ควันหลง! “ดร.อานนท์” ตกใจคำพิพากษา “คลิปทอน” เสนอทางวิชาการ ตุลาการต้องมีความรับผิดชอบทางสังคมดุจเดียวกัน “อดีตรองอธิการ มธ.” ชี้นัยสำคัญอยู่ที่เจตนา การรับลูกของม็อบ 3 นิ้ว “ปิยบุตร” ชมบรรทัดฐานใหม่ ม.112
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (9 ก.พ. 64) โพสต์เฟซบุ๊ก Arnond Sakworawich ของ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence และ Actuarial Science and Risk Management คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โพสต์ข้อความ ระบุว่า
“คำพิพากษาของศาลอาญายกเลิกการปิดกั้น Facebook.Live.วัคซีนของธนาธร เน้นเรื่องสิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นอย่างมาก ราวกับเสรีนิยมเน้นสิทธิเสรีภาพอย่างสุดโต่ง และพิจารณาให้น้ำหนักประเด็นความมั่นคง โดยเฉพาะความมั่นคงแห่งรัฐและความมั่นคงแห่งองค์พระประมุขในฐานะองค์รัฏฐาธิปัตย์ค่อนข้างน้อยกว่ามากจริงๆ
นอกจากนี้ ยังวินิจฉัยว่า คำสั่งปิดกั้นของศาลก่อนหน้านี้มิชอบ ทำให้ผมอ่านแล้วตกใจมาก อาจจะกลายเป็นว่า องค์คณะตุลาการที่ปฏิบัติหน้าที่ก่อนหน้านี้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ น่าตกใจมากว่าตุลาการไยจึงหักคำพิพากษากันเองรุนแรงมากจนตุลาการอีกองค์คณะดูเหมือนจะวินิจฉัยผิด
ย้อนกลับมาที่คำวินิจฉัยอันเน้นหนักไปที่สิทธิเสรีภาพไว้สูงมากกว่าความมั่นคงแห่งรัฐมากนั้น ทำให้ข้าพเจ้าอดคิดไม่ได้ว่า ตุลาการแต่ละคนก็อาจจะมีหลักคิดความเชื่อที่แตกต่างกันมาก และสะท้อนให้เห็นประจักษ์ชัดได้ในคำวินิจฉัยที่แตกต่างกันไป
ข้าพเจ้าอ่านคำวินิจฉัยในฐานะกษัตริย์นิยมและอนุรักษนิยมด้วยความห่วงใยยิ่งว่า สิทธิและเสรีภาพที่ข้ามเส้น แท้จริงแล้วอาจจะขัดต่อหลักกฎหมายได้และขัดแย้งกับศีลธรรมประเพณีวัฒนธรรมอันดีงาม และอาจจะเป็นภัยร้ายแรงต่อความมั่นคงของรัฐ ชาติ และแม้แต่องค์รัฎฐาธิปัตย์ได้ในอนาคตอันใกล้
ข้าพเจ้าถือว่า สิ่งใดที่เกิดขึ้นมาแล้วถือว่าดีทั้งนั้น แก้ไขไม่ได้แล้ว คำพิพากษาเป็นการวางรากฐานกฎเกณฑ์และควบคุมพฤติกรรมสังคม ดังนั้น ตุลาการก็ต้องมีความรับผิดชอบทางสังคมดุจเดียวกัน
ข้าพเจ้าขอใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ โดยหลักสุจริตเพื่อประโยชน์สาธารณะและของประเทศด้วยความเคารพยิ่งเยี่ยงวิญญูชน และมิได้มีประสงค์จะก้าวล่วงอำนาจศาลแต่ประการใด”
ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr ของ รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล ม.ธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความ ระบุว่า
“ศาลอาญา ให้เพิกถอนคำสั่งให้ระงับการเผยแพร่คลิป “วัคซีนพระราชทาน ใครได้ใครเสีย” ตามคำร้องของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เพราะ
1. ในการพิจารณาครั้งแรกถือเป็นการข้ามขั้นตอน เนื่องจากผู้ร้อง (นายธนาธร) ไม่ได้มีโอกาสเข้าชี้แจงในศาลแต่อย่างใด
2. เนื้อความที่พูดในคลิป ยังฟังไม่ได้ชัดเจนว่า มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
3. นายธนาธร วิพากษ์วิจารณ์ การทำงานของรัฐบาลในเรื่องการจัดการวัคซีนโควิด 19 แม้ได้กล่าวว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ แต่ยังไม่ชัดว่า เป็นการกล่าวหา หรือตำหนิติเตียน หรือกล่าวให้สงสัยในความสุจริตของพระองค์ไม่ว่าในทางใดๆ
4. เรื่องการใช้คำว่า วัคซีนพระราชทาน ผู้ร้อง (นายธนาธร) อ้างว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ใช้คำนี้ก่อน ซึ่งผู้แทนกระทรวงดีอีเอส มิได้โต้แย้งแต่อย่างใด
ประเด็นสำคัญคือ ศาลเห็นว่า นายธนาธรเพียงมุ่งโจมตีรัฐบาล แต่ไม่ได้มุ่งโจมตีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ดังนั้น อย่าได้ใช้คำสั่งศาล เพื่อหาประโยชน์เข้าตัว โดยตีความนอกเหนือไปจากนี้เป็นอันขาด
เมื่อศาลพิจารณาเช่นนี้ ก็ต้องถือว่า ศาลได้ให้ความเป็นธรรมต่อผู้ร้อง (นายธนาธร) อย่างเต็มที่แล้ว และเราก็ต้องยอมรับการวินิจฉัยของศาล
ที่เป็นเช่นนี้ คงเป็นเพราะศาลท่านพิจารณาตามคำร้องของกระทรวงดีอีเอส และตามคำพูดในคลิป โดยไม่พิจารณาถึงเจตนาและนัยยะแอบแฝงของผู้พูดในคลิปนี้
ในคลิป ที่ผู้พูดกล่าว สรุปได้ว่า รัฐบาลเลือกบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ โดยไม่เปิดโอกาสให้มีการแข่งขัน และกล่าวต่อไปว่า เจ้าของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ก็คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งยังกล่าวว่า บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ไม่เคยประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจเลย เหมือนจะบอกว่า รัฐบาลเลือกบริษัทนี้ได้อย่างไร
ในที่นี้จึงใคร่ขอตั้งข้อสังเกตดังนี้
1. นายธนาธร ทราบแน่ๆ ว่า นี่ไม่ใช่เป็นการกระทำเพียงในระดับรัฐบาล โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องจาก พลเอก ประยุทธ์ พูดชัดว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ....” จึงเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลจะกระทำไปโดยลำพัง โดยไม่มีการกราบบังคมทูล อย่างน้อยเพื่อให้พระราชทานความเห็นชอบ ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีเจตนาให้กระทบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
2. การที่บอกว่า รัฐบาลเลือกบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ โดยไม่มีการแข่งขัน เป็นความจริงเพียงเสี้ยวเดียว เพราะรัฐบาลไม่ใช่ฝ่ายเดียวที่เลือกบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ หากรัฐบาลเลือกฝ่ายเดียว โดยบริษัท Astra Zeneca ไม่ได้มาสำรวจและตรวจสอบอย่างดีแล้วว่า บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ มีขีดความสามารถเพียงพอที่จะผลิตวัคซีนได้ตามข้อกำหนดของ Astra Zeneca ข้อตกลงนี้เกิดขึ้นไม่ได้เด็ดขาด
3. การที่พูดว่า บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ไม่เคยประสบความสำเร็จทางธุรกิจ เพราะขาดทุนทุกปี แม้เป็นข้อเท็จจริง แต่เป็นการนำข้อเท็จจริงมาบิดเบือน เพื่อชี้นำให้คนดูคลิปเข้าใจว่า บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ไม่มีขีดความสามารถที่จะผลิตวัคซีนได้ ทั้งที่บริษัทนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงก่อตั้ง และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์แล้ว ทั้งยังมีบุคลากรที่มีขีดความสามารถสูงทั้งสิ้น แต่ที่ต้องยอมขาดทุนเพราะการสร้างกำไรไม่ใช่พันธกิจของบริษัท พันธกิจคือ การให้คนไทยได้เข้าถึงยาที่ราคาสูง เนื่องจากต้องใช้เทคโนโลยีสูงได้ในราคาที่ต่ำลง เรื่องเหล่านี้ นายธนาธรตั้งใจให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน เพื่อให้คนเข้าใจผิดหรือไม่
ด้วยเหตุนี้ แม้คำพูดเหล่านี้ไม่ชัดเจนว่า เป็นการกล่าวหา หรือทำให้เป็นข้อสงสัยในความสุจริตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ว่าในทางใดๆ แต่หากดูที่เจตนาแล้ว ชัดเจนว่า ผู้พูดในคลิป มีเจตนาอย่างไร ยิ่งชัดเจนมากขึ้นเมื่อดูกิจกรรมการเคลื่อนไหวที่ตามมา หลังจากการ “ไลฟ์สด” ของพวกม็อบ 3 นิ้ว
กระทรวงดีอีเอส ตัดสินใจถูกแล้วที่จะอุทธรณ์ผลการตัดสินของศาล และต้องอุทธรณ์โดยด่วนด้วย เพื่อหยุดการเผยแพร่คลิปนี้ให้เร็วที่สุด”
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน วานนี้ (8 ก.พ.) เฟซบุ๊กชื่อ Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล ของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ได้ไลฟ์ รายการสนามกฎหมาย EP.19 มีสาระสำคัญ ตอนหนึ่ง ระบุว่า
“วันนี้ศาลอาญาได้ยกคำร้องที่ขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือ DE เป็นผู้ร้องขอ...
“คดีหมายเลขแดงที่ พศ 76/2564 ได้สร้างแนวบรรทัดฐานขึ้นมาใหม่ในประการที่สองในประเด็นที่ว่า เหตุแห่งการระงับการเผยแพร่ เหตุแห่งการปิดเว็บไซด์ต่างๆ ที่อยู่ในมาตรา 20(1) ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ศาลได้วางหลักใหม่ไว้ว่า การที่จะสั่งปิดหากข้อความที่เกี่ยวข้องมีความผิดตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 จะมาสั่งปิดตามมาตรา 20 ในทันทีไม่ได้ เพราะว่ายังไม่รู้เลยว่า ข้อความต่างๆ เป็นความผิดตามมาตรา 14 แล้วหรือไม่ หากผิดมาตรา 14 จริง ถึงค่อยมาพิจารณาสั่งปิดตามมาตรา 20(1)
ประการที่สาม ศาลได้นำหลักความได้สัดส่วน หรือหลักความพอสมควรแก่เหตุมาใช้ในการพิจารณาตัดสินคดี การจะสั่งปิดสั่งลบได้ ตามมาตรา 20(2) ของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 นั้น ศาลได้แปลความ และระบุไว้ในคำวินิจฉัยในประเด็นนี้ว่า สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นสาระสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่ยอมรับความหลากหลายและอดทนอดกลั้นต่อความเห็นต่าง สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนี้ ถือเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับความคุ้มครองโดยเคร่งครัด ทั้งนี้ ตามหลักสากลของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีนิติรัฐ และมีพันธกรณีในการปกป้องสิทธิมนุษยชน ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยรับรองและเป็นภาคี ดังนั้น การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจะทำได้เมื่อมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดและเร่งด่วนเพื่อคุ้มครองประโยชน์อันชอบธรรมของรัฐ และการจำกัดเสรีภาพต้องได้สัดส่วนกับความจำเป็นโดยต้องใช้มาตรการที่เป็นภาระน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของรัฐดังกล่าว...
“ตรงนี้หมายความว่า แนวทางการตัดสินคดีเกิดขึ้นแล้ว ถ้าหากกระทรวงดิจิทัลขอมาให้สั่งปิดเว็บไซด์ให้หน่อย ศาลท่านก็จะมานั่งดูก่อนว่า มาตรการสั่งให้ปิด มาตรการสั่งให้ลบ ได้สัดส่วนหรือเกินกว่าเหตุหรือไม่ มีความจำเป็นหรือพอเหมาะพอควรหรือไม่ นี่เป็นมาตรฐานในการวัดว่า มาตรการในการจำกัดเสรีภาพต่างๆ เหล่านี้พอสมควรแก่เหตุหรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้น ในคำวินิจฉัยของศาล ท่านยังได้เน้นให้การตีความคำว่า อาจกระทบต่อความมั่นคงตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องตีความโดยเคร่งครัดและเป็นภาวะวิสัย ซึ่งภาวะวิสัยหมายถึงเป็นเรื่องที่วิญญูชนทุกคนเห็นแล้ว เห็นพร้องต้องกันว่าเป็นเช่นนั้นมิใช่มุมมองของคนใดคนหนึ่ง” นายปิยบุตร ระบุ....
ประการที่สี่ ศาลยังได้พูดถึงกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย โดยศาลระบุในคำวินิจฉัยว่า การพิจารณาว่าข้อความใดจะเป็นข้อความที่อาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะต้องพิจารณาจากข้อความทั้งหมด มิใช่พิจารณาเฉพาะตอนหนึ่งตอนใด ดังจะเห็นจากข้อความที่ผู้คัดค้าน (ธนาธร) นำเสนอนั้น เนื้อหาเกือบทั้งหมดมุ่งเน้นในเรื่องการกล่าวหารัฐบาลว่าบกพร่องในการจัดหาวัคซีน โดยมีการนำข้อมูลหลายอย่างมาสนับสนุน ข้อเท็จจริงเพียงว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถือหุ้นบริษัทดังกล่าวมิได้ทำให้พระองค์เสื่อมเสีย ถูกดูหมิ่นหรือเกลียดชังหรือไม่เป็นที่เคารพสักการะแต่อย่างใด ศาลยังได้ไปดูในรายละเอียดของคลิปวีดีโอด้วย ในกรณีที่คุณธนาธร บอกว่า คุณประยุทธ์จะรับผิดชอบไหวหรือไม่ เพราะประชาชนจะตั้งคำถามกับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งมีผู้ถือหุ้นคือในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ศาลบอกว่า ข้อความนี้ไม่อาจแปลความตามลำพังแยกขาดจากเนื้อความส่วนใหญ่ได้ ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนเสริมจากข้อมูลส่วนใหญ่ของการนำเสนอที่กล่าวหารัฐบาลว่าผิดพลาดในการให้วัคซีนเกือบทั้งหมดถูกผลิตในบริษัทเดียว
การกล่าวอ้างถึงคำถามต่อประชาชนต่อสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งอาจกระทบต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ไม่ได้มีลักษณะเป็นการชักชวนให้ประชาชนกล่าวโทษพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่โดยลักษณะของข้อความที่สืบเนื่องกันมามีลักษณะเป็นการกล่าวหาว่า การกระทำของรัฐบาลจะกระทบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว....”
แน่นอน, มีข้อสังเกตอยู่ว่า นี่คือ คำพิพากษา ที่อยู่บนสถานการณ์ที่ไม่ปกติ อยู่บนการต่อสู้ทางการเมือง ที่ไม่เพียงเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 แต่ยังต้องการ “ปฏิรูปสถาบัน” ด้วย โดยเฉพาะข้อเรียกร้องที่ยืนหยัดต้อง “ปฏิรูปสถาบัน” ให้ได้ เรื่องนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดมาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงวันนี้
และขณะเดียวกัน ก็เกิด “สองขั้วขัดแย้ง” ขึ้น คือ ขั้วต้องการ “ปฏิรูปสถาบัน” อันประกอบไปด้วย ม็อบราษฎร 2563 นักเรียน นักศึกษา และเครือข่าย กลุ่มการเมืองบางกลุ่ม พรรคการเมืองบางพรรค นักวิชาการบางส่วน ซึ่ง นายธนาธร รวมอยู่ในขั้วนี้
และขั้วที่ต้องการปกป้องสถาบัน ไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปสถาบัน และต่อสู้เพื่อปกป้องอย่างถึงที่สุด อันประกอบไปด้วย คนไทยหลายภาคส่วน รวมแล้วเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ (จากผลสำรวจ)
ดังนั้น ไม่แปลกที่คำพิพากษาเรื่อง คลิปนายธนาธร จะมีความเห็นต่างออกไปสองแง่มุม แต่ในท้ายที่สุด ก็ต้องยอมรับอำนาจศาล
เหนืออื่นใด สิ่งที่น่าเป็นห่วง และน่ากลัวว่าจะเกิดขึ้น ก็คือ ความกดดันบีบคั้นจิตใจของฝ่ายที่มีความจงรักภักดี และไม่อยากเห็น การจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันซ้ำแล้วซ้ำอีก ในการต่อสู้เพื่อ “ปฏิรูปสถาบัน” โดยเฉพาะเมื่อไม่มีที่พึ่งที่เห็นว่า ช่วยยับยั้งได้แล้ว อะไรจะเกิดขึ้น วิญญูชนน่าจะเข้าใจได้ไม่ยาก!?