้าไปด้วย เพื่อเป็นหลักประกันว่า พระราชอำนาจจะไม่ถูกแก้ไข เติมเข้าไปเสียหายตรงไหน อย่าตะแบง ตนไม่สบายใจในเรื่องนี้

ทั้งนี้ มี ส.ว.หลายคนอภิปรายสนับสนุนให้ กมธ.เสียงข้างมากเพิ่มเติมข้อความ ห้าม ส.ส.ร.แตะต้อง 38 มาตราที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจเข้าไปอยู่ในวรรค 5 ของมาตรา 256/13 ก่อนที่จะมีการลงมติโหวต จน นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม สั่งพักประชุม 15 นาที เพื่อให้ กมธ.เสียงข้างมากไปตกลงกันจะทำตามข้อเสนอของส.ว.หรือไม่

เมื่อเปิดประชุมอีกครั้ง ได้มีการลงมติเสียงส่วนใหญ่ 348 เสียง ต่อ 200 เสียง เห็นควรให้มีการแก้ไข กับกรรมาธิการเสียงข้างมาก


กำลังโหลดความคิดเห็น