รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ย้ำ 3 รมต.ถูกศาลสั่งจำคุกถือว่าพ้นสภาพ เผยให้ “อิทธิพล คุณปลื้ม” ควบรักษาการ รมว.ดีอีเอส “คุณหญิงกัลยา” รักษาการ รมว.ศึกษาธิการ ชี้ต้องดูปม ส.ส.ถูกจำคุกโดยหมายศาลหรือไม่ จึงจะบอกได้ว่ามีเอกสิทธิ์คุ้มกันหรือไม่ ระบุนี่คือยาแรงของ รธน.60
วันนี้ (25 ก.พ.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึง กรณีศาลอาญาพิพากษาจำคุกบุคคลที่เป็นรัฐมนตรีกรณีร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. จึงต้องหลุดจากตำแหน่งทันทีใช่หรือไม่ว่า เป็นธรรมดาที่ทราบกันอยู่แล้ว รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดในเรื่องของการพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีเฉพาะตัวตามาตรา 170 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญจะต้องโยงกับกฎหมายหลายมาตรา โดย ม.170 (4) ระบุว่า ความเป็นรัฐมนตรีย่อมสิ้นสุดลงตามเป็นการเฉพาะตัว เมื่อมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 (7) ที่ระบุถึงการต้องคำพิพากษาให้จำคุก ดังนั้น เมื่อศาลพิพากษาให้จำคุก ไม่ว่าจะถึงที่สุดหรือไม่ แต่รัฐธรรมนูญให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงอย่างชัดเจน
ส่วนกรณีคนที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่บัญญัติไว้ในมาตรา 101 (13) โดยปกติหากศาลยังไม่ตัดสินถึงที่สุดให้จำคุกก็จะยังไม่พ้น แต่จะมีเหตุอื่นเข้ามา เช่น ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง ก็จะโยงไปถึงการเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง มาตรา 96 (2) ที่ระบุว่าหากเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าคดีจะถึงที่สุดหรือไม่ ก็จะพ้นจากความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย ส่วนบุคคลที่ศาลไม่ได้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง โดยหลักแล้วการจำคุกก็ยังไม่ถึงที่สุด สิทธิเลือกตั้งก็ไม่ถูกเพิกถอนจึงยังไม่พ้นจากความเป็น ส.ส. แต่ก็มีเหตุอื่นแทรกเข้ามาอีกว่าหากถูกจำคุกตามคำพิพากษาของศาล และมีหมายของศาลให้จำคุกกรณี เช่นนั้นก็จะพ้นด้วย แต่ตนไม่ทราบว่าใครเข้าข่ายดังกล่าวบ้าง
ส่วนกรณี ส.ส.บัญชีรายชื่อก็ต้องเลื่อนขึ้นมาตามลำดับ ซึ่งการเลื่อนช้าหรือเร็วนั้นจะมีผลต่อการประชุมสภา เนื่องจากสภากำลังจะปิดสมัยประชุมและถ้าเลื่อนเร็วก็เข้ามาทำหน้าที่ได้เร็ว อย่างน้อยถ้าเปิดสมัยวิสามัญขึ้นมาพิจารณา รัฐธรรมนูญก็จะได้ทำหน้าที่ได้ แต่ถ้ายังไม่เลื่อนขึ้นมาก็ยังไม่ถือเป็น ส.ส. ส่วน ส.ส.เขตก็ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ หาก กกต.สงสัยก็จะเหมือนกรณีของนายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช ที่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะเลือกตั้งเขตจะต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ทั้งนี้ กรณีของนายเทพไทก็ถือเป็นบรรทัดฐานไว้แล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า สำหรับกรณีตำแหน่งรัฐมนตรีเมื่อว่างลง จำเป็นจะต้องรีบแต่งตั้งใหม่หรือ นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ยากอะไรเนื่องจาก รมว.ศึกษาธิการ มี รมช.อยู่ 2 คน ซึ่ง ครม.เคยมีมติไปแล้วว่าหากรัฐมนตรีว่าการไม่อยู่ ก็ให้รัฐมนตรีช่วย มารักษาการตามลำดับ ซึ่งกรณีนี้คือคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขึ้นมารักษาการ
ส่วนกรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) ครม.เคยมีมติในเมื่อกระทรวงนี้ไม่มีรัฐมนตรีช่วย ก็ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการแทนเป็นอันดับแรก และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมรักษาการเป็นอันดับสอง ซึ่งในกรณีนี้ รมว.วัฒนธรรม(นายอิทธิพล คุณปลื้ม)จะเป็นผู้รักษาการ จนกว่าเมื่อมีการประชุมคณะรัฐมนตรีแล้วนายกรัฐมนตรีอาจจะสั่งการเป็นอย่างอื่นได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พูดคุยและหารือถึงเรื่องดังกล่าวกับนายวิษณุหรือยัง นายวิษณุ กล่าวว่า ยังไม่ได้คุย
ผู้สื่อข่าวถามว่า เอกสิทธิ์ของผู้แทนราษฎรในสมัยประชุมสภา จะสามารถคุ้มครองผู้ที่เป็น ส.ส.ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า อย่าใช้คำว่าเอกสิทธิเนื่องจากมีเรื่องของเอกสิทธิกับความคุ้มกัน คำว่าเอกสิทธิหมายถึงการพูดในสภาแล้วไม่ผิด คือเฉพาะ เรื่องการพูดเรื่องเดียวแต่ถ้าเป็นเหตุชกกันก็ไม่มีเอกสิทธิ์ ส่วนความคุ้มกันหมายความว่า ในสมัยประชุมจะนำตัวไปดำเนินคดีอะไรไม่ได้ ถ้าปิดสมัยประชุมทำได้ ซึ่งความคุ้มกัน มีกระบวนการ ไม่ได้มาโดยอัตโนมัติ
เมื่อถามว่ากรณีที่ถูกจำคุกแล้วยังจะสามารถขอความคุ้มกันได้อยู่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า คนที่เป็น ส.ส.แล้วเข้าเรือนจำ ยังไม่ถือว่าสิ้นสภาพการเป็น ส.ส. ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่แน่ใจว่าเป็นการถูกจำคุกโดยหมายของศาลหรือไม่ เพราะอาจเป็นการควบคุมตัวธรรมดา หากเขาอ้างความคุ้มกันขึ้นมาก็ต้องปล่อยตัว เพราะถือว่าอยู่ระหว่างการดำเนินการอุทธรณ์
เมื่อถามย้ำว่าหากเป็นการเข้าเรือนจำโดยหมายของศาล การคุ้มครองในฐานะของ ส.ส. ก็จะหมดไปเลยใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ใช่
ผู้สื่อข่าวถามว่า สำหรับกรณีของนางทยา ทีปสุวรรณ ที่ถูกตัดสินให้รอลงอาญา ในขณะที่มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิทางการเมือง 5 ปี หากสุดท้ายศาลพิพากษาแก้ประเด็นการตัดสิทธิทางการเมือง นางทยาจะกลับมามีสิทธิทางการเมืองอีกได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ได้ แต่ในขณะนี้ กว่าถือว่าถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองจนกว่าศาลอุทธรณ์จะมีคำตัดสินเป็นอย่างอื่น
เมื่อถามว่าในกรณีที่คนเป็น ส.ส.ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีเช่นกัน จะสามารถอุทธรณ์ในประเด็นถูกตัดสิทธิทางการเมืองได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า การเป็น ส.ส.ขาดแล้วก็ขาดไป แต่เรื่องสิทธิทางการเมืองถ้าศาลพิพากษาว่าไม่เพิกถอนสิทธิทางการเมืองก็จะกลับมา นี่คือความรุนแรงของรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า แม้จะยื่นอุทรณ์แล้วสิทธิกลับมา แต่ไม่สามารถคืนสภาพ ส.ส.ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่าใช่ แม้กระทั่งรัฐมนตรีก็เช่นกัน ถูกจำคุกแต่ไม่ถึงที่สุดก็พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี ถ้าต่อมาศาลยกฟ้อง ไม่จำคุก ก็แปลว่าไม่จำคุกเท่านั้นแต่ความเป็นรัฐมนตรีจะไม่กลับมา นี่คือยาแรงของรัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากในอนาคต บุคคลเหล่านี้จะกลับมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ได้ เพราะต้องดูต่อไปว่า เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ บุคคลเหล่านั้นจะมีสิทธิ์หรือไม่ เช่น กรณีเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หากศาลอุทธรณ์มีคำตัดสินว่าไม่ตัดสิทธิเลือกตั้ง ความเป็น ส.ส.สิ้นสุดลงเวลานี้แต่สามารถสมัครในคราวหน้าได้