ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล 10 คน ดูจะกลายเป็นประวัติศาสตร์การเมืองไทยในยุค 2564 ตลอดระยะเวลาอภิปราย 4 วัน 4 คืน สร้าง "ศรัทธา บารมี" สำหรับนักการเมืองไหนกันบ้าง เป็นประเด็นน่าหยิบมาชำแหละไม่น้อย
บนกติกาการลงมติในสภาเป็นเอกสิทธิ์ ของส.ส.แต่ละคน ที่สามารถตัดสินใจด้วยตัวเองได้จริงหรือไม่
"พรรคก้าวไกล"ฝ่ายค้านที่ดูจะเสียหายหนักมากที่สุด ด้วยผู้อภิปรายที่เป็นกำลังสำคัญอย่าง "นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลถูก บุคลากรทางการแพทย์ และอาจารย์หมอ ตัวจริง เสียงจริง เรียงแถว ออกมาแถลงตอกหน้าหงาย ตีตรากลายเป็น ส.ส.เฟคนิวส์ คือ นำเอาข่าวปลอมปมวัคซีนอินเดีย ในโลกออนไลน์ มาถือเป็นสรณะ ใช้ข้อมูลแบบผิดๆ จนกลายเป็นคนโดนทะลวงไส้ ไร้ความน่าเชื่อถือ
ส่งผลให้ 4 ส.ส.ก้าวไกล อันประกอบด้วย นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายพีรเดช คำสมุทร นายเอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย และนายขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.ชลบุรี หันมาลงคะแนนไว้วางใจ ให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม จากค่ายภูมิใจไทย
ย้ำว่า ลงคะแนน "ไว้วางใจ" ไม่ใช่ "งดออกเสียง" อันเป็นท่าทีที่ชัดเจน มากๆ กับการปฏิเสธแนวทางที่พรรคก้าวไกล กำลังเดินทางผิดๆอยู่ใช่หรือไม่
หลังจากก่อนหน้านี้ เมื่อครั้ง "พรรคอนาคตใหม่" ถูกยุบ และต้องเสีย ส.ส.ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางพรรคนับ 10 รายมาก่อน และหนังม้วนเก่าอาจกำลังจะกลับมาฉายซ้ำ แถมอาจหนักกว่าเดิมเพราะมีเรื่องจุดยืนมาตรา112 มาเกี่ยวข้อง
"พรรคเพื่อไทย" การอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ ถือเป็นพรรคที่มีจุดเด่น การแสดงออกในการยอมรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข สะท้อนความเป็นเอกภาพภายในพรรค ทั้งเนื้อหาการอภิปราย และการลงมติ ไม่มีใครแหกโผ เว้นแต่สส.หน้าเดิมบางคนที่ไม่มีทางเลือก
ทั้งนี้ ถือเป็นการแสดงออกที่แตกต่างกับพรรคฝ่ายค้าน แบบพรรคก้าวไกล อย่างชัดเจน และกู้ภาพลักษณ์ในการอภิปรายที่ผ่านมาที่ถูกมองเป็นมวยล้ม ต้มคนดู ให้ความน่าเชื่อถือกระเตื้องขึ้นมาได้
"ประชาธิปัตย์" ดูเหมือนจะเสียหายหนักมาก ทั้ง "หัวหน้าพรรค" และ "รองหัวหน้าพรรค" ที่ถูกอภิปรายในข้อมูลเป็นประเด็นต่อเนื่องหลังการซักฟอก โดย ส.ส.พรรคเดียวกัน ออกมาประกาศก่อนการโหวต ติด#"ไม่พายเรือให้โจรนั่ง" ของ นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ และเมื่อไปตรวจสอบ ผลคะแนน พบคะแนนที่ควรจะให้ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กลับกลายเป็นงดออกเสียง จำนวน 3 คน ประกอบด้วย นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ นายอภิชัย เตชะอุบล ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี
นายจุรินทร์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้มอบหมายให้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค ปชป. รับไปดำเนินการ จัดการ 3 เสียงที่ขัดมติพรรค ก็ต้องดูว่าจะมีบทลงโทษเด็ดขาดหรือไม่
ทางด้าน"พลังประชารัฐ" ในฐานะพรรคใหญ่ พรรคแกนนำรัฐบาล กลับเจอความยากลำบากเมื่อมี ส.ส. ของพรรค โดยเฉพาะ ส.ส. 6 คนในนามกลุ่มดาวฤกษ์ ขัดมติพรรคและข้อสังการของ "บิ๊กป้อม" พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
ล่าสุดมีรายงานข่าวแจ้งว่า พล.อ.ประวิตร เตรียมเรียกประชุมกรรมการบริหารพรรค ในวันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ นี้ เพื่อประเมินผลการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยมีวาระสำคัญคือดำเนินการกับ บรรดา ส.ส. ที่ไม่ปฏิบัติตามแนวทางของพรรคที่วางไว้ โดย “งดออกเสียง” ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจในส่วนของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ดังนั้น ในวันประชุมกรรมการบริหารพรรค จับตาดูจะมีมาตรการลงโทษหรือไม่... เพื่อกอบกู้ความเชื่อมั่นของ พปชร.ให้กลับคืนมา
"พรรคภูมิใจไทย" แม้ช่วงแรกอาจถูกมองว่ารับศึกหนักไม่น้อยทั้งเรื่องวัคซีนโควิด และ รถไฟฟ้าสายสีเขียว และสีส้ม แต่ผลออกมาเรียกว่าได้กำไรที่สุดจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยเฉพาะการโชว์ความเป็นเอกภาพในพรรคที่เหนียวแน่น 61 เสียง ตามสัญญา กับรัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาล เนื้อๆเน้นๆ เสียงลงมติเป็นไปในแนวทางเดียวกัน แถมด้วยการจะมี ส.ส.หันมาร่วมแนวทาง อุดมการณ์ย้ายมาสวมเสื้อน้ำเงิน มาเพิ่มเติมอีกอย่างน้อยๆ 4 คนจากพรรคสีส้ม ซึ่งต้องจับตาดูว่าจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่
แรงกระเพื่อม ในการลงมติจึงเป็นสิ่งที่จะตอกย้ำ สถานะของฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน ซึ่งจะเป็นสัญญาณในการทำงานทางการเมืองของ พรรคการเมืองต่างๆ ที่จะคาดหมายต่อไปในวันข้างหน้าได้ ไม่มากก็น้อย พรรคใดจะอยู่ พรรคใดจะไป พรรคใดจะดับและไร้ราคาทางการเมือง