ต่อลมหายใจ! โครงการเงินกู้สู้โควิด-19 “จ้างงานนักศึกษาใหม่” วงเงิน 1.9 หมื่นล้าน หลังบอร์ดกลั่นกรองจ่อเสนอ ครม.ริบเงินเบิกจ่ายไม่ตรงเป้าไปใช้จ่ายแผนเยียวยาโครงการอื่น พบให้โอกาสปรับรูปแบบโครงการ 2 รอบ แต่พลาดเป้ามหาศาล “กรมการจัดหางาน” รับโควิดกระทบ สิ้นสุดโครงการ พลาด 2.6 แสนราย หลังพบตลอด 5 เดือน นศ.จบใหม่ จ้างได้แค่ 1 หมื่นคน แต่ขอโอกาส งัด “แผนรักษาระดับการจ้างงาน” ทดแทน
วันนี้ (16 ก.พ.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เวียนหนังสือถึงหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องถึงผลการดำเนิน “โครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่” สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐ และเอกชน ตามกรอบวงเงินไม่เกิน 19,462.0017 ล้านบาท มีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เป็นหน่วยงานรับงบประมาณ
เป็นหนึ่งในโครงการใช้จ่ายจากเงินกู้สู้โควิด-19 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ภายใต้แผนงานที่ 3.3 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563
โดยภายในเดือน มี.ค.นี้ คณะกรรมการกลั่นกรองโครงการเงินกู้เตรียมติดตามการใช้จ่ายเงินของโครงการนี้อีกครั้ง และทุกโครงการ หากพบว่ามีหน่วยงานใดเบิกจ่ายได้ไม่เป็นไปตามแผนที่เสนอก็จะต้องดึงวงเงินในส่วนที่เบิกจ่ายไม่ทันกลับมาส่วนกลาง เพื่อใช้กับมาตรการเยียวยาอื่นที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ตามแผนฟื้นฟูที่ต้องอนุมัติภายในเดือน ก.ย. และเบิกจ่ายได้ถึงสิ้นปี 2564
“คณะกลั่นกรองฯ เตรียมตัดงบประมาณก้อนนี้กลับมาดูใหม่ จากกรณีเบิกจ่ายตาม พ.ร.บ.ถ่ายโอนงบประมาณ ส่งผลให้มีกว่า 200 โครงการทำไม่ทัน เสนอแผนปรับใช้เงินกู้ ซึ่งเรื่องนี้ได้เร่งทยอยแก้ไขแล้ว และงบประมาณที่ถูกดึงกลับมาจะนำไปใช้ในโครงการที่เหมาะสมต่อไป”
สำหรับหนังสือเวียนฉบับดังกล่าว ระบุถึงโครงการนี้ ณ สิ้นเดือน ม.ค. 2564 โดยเมื่อ ก.ย. 2563 พบว่ามีการปรับปรุงคุณสมบัติผู้จบการศึกษาใหม่ที่เข้าร่วมโครงการฯ จากเดิม “มีสัญชาติไทยและไม่เคยอยู่ในระบบประกันสังคม” เป็น “มีสัญชาติไทยและไม่เคยอยู่ในระบบประกันสังคม ยกเว้นกรณีผู้จบการศึกษาใหม่ที่อยู่ในระบบประกันสังคม เนื่องจากการทำงานนอกเวลาเรียน (Part time) ในระหว่างที่กำลังศึกษา”
ขณะที่ กรมการจัดหางาน ได้เร่งกำหนดกลไกการตรวจสอบคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งต่อมาวันที่ 29 ธ.ค. 2563 กรมการจัดหางานได้ดำเนินการปรับปรุงรายละเอียดคุณสมบัติและเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการฯ
หนังสือเวียนระบุว่า จากตั้งแต่เริ่มโครงการ วันที่ 1 ต.ค. 2563 - 29 ธ.ค. 2563 พบว่า มีผู้เข้าร่วมโครงการและได้รับอนุมัติการจ้างงานเพียง 6,240 คน เนื่องจาก “ติดเงื่อนไข/คุณสมบัติ” ในส่วนของการอยู่ในระบบประกันสังคม รวมถึง ปีการศึกษาที่จบ รวมถึงอัตราค่าจ้างที่สูงกว่าการจ่ายค่าจ้างจริงในตลาดแรงงาน โดยเฉพาะในจังหวัดต่างๆ
ต่อมาเมื่อปรับปรุงคุณสมบัติและเงื่อนไข มีผู้จบการศึกษาใหม่ลงทะเบียนในช่วง 30 ธ.ค. 2563 - 1 ก.พ. 2564 เพึ่มขึ้นอีก 3,157 คน รวมมีจำนวน 9,397 คน ได้รับอนุมัติการจ้างงานเพิ่มสูงขึ้นถึง 4,860 คน แต่เจ้าของโครงการฯ อ้างกับสภาพัฒน์ว่า อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ทำให้เกิดการชะลอตัวในการจ้างงาน และพบว่า นายจ้าง/สถานประกอบการ ได้ชะลอการผลิต และลดจำนวนวันทำงาน จึงได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงานจากรายเดือนเป็นรายวัน จึงทำให้ผู้จบการศึกษาใหม่ที่ได้รับการจ้าง งานในรูปแบบรายวันไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้
ขณะที่สถานประกอบการส่วนใหญ่จ้างงานพนักงานที่มีวุฒิการศึกษาตํ่ากว่ามัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) ที่มีอายุในช่วง 18-25 ปี จำนวนมาก ทำให้ผู้จบการศึกษาใหม่ที่เข้าร่วมโครงการได้รับคำจ้าง 2 ส่วน จึงมีความกังวลหรือเกิดการเปรียบเทียบกับลูกจ้างทั่วไปที่ได้รับเงินเดือนเต็มจำนวนในคราวเดียว
ด้านนายจ้าง/สถานประกอบการหลายราย เห็นว่า การจ่ายเงินอุดหนุน ร้อยละ 50 ยังขาดความจูงใจ ประกอบกับนายจ้างส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19
อย่างไรก็ตาม มีความเห็นร่วมกันของคณะกลั่นกรองฯ เห็นว่า หน่วยรับงบประมาณได้ปรับปรุงโครงการถึง 2 ครั้ง แต่เมื่อพิจารณาผลการดำเนินงาน จะเห็นได้ว่ากรมฯ ยังไม่สามารถดำเนินโครงการฯ ให้บรรลุเปัาหมายละวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ เนื่องจากอาจจะเป็นผลจากเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการฯ ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและช่วงระยะเวลาของผู้จบการศึกษา
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหา เห็นว่าอาจจะทำให้การดำเนินโครงการฯ ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ คณะกลั่นกรองฯ อาจจำเป็นต้องพิจารณาจัดทำข้อเสนอแนะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา อาทิ การยุติโครงการฯ และให้กรมฯ จัดทำข้อเสนอโครงการฯ ที่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจใหม่
ขณะที่กรมการจัดหางานยอมรับว่า เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินโครงการฯ แล้วคงไม่สามารถดำเนินการจ้างงานได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ที่ 260,000 อัตรา จากปัจจัยโควิด-19 รอบใหม่ แต่หากมีการปรับรูปแบบการจ้างงานจากรายเดือนเป็นรายวัน คาดว่าจะสามารถทำให้ เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 4-5 หมื่นอัตรา โดยเตรียมจัดทำข้อเสนอโครงการฯ เพื่อรักษาระดับการจ้างงาน (Job Retention) คาดว่าจะช่วยให้เกิดการจ้างงานประมาณ 8 หมื่นอัตรา
ล่าสุด คณะกลั่นกรองฯ เห็นชอบให้จัดทำรายงานผลการดำเนินโครงการฯ ณ สิ้นเดือน ก.พ. 2564 พร้อมทั้งพิจารณาความเป็นไปได้ของจำนวนกลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ ให้สอดคล้องกับความสามารถและความต้องการจ้างงานของผู้ประกอบการภาคเอกชน รวมถึงช่วงเวลาที่จะมีผู้จบการศึกษาปี 2563 (ประมาณเดือนเมษายน 2564) ที่พร้อมจะเข้าสู่ตลาดแรงงงาน