“คารม พลพรกลาง” ส.ส.ก้าวไกล บอกเสนอขอเครื่องราชฯ ให้เมียไม่เห็นแปลก เคยได้แล้วตอนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่ชั้นไม่ถึงเมีย ชี้ เมียมีส่วนขับเคลื่อนการเมือง ออกช่วยชาวบ้านก็ขอเงินเมีย ย้ำ จุดยืน “ปิยบุตร” ไม่ใช่จุดยืนตัวเอง เปรียบชอบสเต็ก ภัตตาคารฝรั่งเศส ผมชอบส้มตำ-ปลาร้า ก่อนตบท้าย “ไม่เซ็นแก้ 112” ถามจะตอบยังไง ถ้าสาบานตนแล้วกลับเซ็น รู้ระดับความรุนแรง
วันนี้ (28 ม.ค.) กรณีที่ นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ทำเรื่องเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี 2563 พร้อมกับ ส.ส.พรรคก้าวไกล และอดีตพรรคอนาคตใหม่ รวม 7 ราย ทั้งที่จุดยืนพรรคก้าวไกลมีแนวคิดตรงกันข้ามกับสถาบัน และสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า คณะราษฎร 2563 มาโดยตลอดนั้น
นายคารม ให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ ทางสถานีโทรทัศน์เอ็มคอต เอชดี หมายเลข 30 ดำเนินรายการโดย นายดนัย เอกมหาสวัสดิ์ และ น.ส.อมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ โดยระบุว่า ตนได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นครั้งที่สอง เมื่อปี 2556 ตนก็ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นจัตุรถาภรณ์ช้างเผือก เพราะประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เจ้าหน้าที่ก็นำเอกสารมาให้กรอก รวมครั้งนี้ที่เป็นปัญหา ส่วนประเด็นรับรองคุณสมบัติภรรยา คือ นางปภารัต พลพรกลาง นั้น ก็ต้องรับรอง ถ้าไม่รับรองคุณสมบัติภรรยา แล้วจะรับรองภรรยาที่ไหน
เมื่อ นายดนัย ถามว่า ในบรรดา ส.ส.พรรคก้าวไกล 7 คน มี 2 คนที่เสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้กับคู่สมรสนั้น นายคารม กล่าวว่า เขาเขียนมาตนก็รับรองให้ตามนี้ ถ้าอยากให้ภรรยาด้วยก็ต้องรับรอง ก็มีภรรยาคนเดียว ไม่รับรองภรรยาแล้วจะไปเขียนยังไงก็รับรองไป นายดนัย ถามว่า ในแบบฟอร์มข้อที่ 3 (กรณีเสนอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่คู่สมรส) ทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นคนขอเผื่อภรรยาไปด้วย หรือเราร้องขอมา นายคารม กล่าวว่า ภรรยาได้โดยปริยายมากกว่า ในฐานะภรรยา ส.ส. น.ส.อมรัตน์ ถามว่า ถ้ามีคู่สมรสตามกฎหมายสามารถขอได้เลย นายคารม กล่าวว่า ใช่ ต้องเป็นภรรยาตามกฎหมาย ตนไม่มีอะไรซับซ้อน ก็บอกว่า (แบบฟอร์ม) ให้เป็นช่องว่างมาเราก็เติม แล้วเราประสงค์รับก็ใส่ไป พร้อมถามกลับพิธีกรว่าเอาประเด็นที่อยากทราบดีกว่า
นายดนัย ถามว่า อยากรู้ที่มามากกว่า เพราะการลงนามในเอกสารเท่ากับตัวเองขอเองโดยนัยยะเดียวกัน นายคารม กล่าวว่า ใช่ คืออย่างนี้ ตนไม่ใช่ครอบครัวข้าราชการ ตนเป็น ส.ส.คนแรกของพ่อแม่ พ่อเป็นชาวนาจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นแค่ผู้ใหญ่บ้าน ตนได้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ครั้งนั้น เพราะอยู่สำนักนายกรัฐมนตรีก็คล้ายเดิม แต่ไม่แน่ใจว่าตำแหน่งที่อยู่มีชั้นที่ไม่ถึงภรรยา เพราะได้เฉพาะตัว แต่การเป็น ส.ส. โดยหลักการตามกฎหมายมหาชน หรือตามหลักการ ภรรยาก็มีส่วนขับเคลื่อนทางการเมือง เวลาไปไหนเขาไม่มีเงินจ่ายชาวบ้าน เวลาออกช่วยก็ต้องขอเงินภรรยาด้วย เขาก็ต้องให้ภรรยาก็ชอบธรรม ตนว่าก็ถูกต้อง แต่ว่าถ้าไม่มีแบบฟอร์มให้ไปเขียนขอเลยหรือว่าไม่มีระเบียบจะให้ มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่จะใส่ชื่อภรรยาแล้วได้ ทำไมระบุภรรยาตามกฎหมาย ทำไมไม่บอกมีภรรยา 4 คนได้ทุกคน แสดงว่าเขาอิงกฎหมายและระเบียบแน่นอน แต่ตนไม่แม่นเรื่องนี้
นายดนัย ถามว่า เรื่องนี้ถูก นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรืออดีตพระพุทธะอิสระเอาไปแซว โดยค้นข้อความของนายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ต้นสังกัดเดิม นายคารม กล่าวว่า ความเห็นนายปิยบุตรไม่ใช่ความเห็นของตน ตนก็ไม่ได้คิดเหมือนนายปิยบุตร นายดนัย ถามว่า ไม่ใช่จุดยืนของพรรคก้าวไกลด้วย นายคารม กล่าวว่า จุดยืนพรรคก้าวไกลบางอย่างก็ไม่ใช่จะเป็นจุดยืนของตน เพราะตนเป็นตัวของตนเอง ตนอายุเยอะแล้ว ก็รู้จักตัวเองและครอบครัวดี ตนเป็นครอบครัวชาวบ้านชาวนา อยู่ในชนบทอีสาน ตนเกิดในแผ่นดินนี้ไม่ได้เรียนเมืองนอกมา ตนมีความคิดก้าวหน้าและรู้ว่าสถาบันบางสถาบันก็ถูกดิสรัป (Disrupt) อยู่ เพราะฉะนั้นพัฒนาการทางการเมืองของน้องๆ เขาก็ทำไป แต่ว่าใครทำอะไรก็รับผิดชอบ เป็นเรื่องของตัวบุคคล แต่ตนติดใจหม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล หรือท่านใหม่ ที่กล่าวผ่านสื่อ
“ผมเห็นว่า ประเทศไทยพูดยังไงก็ได้ พูดแล้วต้องรับผิดชอบ คำพูดของผมทุกคำพูดออกไปต้องรับผิดชอบหมด ถึงเป็น ส.ส.สมัยแรกแต่เป็นบุคคลสาธารณะ ผมน้อมรับในคำวิพากษ์วิจารณ์ ไม่คิดก้าวล่วงตรงเส้นเกินไป แต่ว่าเรื่องอื่นผมเป็นตัวของตัวเอง แล้วการเมืองเหมือนชอบอาหาร ผมชอบส้มตำผมก็กินส้มตำ ผมชอบชอบปลาร้า ผมกินปลาร้า ท่านชอบสเต็ก ท่านชอบกินภัตตาคารฝรั่งเศส อังกฤษ ท่านก็กินของท่านไป จะมาบอกว่าผมชอบเหมือนท่านไม่ได้ แม้แต่อยู่ในบริษัทเดียวกัน ครอบครัวเดียวกัน” นายคารม กล่าว
นายดนัย ถามว่า นายปิยบุตร บอกว่า ระบบการมอบรางวัลเหรียญตราเกียรติยศ คือ เครื่องมือแห่งการครอบงำ นายคารม กล่าวว่า ไม่ใช่ ตนว่าตนมีความรู้ ต่างประเทศก็น่าจะมีเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แต่ตนไม่ได้จบเมืองนอก เคยไปเมืองนอกบ้าง ตนว่าเรื่องนี้ไม่ใช่อยู่ตรงนี้ ตรงนี้เมื่อผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง พระมหากษัตริย์พระราชทานสิ่งเหล่านี้ให้ เราก็รับได้ ไม่เห็นจะมีปัญหา เปรียบเหมือนนายดนัยไปฝึกอบรม ให้ใบประกาศนียบัตร นายดนัยยังรับ เครื่องราชอิสริยาภรณ์จากพระมหากษัตริย์ไม่รับนี่จะแปลก ตนเคยรับแล้ว (ครั้งนี้) ไม่รับนี่จะเจอ 112 (หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) ด้วยซ้ำไป ตนเป็นนักกฎหมายแม้จะเรียนในประเทศ ก็มีความคิดความอ่านอยู่
นายดนัย ถามว่า ถ้าฉะนั้น ขณะที่มีชื่อ ส.ส.ก้าวไกล ไปรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อีกด้านหนึ่งพรรคก้าวไกลประกาศว่าจะเสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติเพิ่มเติมกฎหมาย 112 สังคมจึงแปลกใจเล็กน้อย นายคารม กล่าวว่า “ผมไม่เซ็นครับ ผมไม่เซ็น”
“บอกผ่านสื่อเลยไม่เซ็นครับ ไม่ทราบคนอื่น แต่ผมไม่เซ็น เรื่องนี้บังคับผมไม่ได้ ผมไม่เคยงดออกเสียงในเรื่องกฎหมายโอนกำลังพล แต่ว่าเมื่อพรรคมีมติ ผมก็มีมารยาท ผมรู้กติกา ผมรู้ระดับของความรุนแรง ผมจะตอบคำถามยังไง ถ้าผมมาสาบานตน แล้วผมอ่านรัฐธรรมนูญ ผมก็เข้าใจ แล้วผมมาเซ็นแก้ 112 แม้ว่าแนวความคิดในทางกฎหมาย ผมก็มีความรู้อยู่บ้างว่า มุมมองอะไรยังไง แต่สรุปคือผมไม่เซ็น” นายคารม กล่าว