ทีมกลั่นกรองฯ แจงเหลือเงินสู้ “โควิด” รอบใหม่ 2.8 แสนล้านบาท จากวงเงินกู้ 1 ล้านล้าน คาดได้รับจากหน่วยงานที่เบิกจ่ายล่าช้า พ่วงโยกงบจากแผนฟื้นฟู มาใช้ในการเยียวยา “ม.33 เรารักกัน” 3.5 หมื่นล้านบาท คาดส่วนที่เหลือใช้งบจากแผนเยียวยาที่ยังเหลืออยู่ 6,246 ล้าน เผยโครงการที่ริบคืนบ้างแล้ว มีทั้งเกษตรทฤษฎีใหม่ ช่วยได้แค่ 4 พันล้านบาท จากเป้า 9 พันล้านบาท-จ้างงาน นศ.ใหม่ 1.9 หมื่นล้านบาท เป้า 2.6 แสนราย จ้างได้แค่ 1 หมื่นราย
วันนี้ (15 ก.พ.) มีรายงานจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองแผนงาน ภายใต้แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 เปิดเผยถึงการใช้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท จากสถานการณ์โควิด-19 พบว่าขณะนี้ภาพรวมเบิกจ่ายได้แล้ว 55% เป็นการใช้เงินกู้ในส่วนของการเยียวยาครบวงเงิน 5.5 แสนล้านบาท ส่วนวงเงินเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท เบิกจ่ายได้ประมาณ 30% ส่วนใหญ่นำไปใช้ในโครงการคนละครึ่ง แต่ในส่วนโครงการลงทุนเบิกจ่ายได้เพียง 10% ซึ่งถือว่าน้อยมาก
ทั้งนี้ คณะกรรมการกลั่นกรองใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่มีสภาพัฒน์เป็นประธานจะติดตามการใช้จ่ายเงินของทุกหน่วยงานภายในเดือน มี.ค.นี้ หากพบว่ามีหน่วยงานใดเบิกจ่ายได้ไม่เป็นไปตามแผนที่เสนอก็จะต้องดึงวงเงินในส่วนที่เบิกจ่ายไม่ทันกลับมาส่วนกลางเพื่อใช้กับมาตรการเยียวยาอื่นที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต่อไป โดยโครงการลงทุนตามแผนฟื้นฟูต้องอนุมัติภายในเดือน ก.ย. และเบิกจ่ายได้ถึงสิ้นปี 2564
ส่วนใหญ่มีปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างทำให้มีการเบิกจ่ายล่าช้าออกไป เช่น โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ อนุมัติ 9,000 ล้านบาท ก็ทำได้ 4,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือก็ดึงกลับมา, โครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ วงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท เป้าหมาย 2.6 แสนราย ก็จ้างได้แค่ 1 หมื่นคน ก็ต้องตัดกลับมาดูใหม่ หรือกรณีเบิกจ่ายตาม พ.ร.บ.ถ่ายโอนงบประมาณ ส่งผลให้มีกว่า 200 โครงการทำไม่ทัน เสนอแผนปรับใช้เงินกู้ ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมการกลั่นกรองเร่งทยอยแก้ไข และเบิกจ่ายได้ไปเกือบหมดแล้ว
งบประมาณที่ถูกดึงกลับมา คณะกรรมการจะนำไปใช้ในโครงการที่เหมาะสม เช่น กรณีข้อเสนอภาคเอกชน และผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ต้องการให้ภาครัฐร่วมจ่ายค่าจ้างซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร ต้องทำให้รอบคอบ ดูกลไกให้รอบคอบจะได้ไม่เกิดเรื่องไม่ดีไม่งาม มีการทุจริต เช่น กรณีคนละครึ่ง ที่แม้ว่าทุกอย่างจะทำภายในระบบแอปพลิเคชันแต่ก็ยังสามารถโกงกันได้
“ขณะนี้วงเงินตาม พ.ร.ก.กู้ 1 ล้านล้านบาท เหลืออีกแค่ 2 แสนล้านบาท ในส่วนวงเงินเพื่อใช้ในโครงการฟื้นฟู ซึ่งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้จะพิจารณาเห็นชอบมาตรการ “ม.33 เรารักกัน” จ่ายเงินเยียวยาให้ผู้แก่ประกันตน โดยเสนอขอใช้งบ 3.7 หมื่นล้านบาท ในส่วนนี้จะเป็นการโยกงบจากแผนฟื้นฟูมาใช้ในการเยียวยา 3.5 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือจะใช้งบจากแผนเยียวยาที่ยังเหลืออยู่”
สำหรับจำนวนวงเงินตาม พ.ร.ก.กู้ 1 ล้านล้านบาท หน้าเว็บไซต์ thaime ล่าสุด สรุปโครงการที่ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี พบว่า
โครงการ แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ครม.อนุมัติ 43.77% ตามกรอบวงเงิน 45,000 ล้านบาท วงเงินที่อนุมัติแล้ว 19,698.13758 ล้านบาท ผลเบิกจ่าย 1,560.8517 ล้านบาท คงเหลือ 25,301.8624 ล้านบาท
โครงการ แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ อนุมัติ 98.89% กรอบวงเงิน 565,000 ล้านบาท วงเงินที่อนุมัติแล้ว 558,753.21150 ล้านบาท ผลเบิกจ่าย 322,452.4565 ล้านบาท คงเหลือ 6,246.7885 ล้านบาท
โครงการ แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อนุมัติ 34.14% กรอบวงเงิน 390,000 ล้านบาท วงเงินที่อนุมัติแล้ว 133,155.28715 ล้านบาท ผลเบิกจ่าย 42,159.0812 ล้านบาท คงเหลือ 256,844.7128 ล้านบาท
โดยรวม 3 แผนงาน เหลืองบประมาณเงินกู้ทั้งสิ้น 288,391 ล้านบาท จากวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท