xs
xsm
sm
md
lg

ถกแก้ รธน.วาระ 2 ฝ่ายค้านขอใช้เสียงกึ่งหนึ่งแก้วาระ 1 และ 3 ถ้าไม่ได้ใช้เสียง 3 ใน 5

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประชุมร่วมรัฐสภาถกแก้ รธน. วาระ 2 ฝ่ายค้าน ประสานเสียงขอใช้เสียงกึ่งหนึ่งแก้ รธน.วาระ 1 และ 3 ถ้าไม่ได้ใช้เสียง 3 ใน 5 อ้างเพื่อฝ่าวิกฤต


วันนี้ (24 ก.พ.) ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ที่มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม เข้าสู่การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาแล้วเสร็จ โดยเป็นการพิจารณาในวาระที่ 2 ซึ่งจะพิจารณาเรียงตามลำดับมาตรา

จากนั้นเข้าสู่การอภิปราย นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธาน กมธ. ชี้แจงหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาทิ การรับหลักการและลงมติให้ความเห็นชอบวาระ 3 ต้องใช้เสียงสนับสนุน 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภา การให้ ส.ส.ร. 200 คน มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เมื่อ ส.ส.ยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้ส่งร่างแก้ไขต่อรัฐสภา เพื่ออภิปรายแสดงความคิดเห็น ภายใน 30 วัน โดยไม่มีการลงมติ และให้ส่งร่างให้ กกต.ภายใน 7 วัน เพื่อทำประชามติ

จากนั้น กมธ.เสียงข้างน้อยและสมาชิกได้อภิปรายแสดงความเห็นรายมาตราตามลำดับ อาทิ มาตรา 3 การเสนอให้แก้ไขมาตรา 256 วิธีแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่ง ส.ส.ฝ่ายค้านหลายคนคัดค้านความเห็นของ กมธ.เสียงข้างมาก ที่ระบุให้วาระรับหลักการและการลงมติวาระ 3 การแก้รัฐธรรมนูญต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภา เนื่องจากเป็นจำนวนมากเกินไป ทำให้โอกาสแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยาก โดยเสนอให้แก้ไขใช้เสียงสมาชิกรัฐสภาเพียงแค่กึ่งหนึ่ง

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. อภิปรายว่า จำนวนเสียงการแก้รัฐธรรมนูญวาระ 1 และ 3 ที่ใช้เสียง 3 ใน 5 ตามร่างที่พรรคร่วมรัฐบาลเหมาะสมอยู่แล้ว หากใช้เสียง 2 ใน 3 ตามที่ กมธ.แก้ไขคิดว่าไม่เหมาะสม เพราะถ้า ส.ว.ไม่เห็นด้วยจะไม่มีทางแก้รัฐธรรมนูญได้เลย เสียงของ ส.ส.ขณะนี้มี 487 คน ถ้าต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภา หรือ 492 คน ต่อให้ประธานสภาลงมติด้วยก็ยังไม่เพียงพอที่จะแก้รัฐธรรมนูญวาระ 1 และ 3 ได้

นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อย อภิปรายว่า ตัวเลข 2 ใน 3 ในการแก้รัฐธรรมนูญถือว่าสูงเกินไป ที่ผ่านมา มีรัฐธรรมนูญ 8 ฉบับ ให้ใช้เสียงแก้ไขรัฐธรรมนูญแค่กึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา การอ้างว่าการแก้รัฐธรรมนูญควรทำได้ยากนั้น จะต้องไม่ยากเกินไปให้เกิดทางตัน หรือวิกฤตทางรัฐธรรมนูญได้ ถ้าจะเกินกึ่งเล็กน้อยถือว่าพอรับได้ แต่ถ้าใช้เสียง 2 ใน 3 ไม่ควรเห็นด้วยเป็นอันขาด ขณะนี้มี ส.ส.เกือบ 500 คน ยังแก้ไม่ได้เลย หาก ส.ว.ไม่ยินยอม ทำให้ประชาชนรู้สึกว่า ประชาธิปไตยแก้ปัญหาให้ประชาชนไม่ได้ อยากให้กลับไปใช้เสียง 3 ใน 5 เหมือนเดิม

นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะคณะ กมธ.จากสัดส่วนพรรคฝ่ายค้าน อภิปรายว่า เราต้องยอมรับความจริงว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นวิกฤต มีการจัดทำอย่างไม่เป็นประชาธิปไตย และถูกกล่าวหาว่าสืบทอดอำนาจ ตนจึงคิดว่าจำเป็นต้องหาทางออก ถอนฟืนออกจากไฟ โดยอนุที่ 1 ตามร่าง กมธ.เสียงส่วนใหญ่เสนอว่า การเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องอาศัยเสียง 1 ใน 5 หรือประมาณ 100 คน ซึ่งพรรคการเมืองที่สามารถทำตรงนี้ได้ มีเพียง 2 พรรคการเมือง ที่จะเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ขณะที่พรรคอื่นๆ ไม่สามารถทำได้

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ดังนั้น จึงเห็นควรเป็น 1 ใน 10 เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองขนาดกลาง ได้มีโอกาสเข้ามาหาทางออกให้กับวิกฤตเฉพาะหน้า ส่วนเรื่องการลงมติวาระที่ 1 และ 3 ซึ่งต้องใช้เสียง 2 ใน 3 หรือ 500 คนนั้น ขอถามว่าเป็นไปได้จริงๆ หรือที่จะรวมเสียงได้มากขนาดนั้น เพื่อแก้รัฐธรรมนูญ หมายความว่า ระหว่างที่ ส.ส.ร.จัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจ ส.ว.ในการโหวตนายกฯ ฯลฯ เราไม่สามารถเอาออกได้ ซึ่งทำให้เราต้องอยู่กับวิกฤตนี้เป็นปี ทางออกคือขอให้ลดลงมาใช้เสียงกึ่งหนึ่งของสองสภาได้หรือไม่ แต่หากรับกันไม่ได้ ก็ขอเป็น 3 ใน 5 ก็ได้ เพื่อหาหนทางในการฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น