ไม่ทน! “ท่านใหม่” ถาม “ตุลาการ” ปล่อยพวกทำผิด ม.112 ได้ประกันตัว แล้วทำผิดซ้ำ จงใจหรือประมาทจนเป็นภัยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ “พิธา” โต้ลั่น เลอะเทอะ-ไร้สาระ “ณฐพร” ร้อง กกต.ยุบพรรคก้าวไกล ขู่ฟ้องกลับร้องเท็จ
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (2 ก.พ. 64) เฟซบุ๊ก จุลเจิม ยุคล ของ ม.จ.จุลเจิม ยุคล หรือ “ท่านใหม่” โพสต์ข้อความระบุว่า
“คำถามถึงตุลาการ ในประเด็นที่มีการให้ประกันตัวผู้กระทำความผิดมาตรา 112 ออกมาทำความผิดซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า ผมในฐานะประชาชนเกิดความสงสัยหลายๆ ประการ ดังนี้
ข้อหนึ่ง การที่ตุลาการปล่อยให้ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 ได้รับการประกันตัว แล้วออกมาทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ถือว่าตุลาการบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชาติบ้านเมืองเป็นภัยความมั่นคงแห่งรัฐ และสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ อย่างไร
ข้อสอง หากตุลาการบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ ก่อให้เกิดความเสียหายตามข้อ 1 ประชาชนที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จะดำเนินการไปแจ้งความร้องทุกข์ เพื่อให้มีการดำเนินการฟ้องร้องตุลาการผู้ปฏิบัติหน้าที่โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ที่มีการปล่อยให้มีการประกันตัวให้จำเลยออกมากระทำผิดในมูลฐานความผิดเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก หรือมีช่องทางทางกฎหมายใดๆ ที่จะดำเนินคดีกับตุลาการได้หรือไม่ ผมอยากรู้จริงๆ ครับ หากมีผู้รู้ทางกฎหมายท่านใดจะกรุณาอธิบายให้ผมและสังคมได้กระจ่างจะเป็นเรื่องที่สังคมอยากทราบมากครับ
ข้อสาม การปล่อยให้ผู้กระทำผิด ทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นปัญหากับชาติและความมั่นคงของชาติ ตุลาการต้องรับผิดชอบต่อประเทศชาติและสังคมหรือไม่ ประชาชนหรือสังคมมีสิทธิที่จะตั้งข้อสงสัยได้หรือไม่ว่าตุลาการมีส่วนต้องรับผิดชอบต่อความวุ่นวายในการยุยงปลุกปั่นให้เกิดการล้มล้างระบอบการเมืองการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วย
ข้อสี่ การที่ตุลาการได้ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก่อนการปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธย แต่กลับปล่อยตัวผู้ต้องหาให้ได้รับการประกันตัว ออกมากระทำผิดในการทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติองค์พระประมุขของชาติ ซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นการสมควรหรือไม่ ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ แต่กลับไม่สามารถปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยการรักษาความยุติธรรม ตามหน้าที่ให้ดี เคร่งครัด และเป็นธรรม
ข้อห้า ตุลาการได้รักษาหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรมในการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 ได้อย่างเคร่งครัดและเป็นธรรมสักแค่ไหน การได้รับการประกันตัวเป็นส่วนมากหรือแทบทั้งหมด ประชาชนหรือสังคมอาจจะตั้งคำถามได้หรือไม่ว่า การกระทำของตุลาการดังกล่าวมีส่วนที่ทำให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ เพราะไม่เกรงกลัวว่าจะต้องได้รับโทษคุมขัง จึงทำให้ผู้กระทำผิดและผู้ที่ตั้งใจกระทำความผิดซ้ำตามมาตรา 112 เกิดความย่ามใจ ไม่เกรงกลัวต่อการลงโทษ เลยทำผิดซ้ำได้อย่างสบายใจ
ข้อหก แม้จะมิได้คาดหวังว่าตุลาการจะคาดการณ์ หรือพยากรณ์ได้อย่างแม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าหากปล่อยให้ผู้กระทำผิดได้รับการประกันตัวแล้วจะไม่กระทำผิดซ้ำเลย โดยเฉพาะในกรณีมาตรา 112 แต่สังคมก็คงอยากจะทราบสถิติว่าคดีมาตรา 112 รายที่ตุลาการให้ประกันตัว ออกมาก่อคดีซ้ำแล้วซ้ำอีกร้อยละเท่าใด และหากสถิติดังกล่าวมีค่าสูงมาก สังคมจะสามารถตั้งคำถามได้หรือไม่ว่า ตุลาการใช้วิจารณญาณหรือหลักเกณฑ์ใดในการให้ประกันตัวผู้ต้องหาในความผิดมาตรา 112
ข้อเจ็ด ตุลาการคิดอย่างไรที่ปล่อยให้ ส.ส. คนเดิมใช้ตำแหน่งในการประกันตัวซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยไม่มีการจำกัดจำนวน เพราะเท่าที่ทราบทางสำนักงานศาลยุติธรรมน่าจะมีระเบียบข้อห้ามเกี่ยวกับเรื่อง การใช้ตำแหน่งประกันตัวว่าจะให้วงเงินคนละเกินไม่เกินกี่บาท เท่าที่เห็น ส.ส.ท่านนี้ น่าจะใช้สิทธิเกินจำนวนเงินในระเบียบแล้ว ตุลาการท่านไม่ทราบหรือไม่ได้ดูระเบียบ หรือตั้งใจทำให้ผิดระเบียบ หากพบว่าเป็นการให้ประกันตัวโดยผิดระเบียบตุลาการก็จะเป็นผู้กระทำผิดเสียเอง
ข้อแปด ผมคิดว่าตุลาการทราบว่า ผู้ต้องหาที่ให้ประกันตัวไปแล้ว ไปกระทำผิดอีก แต่ก็งงๆ ว่า ทำไมตุลาการไม่เพิกถอนประกัน จะมาอ้างว่าพนักงานสอบสวนไม่มายื่นคำร้องขอถอนประกัน จึงเพิกถอนไม่ได้ ผมคิดว่าประชาชนทั่วไปยังทราบ สื่อสารมวลชนก็ทราบเพราะว่า ออกข่าวครึกโครม ตุลาการจะอ้างว่าไม่ทราบย่อมไม่ได้ เพราะว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องดูแลสอดส่องคนที่ให้ประกันตัว เพราะว่าหากมีการกระทำที่ผิดเงื่อนไขก็เพิกถอนได้ทันที หรือว่ากรณีมาตรา 112 ตุลาการไม่มีการกำหนดเงื่อนไขในสัญญาประกันตัวว่าไม่ให้ผู้ต้องหาไปกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันอีก หากเป็นเช่นนี้ประชาชนหรือสังคมยิ่งมีความสงสัยว่าตุลาการที่มีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวคิดอะไรกันแน่ ระหว่างการปกป้องคุ้มครองสถานบันพระมหากษัตริย์กับคุ้มครองผู้ต้องหาที่มีเจตนาล้มล้างสถาบัน
ทั้งหมดนี้เป็นคำถามที่สังคมต้องการคำตอบและผมเองวิจารณ์กระบวนการทำงานของตุลาการโดยหลักวิชาการ และความสุจริตใจ เพื่อประโยชน์ของสาธารณะ ประเทศชาติ และต้องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นหลักชัยของความมั่นคงของชาติไทย
และอยากจะถามท่านผู้รู้ ช่วยกรุณาตอบด้วยครับ.”
ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊ก Pita Limjaroenrat - พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความ กรณี นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นเรื่องต่อ กกต. ให้พิจารณาเสนอศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกล จากกรณีพรรคและสมาชิกพรรคแสดงความเห็นทางการเมือง เข้าร่วมกับผู้ชุมนุม ช่วยประกันตัวผู้ต้องหาในคดีชุมนุมทางการเมือง และเสนอแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 หัวข้อ [ เลอะเทอะ ]
โดยระบุว่า “ผมได้ติดตามข่าวและได้อ่านเอกสารคำร้องที่คุณณฐพร โตประยูร ที่ได้ส่งให้ กกต. แล้ว ผมไม่มีอะไรจะพูดอะไรมาก นอกจากคำว่า ‘เลอะเทอะ’ และ ‘ไร้สาระ’
คุณณฐพร โตประยูร ชื่อคุ้นๆ เพราะเป็นหนึ่งในผู้เกี่ยวของกับคดีฟอกเงินที่ดินคลองจั่น เกือบ 500 ล้านบาท เป็นผู้สนับสนุนระบอบสืบทอดอำนาจ คสช. และเขาก็ยังเป็นคนเดียวกับที่เคยยื่นให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ คดี ‘อิลูมินาติ’ ด้วย ซึ่งในคดีนั้นก็จบลงที่ศาลวินิจฉัยไม่ยุบพรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากไม่ได้มีการล้มล้างการปกครองหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองแต่อย่างใด
คำร้องยุบพรรคที่คุณณฐพร เขียนมาวันนี้ ข้อเท็จจริงที่กล่าวอ้างมาก็ไม่มีส่วนไหนเลยที่สนับสนุนสิ่งที่ตัวเองกล่าวหา ซึ่งอ่านทั้งหมดแล้วก็รู้สึกว่าไร้สาระยิ่งกว่าคดี ‘อิลูมินาติ’ เสียอีก ดังนั้น ทางผมและพรรคกำลังพิจารณาฟ้องร้องดำเนินคดีกับคุณณฐพร โตประยูร ในความผิดมาตรา 101 แห่ง พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ในข้อหาที่ว่า “ผู้ใดแจ้งหรือกล่าวหาพรรคการเมืองหรือบุคคลใดว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ต่อคณะกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยรู้อยู่ว่าเป็นความเท็จต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น...”
สุดท้ายนี้ เมื่อดูภาพรวมประกอบบริบทสถานการณ์แล้ว การยื่นคำร้องยุบพรรคก้าวไกลแบบนี้ คิดเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากความตั้งใจก่อกวนให้พวกเราเสียสมาธิในการทำงาน และเบี่ยงประเด็นกลบเกลื่อนความผิดพลาดในการบริหารงานของรัฐบาล ที่จะถูกแฉในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่กำลังจะมีขึ้นใน 2 สัปดาห์ข้างหน้านี้
ขอเชิญชวนประชาชนทุกท่าน อย่าลืมติดตามการประชุมสภาเพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งจะเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป พรรคก้าวไกลพร้อมอภิปรายอย่างสร้างสรรค์ พวกเรายืนยันจะทำเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ภาษีทุกบาททุกสตางค์ต้องถูกใช้อย่างคุ้มค่าและโปร่งใส
โดยวันนี้ ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถ.แจ้งวัฒนะ นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นคำร้องให้ กกต.พิจารณาวินิจฉัยกรณีพรรคก้าวไกล กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 จากกรณีการแสดงความเห็นทางการเมือง ร่วมกับผู้ชุมนุม และการประกันตัวผู้ต้องหาในคดีชุมนุมทางการเมือง ถือเป็นการกระทำการ หรือส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน รวมทั้งกรณีพรรคก้าวไกลยื่นร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ในฐานความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาททั้งหมด รวมถึงมาตรา 112
ร่างแก้ไข พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 และร่างแก้ไข พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ตลอดจนการลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับไอลอว์ ซึ่งการกระทำของพรรคก้าวไกล ถือเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 45 และมาตรา 92(2) (3) จึงขอให้ กกต.พิจารณาวินิจฉัย และเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค
ทั้งนี้ นายณฐพร กล่าวว่า ที่ยื่นร้อง กกต. เนื่องจากพรรคก้าวไกลมีการกระทำใน 2 ประเด็น คือ ยุยงส่งเสริม สนับสนุนให้มีการชุมนุม ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และมีการประกันตัวผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112 มีการเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งการกระทำเหล่านี้ตนได้มีการรวบรวมพยานหลักฐานมานาน และมีหลักฐานครบทั้งหมด จึงมายื่นให้ กกต.พิจารณา และศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้วินิจฉัยว่าหลักฐานดังกล่าวเป็นความผิดที่สามารถสั่งยุบพรรคได้หรือไม่
ยืนยันว่า การดำเนินการครั้งนี้เป็นการตรวจสอบการทำงานของพรรคการเมือง ในฐานะประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 51 กำหนด...
แน่นอน, ประเด็นที่ตรงกันอยู่เรื่องหนึ่ง ของทั้ง “ท่านใหม่” และ “ณฐพร” ก็คือ การให้ประกันตัวผู้ต้องหาคดี ม.112 ซึ่งประเด็นของ “ท่านใหม่” มีปัญหาอย่างมากต่อการประกันตัว แล้วออกมาทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก อย่างหลงระเริงได้ใจ และทำประหนึ่งบทบัญญัติของกฎหมายข้อนี้ ไม่มีอะไรที่น่ากลัวเลย ซึ่งผลกระทบต่อสถาบันย่อมเกิดขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย
โดยที่ทั้ง “ณฐพร” และ “ท่านใหม่” มีประเด็นร่วมคือ กรณี ส.ส.พรรคก้าวไกล ใช้ตำแหน่งช่วยประกันตัวผู้ต้องหา ม.112 และก็ออกมาทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก จนกลายเป็นปัญหาอย่างสูง เมื่อทำผิด ม.112 ซ้ำ หลายกรรมหลายวาระ จนมีคำถามตามมาดังกล่าว
คำถามคือ ใครควรจะอธิบายเรื่องนี้ให้เป็นที่ชัดเจน ตามที่ “ท่านใหม่” ถามเอาไว้หลายข้อ เพราะคงไม่แต่เฉพาะท่านใหม่เท่านั้นที่มีคำถาม
และสิ่งที่ “ณฐพร” ร้อง กกต. ก็เพื่อที่จะให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ มีการพิจารณา เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย อย่างน้อยก็จะเป็นบรรทัดฐานได้ว่า ผิดหรือไม่ผิดอย่างไร เพราะความสับสนดังกล่าว นับวันจะสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว การเคลื่อนไหวเรียกร้อง แก้ ม.112 เลยทีเดียว
เหนืออื่นใด อย่าให้ใครคนใดคนหนึ่ง หรือ กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย โดยที่คนส่วนใหญ่ต้องอยู่ใต้กฎหมาย แต่คนบางกลุ่มได้รับการอนุโลม เพราะปัจจัยทางการเมือง กลัวถูกม็อบกดดันหนัก กลัวองค์กรระหว่างประเทศโจมตี กลัวประเทศมหาอำนาจบีบคั้น บอยคอต แล้วอะไรจะเกิดขึ้น ลองตรองดู!!!