เมืองไทย 360 องศา
ผ่านไปแล้วตามความคาดหมาย สำหรับการญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล จำนวน 10 คน ตั้งแต่วันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ และลงมติกันไป เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ซึ่งรัฐมนตรีทั้งหมดที่ถูก “ซักฟอก” จากพรรคร่วมฝ่ายค้านก็ได้รับการโหวตไว้วางใจด้วยคะแนนที่ชนะขาด เนื่องจากฝ่ายรัฐบาลมีเสียงสนับสนุนที่ห่างกันมาก
แม้ว่าผลของคะแนนจะแตกต่างกันบ้าง หรือมีการจับจ้องไปที่รัฐมนตรีบางคนที่ได้รับเสียงสนับสนุนน้อยที่สุด เช่น นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จากพรรคพลังประชารัฐ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จากพรรคเดียวกัน รวมไปถึง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หรือแม้แต่การตั้งข้อสังเกตถึงคะแนนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่มีคะแนนเป็นอันดับสาม รองจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ได้เสียงมากที่สุด ตามมาด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ
แม้ว่าหากพิจารณาจากผลคะแนนโหวตที่ออกมาไม่เท่ากันแบบนี้ แน่นอนว่า มันย่อมทำให้เกิดคำถามดังๆ ตามมาว่ามันเกิดอะไรขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ ก็มีการเน้นย้ำ กำชับกันอย่างหนักแน่นมาแล้วว่า ต้องมีเสียงเท่ากัน แต่เมื่อผลต่างออกมาอย่างที่เห็นมันก็ต้องเคลียร์กันบ้าง
อย่างไรก็ดี หากพิจารณากันตามน้ำหนักแล้วมันก็ยังไม่มีเหตุทำให้มี “จุดหักเห” ได้มากนัก อาจเป็นเพียงแค่การสร้างกระแส สร้างสีสันกันภายในบ้างเท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไปก็คงค่อยๆ เงียบไปเอง ตรงกันข้าม หากยิ่งมีการ “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ” แบบนี้แหละอาจทำให้เกิดแรงกระเพื่อมตามมา แบบได้ไม่คุ้มเสียมากกว่า โดยเฉพาะผลสะเทือนที่อาจเกิดขึ้นต่อการ “ปรับคณะรัฐมนตรี” ที่จะต้องเกิดขึ้นในอีกไม่นานข้างหน้า แต่คงยัง “ไม่ใช่เวลาใกล้ๆ นี้” อย่างแน่นอน
เพราะอย่างที่เห็นกันแล้วว่า เนื้อหาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคฝ่ายค้านคราวนี้ ยังไม่ถือว่ามีน้ำหนัก หรือ “มีใบเสร็จ” แบบเป็นหมัดน็อกรัฐมนตรีแต่ละคนได้เลย เพราะล้วนเป็นเรื่องเก่า ไม่มีอะไรใหม่ในแบบที่ได้ยินได้เห็นแล้วต้องช็อก อะไรประมาณนั้น แต่กลายเป็นว่าเป็นการซักฟอก เพื่อ “กระทบชิ่ง” เข้าใส่ “สถาบันพระมหากษัตริย์” มากกว่า
ดังนั้น หากให้สรุปแบบที่เห็นก็คือ การซักฟอกของฝ่ายค้าน สร้างแรง “สั่นสะเทือนได้ไม่มากนัก” ไม่มากพอที่จะทำให้รัฐบาล โดยเฉพาะ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องอยู่ในสภาพ “รอแร่” ได้เลย ตรงกันข้าม การอภิปรายในครั้งนี้กลับเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับเขาเพิ่มขึ้นไปอีก
หากสังเกตให้ดี จะเห็นลีลาในสภาทั้งในเรื่องการลุกขึ้นชี้แจง การควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น มีพัฒนาการเป็นแบบ “นักการเมือง” เต็มตัว หรือแม้แต่การให้เวลาอยู่ในสภาแบบเต็มเวลา จนปิดการอภิปรายทุกวัน
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ทางฟากพรรคร่วมฝ่ายค้าน เมื่อเปรียบเทียบกันกลับกลายเป็นว่าได้เห็นรอยปริแบบเดิมให้เห็นอีกครั้ง นั่นคือเรื่อง “งูเห่า” ที่ยังตามมาหลอกหลอนได้อีก โดยเฉพาะจากสองพรรคหลัก นั่นคือพรรคเพื่อไทย ที่ยังเป็นหน้าเดิม ที่มีทั้งงดออกเสียง และ “โหวตสวน” ขณะที่พรรคก้าวไกลยิ่งแล้วใหญ่ เพราะในการลงมติกลับมี “4 ส.ส.งูเห่า” โหวตสวน พร้อมทั้งยังมี “เรื่องตลก” เกิดขึ้นแบบไม่น่าเชื่ออีก เมื่อมีหลักฐานปรากฏในภายหลังว่า “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล “ไม่ลงคะแนน” ให้กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยอ้างว่า “เครื่องลงคะแนนเสีย” อะไรประมาณนั้น ก็ไม่ว่ากัน แล้วแต่จะอ้างกันไป
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วแน่นอนก็คือ ในอีกไม่นานข้างหน้า ทั้งสองพรรคฝ่ายค้าน คือ พรรคเพื่อไทย และ พรรคก้าวไกล จะมี “เลือดไหล” ล็อตใหญ่ตามมาอีก โดยเห็นอาการได้จากการโหวตที่ผ่านมานี่แหละ แม้ว่าอาจจะไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร แต่กลายเป็นว่า “หนักกว่าเดิม” โดยเฉพาะให้จับตาพรรคก้าวไกล ที่มี “สี่งูเห่า” ที่โหวตสวน ซึ่งส่วนใหญ่ก็น่าจะรับรู้อาการมาตั้งแต่เมื่อครั้งไม่ร่วมลงชื่อในร่างกฎหมายแก้ไข มาตรา 112 ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกลไปก่อนหน้านี้แล้ว น่าสังเกตก็คือ ในจำนวนนี้มี ส.ส.เขต ปะปนอยู่ด้วย รวมไปถึงบางคนที่ถือว่า “มีชื่อ” อยู่บ้าง เช่น นายคารม พลพรกลาง ที่แม้จะเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่ในทางการเมืองก็ถือว่า “พอตัว” อย่างน้อยก็ในพื้นที่
ดังนั้น แม้ว่าผลจากการโหวตซักฟอกครั้งนี้จะทำให้ฝ่ายรัฐบาลผ่านฉลุย แบบไม่ต้องลุ้น แต่อาจจะมีบ้างที่ต้องมาติดตามกันภายใน หลังจากที่มีบางเสียงที่โหวตแตกแถว แต่เชื่อว่าเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง ก็คงผ่อนคลายลงไป
แต่ขณะเดียวกัน ให้จับตาการปรับคณะรัฐมนตรีมากกว่า แต่คงต้องรออีกระยะหนึ่ง อย่างน้อยต้องรอผ่านไทม์มิงสำคัญ เช่น การแก้รัฐธรรมนูญให้พ้นช่วงสำคัญนี้ไปก่อน แต่หากให้พิจารณาจากเหตุการณ์เฉพาะหน้า ที่เห็นตอนนี้ก็คือในอนาคตจะได้เห็น “เลือดไหล” จากพรรคเพื่อไทย และก้าวไกลอีกชุดใหญ่ ตามมา โดยเฉพาะพรรคหลังที่ต้องจับตาว่าจะไหลไปพรรคภูมิใจไทย อีกกี่เสียง !!